LEAVE NO ONE BEHIND

THE RECENT COLLABORATIVE PROJECT BETWEEN DESIGNERS AND EXPERTS PRESENTS US A STATEMENT THAT: EDUCATION IS FOR EVERYONE

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: PICHAN SUJARITSATIT EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

การสัมผัส หยิบจับ เป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาร่างกายและการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตา เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กก่อนนำไปสู่การพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่จะเกิดจากการเคลื่อนที่ของร่างกายแล้ว การสัมผัสยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่พวกเขาจะได้เรียนอ่านเขียนอักษรเบรลล์ (Pre-Braille) อันจะนำไปสู่องค์ความรู้อีกมากมายต่อไป

 

เมื่อการสัมผัสเป็นหัวใจหลักในการเรียนรู้ ห้องเรียนเดิมบนพื้นที่ 48 ตารางเมตร ภายในโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ที่มีหนังสือมากมายวางอยู่บนชั้น จึงแทบไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตา เพราะนักเรียนที่นั่งอยู่กับที่นิ่งๆ จะได้เรียนรู้จากสิ่งที่ครูบอกกล่าวหรือผ่านหนังสือที่มีผิวสัมผัสสำหรับเรียนรู้เท่านั้น บริษัท Golden Land เล็งเห็นความจริงข้อนี้ และต้องการพัฒนาการเรียนการสอนของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พวกเขาจึงริเริ่มโครงการ Classroom Makeover for the Blind ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกจาก Creative Crews และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ซึ่งรวมถึง มณิสรา ปาลวัฒน์ นักวิชาการจากกระทรวงศึกษาธิการและผู้เชี่ยวชาญหลักสูตรสาหรับคนตาบอด

ในส่วนของงานออกแบบห้องเรียนที่เป็นความรับผิดชอบของ Creative Crews นั้น พวกเขาทำการปรับเปลี่ยนพื้นและผนังห้องเรียนทุกด้านให้กลายเป็นเสมือน “กระดานดำ” ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ รวมทั้งอยู่ในสภาพที่ชักจูงให้เด็กๆ เคลื่อนตัวและสนุกกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ พื้นห้องมีผิวสัมผัสให้จับต้องและขยับดูได้รอบห้อง “เราพบว่าในห้องเรียนปกติ นักเรียนตาบอดหลายคนมักเข้ามาแล้วนั่งนิ่ง ก้มหน้าแนบพื้น หรือไม่ก็เกาะผนังไว้ตลอดเวลา ไม่ยอมหยิบจับอะไร เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการถูกช่วยเหลือ หรือว่ากลัวจะได้รับอันตรายจากการเคลื่อนตัวหรือบางครั้ง นักเรียนตาบอดอาจถูกแยกไว้ในห้องบุนวมด้วยซ้ำถึงจะกล้าขยับตัว ซึ่งแม้จะปลอดภัย แต่มันเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เขาจะต้องออกไปเจอในโลกภายนอก” ทีมสถาปนิกจาก Creative Crews บอกกับ art4d พวกเขาออกแบบส่วนผนังรอบด้านภายในห้อง รวมถึงผนังบริเวณระเบียงหน้าห้องให้เป็นผนังอะลูมิเนียมเจาะรู และติดตั้ง “หมุดฝึกสัมผัส” ผลงานของ วริฏฐา ผลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก จากบริษัท PlanToys ที่มีทั้งรูปทรงเรขาคณิต หมุดที่มีขนาดเล็ก-ใหญ่ หนัก-เบา มีเสียง-ไม่มีเสียง และผิวสัมผัสหยาบ-นุ่ม ต่างกัน ไปจนถึงรูปสัตว์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเขาเองและเกิดการสนทนาถกเถียงกันในกลุ่ม ซึ่งการออกแบบให้ผนังที่ติดตั้ง “หมุดฝึกสัมผัส” เริ่มขึ้นตั้งแต่ระเบียงหน้าห้องก็เป็นนัยถึงการเรียนรู้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องเรียน

อีกโจทย์หนึ่งที่ Creative Crews ได้จาก MANA Agency ที่เข้ามาดูแลโครงการครั้งนี้ คือ ห้องเรียนดังกล่าวควรมีสภาพยืดหยุ่น สามารถอัพเดตเนื้อหาการเรียนการสอนได้เรื่อยๆ ทีมสถาปนิกจึงออกแบบให้ “หมุดฝึกสัมผัส” เหล่านั้นสามารถถอดเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อที่เด็กๆ จะได้เรียนวิชาใหม่ๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยนห้องเรียน นอกจากนั้น ผนังห้องสองฝั่งก็สามารถเก็บอุปกรณ์ได้ตลอดแนว เช่น อุปกรณ์ประกอบวิชาคลื่นเสียง วิชาลมหายใจ และวิชาลำแสง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็เป็นการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตาเช่นกัน

สุดท้าย ประเด็นที่ลืมไปไม่ได้สำหรับการออกแบบห้องเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตาแห่งนี้ คือเรื่องความเรียบง่ายของการก่อสร้างและต้นทุน เมื่อทาง Golden Land ต้องการให้ Classroom Makeover for the Blind เป็นห้องเรียนต้นแบบที่กระจายแนวคิดนี้ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น Creative Crews จึงเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีราคาย่อมเยาและหาได้ทั่วไป ซึ่งในผลลัพธ์อีกอย่างก็ยังทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเองอีกด้วย ส่วนอุปกรณ์การเรียนการสอนนั้น ทางทีมงานเลือกใช้ข้าวของที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น แปรง ผ้าเก่า พรม และตุ๊กตุ่นตุ๊กตาพลาสติก อันเป็นสิ่งที่เด็กๆ คุ้นเคยและหาเปลี่ยนใหม่ได้ง่าย

ด้วยต้นทุนที่ต่ำและการก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อน การเรียนการสอนพื้นฐานสำหรับผู้พิการทางสายตาจึงไม่สงวนไว้สำหรับผู้มีอันจะกินเท่านั้น แต่คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้เท่ากันตามที่ควรจะเป็น ทำให้พอจะมีความหวังขึ้นมาว่าจากตัวเลขเพียง 15% ของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยที่มีโอกาสได้รับการศึกษา จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

creative-crews.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *