THE THIRD EDITION OF ‘THINKK TOGETHER’, AN EXHIBITION AND DESIGN LABORATORY, THAT CREATED THROUGH THE COLLABORATION BETWEEN THINKK STUDIO AND OTHER DESIGNERS, PRESENTING 21 CHAIRS AND THE ANSWER TO THE QUESTION OF “WHILE THERE ARE A LOT OF GOOD CHAIRS, WHY DO WE STILL CONTINUE TO DESIGN MORE OF THEM THROUGHOUT TIME?”
TEXT: SUMANATSYA VOHARN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
THINKK Studio เริ่มปักธงสร้างห้องทดลองความคิดทางการออกแบบชื่อ THINKK Together มาติดต่อกันได้ 3 ปีแล้ว นิทรรศการแห่ง “การร่วมมือกัน” รายการนี้ วิวัฒนาการตัวเองตลอดมา และขยายขอบเขตทางความคิดของคนทั่วไปที่มีต่อการออกแบบให้ชัดเจนขึ้นว่างานออกแบบไม่เพียงส่งผลในเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่แฝงการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการศึกษาและสร้างแรงบันดาลใจร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันสังคมที่ดีด้วย
WHY DO WE NEED ANOTHER CHAIR ภาคที่ 3 ของ THINKK Together มาพร้อมกับนักสร้างสรรค์หลายสาขา และเก้าอี้ทั้งหมด 21 ผลงาน ที่สื่อถึงความคิดต่าง กึ่งๆ จะเป็นคำถามเชิงวิพากษ์ และข้อถกเถียงที่มีมาหลายทศวรรษในวงการออกแบบทั่วโลกว่า “เก้าอี้ดีๆ มีเยอะแล้วทำไมยังต้องออกแบบใหม่กันอยู่?” ตลอดจนชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจาก ผู้ผลิต ผู้ออกแบบ และผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทหลักในงานออกแบบทั่วไป อีกตัวละครที่ช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจการออกแบบได้ดี และกว้างขึ้นก็คือ นักวิจารณ์ และภัณฑารักษ์นิทรรศการออกแบบ
Design as an Attitude (2018) หนังสือที่เขียนขึ้นโดย Alice Rawsthorn น่าจะช่วยอธิบายฐานคิดของนิทรรศการนี้ได้ดี หนังสือเล่มนี้ได้แรงบันดาลใจจากศาสตราจารย์ László Moholy-Nagy แห่ง Bauhaus ซึ่งว่าด้วยแนวคิดด้านการออกแบบและกรณีศึกษาแนวทางการทำงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่ขยับจากความเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปเป็น “การสร้างทัศนคติที่ดีต่อสังคม” ในทัศนะของ Rawsthorn ความสมบูรณ์ของงานออกแบบจากความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ได้เกิดจากบุคคลเพียงคนเดียวแต่เป็นการจัดการองค์ความรู้ร่วมกับความต้องการของแต่ละบุคคล ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง โลกและเทคโนโลยี อย่างชาญฉลาด ซึ่งนั่นคือการออกแบบเพื่อชีวิตที่จะส่งผลกับเราในวันนี้และอนาคต
WHY DO WE NEED ANOTHER CHAIR มีเก้าอี้เป็นตัวแทนภาพกว้างของกระบวนการออกแบบ นักออกแบบและสถาปนิกทราบดีว่าการออกแบบเก้าอี้สักตัวไม่ใช่เรื่องง่าย และการออกแบบนิทรรศการที่ผนวกสหศาสตร์แห่งวิชาชีพที่หลากหลายก็ถือเป็นพื้นที่แห่งความท้าทายในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาจปะทะกำแพงแห่งความคาดหวังของผู้ชม และเกณฑ์เดิมๆ ว่าเก้าอี้ที่ดีนั้นต้องประกอบไปด้วยปัจจัยใดบ้าง ประเด็นหลักของ WHY DO WE NEED ANOTHER CHAIR ไม่ใช่การประเมินค่างานออกแบบเก้าอี้ตามหลักการออกแบบทั่วไป
ผลงานทั้ง 21 ชิ้น มีเนื้อหาและหน้าตาแตกต่างกันไปตามโจทย์ที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็น การใช้เทคโนโลยีทางการออกแบบ การออกแบบอุตสาหกรรม ออกแบบหัตถอุตสาหกรรม การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ การออกแบบด้วยความเคารพธรรมชาติ การทำงานร่วมกับชุมชน ศิลปะและสุนทรียะแห่งการใช้ชีวิต รวมทั้งการก้าวข้ามเส้นแบ่งของเทคนิคในการผลิต ซึ่ง Respect the nature โดย o-d-a (object design alliance) สตูดิโอออกแบบที่นำโดย ปิติ อัมระรงค์ และ จุฑามาส บูรณะเจตน์ น่าจะเป็นตัวอย่างของการตั้งต้น กระบวนการออกแบบด้วยโจทย์ข้างต้นได้เป็นอย่างดี
Respect the Nature by o-d-a. Photo courtesy of THINKK Studio
o-d-a เปรียบให้เก้าอี้เป็นเสมือน “ชีวิตที่สอง” ของต้นชมพูพันทิพย์ที่ยืนต้นตาย การเกิดใหม่ของวัสดุเดิมในหน้าที่ที่เปลี่ยนไป (กลายเป็นเก้าอี้) ความเข้าใจธรรมชาติ ชีวิต และการจัดการวัสดุ สัจจะความคิดที่เป็นสากลนี้จาก o-d-a มีความเชื่อมโยงกับผลงาน My Grandfathers Tree ของ Maxlamb ที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อีกด้านของต้นไม้ที่กำลังจะยืนต้นตายในรูปแบบที่ต่างออกไป และเป็น statement บางอย่างว่า ข้อถกเถียงเรื่อง original design ดูจะล้าสมัยไปแล้วตอนนี้ เพราะสิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ longevity of design หรือความยั่งยืนทางความคิดของงานออกแบบที่เป็นมากกว่ารูปแบบ
อีกผลงานที่น่าสนใจคือ Stamping ที่มีความชัดเจนในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการผลิตด้วยวิธีคิดทางการออกแบบโดย Silver Skin x THINKK Studio งานนี้กล่าวถึงการปรับตัวและการอยู่รอดของธุรกิจ ในการสร้างทางเลือกใหม่จากผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญในการปั๊มโลหะ ภายใต้ข้อจำกัดทางเทคนิคเดิมสู่การออกแบบเก้าอี้ในงานออกแบบอุตสาหกรรมที่ท้าทายศักยภาพในการผลิตชิ้นงานด้วยสเกลที่ใหญ่ขึ้น
มีอีก 19 ผลงาน เราคงเล่าให้ฟังไม่จบในบทความนี้ แต่สิ่งที่สมควรจะถูกบันทึกไว้ตรงนี้ก็คือ ต้นแบบทั้งหมดในนิทรรศการนั้นไม่ได้นำเสนอเพียงผลงานสำเร็จ แต่ได้รวบรวมอิทธิพลทางความคิดที่แวดล้อมอันประกอบเป็นผลงานผ่านการดิสเพลย์ที่ผู้ร่วมแสดงได้สื่อสารผ่านวัตถุจัดแสดงด้วย WHY DO WE NEED ANOTHER CHAIR ไม่ได้เป็นโปรเจ็คต์ออกแบบเก้าอีก 21 ตัวมาสู่ตลาด แต่พาเราสู่หัวใจและแก่นความคิดของงานออกแบบ ที่หากเราเข้าใจบริบทและสถานการณ์ที่ต่างไปแล้วเราจะมีความพร้อมเสมอในการปรับใช้ความคิดในการออกแบบอะไรก็ได้เมื่อรับโจทย์ที่ต่างไป ส่วนถ้าใครถามหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า เก้าอี้ดีๆ มีเยอะแล้วทำไมยังต้องออกแบบใหม่กันอยู่? เราคิดว่า เก้าอี้ 21 ตัวในนิทรรศการ คือคำตอบที่ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว “ก็เพราะมันยังมีวิธีคิด มุมมอง ประเด็น ที่เอามาต่อยอดทำงานออกแบบได้อีกมากมาย และที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า โลกเรานั้นเปลี่ยนไปทุกวันยังไงล่ะ”