THE LATEST RESIDENTIAL PROJECT BY NENDO, STAIRWAY HOUSE CONFIRMED THAT THE WHOLE FAMILY CAN LIVE ON THE STAIRS
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO COURTESY OF NENDO AND THE PHOTOGRAPHERS
(For English, press here)
ในบริบทเมืองที่แออัดของกรุงโตเกียว สถาปัตยกรรมจากประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรให้คุ้มค่าที่สุด กฎหมายญี่ปุ่นระบุไว้ว่าพื้นที่อยู่อาศัยยูนิตเล็กที่สุดต้องมีความกว้าง 25 ตารางเมตร และหากอยู่กัน 2 คนขึ้นไปจะต้องมีพื้นที่ต่อคน 10 ตารางเมตร (หรือประมาณ 6 เสื่อทาทามิ) อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า Stairway House โปรเจ็คต์บ้านล่าสุดของ nendo นั้นจะมีขนาดของบันไดที่ใหญ่จนทะลุออกมานอกตัวบ้าน จนชวนให้สงสัยว่า “มันจะไปเหลือที่ให้คนอยู่ได้อย่างไร”
Photo: Daici Anoแน่นอนว่าครอบครัวนี้มีเงิน (เพราะเจ้าของบ้านหลังนี้คือ Akihiro Ito ซึ่งเป็น Chief Operating Officer ของ nendo) ที่ดินผืนนี้กว้างกว่า 236 ตารางเมตร และบ้านสามชั้นหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 281.46 ตารางเมตร แบ่งเป็นชั้นล่าง ห้องพักสำหรับพ่อแม่สูงวัย และชั้น 2-3 เป็นพื้นที่ของคู่สามีภรรยาและลูกเล็ก Oki Sato สถาปนิกประจำสตูดิโอตัดสินใจผลักตัวบ้านทรงลูกบาศก์ให้ติดกับขอบที่ดินทางทิศเหนือ และเปิดมุมมองไปยังทิศตะวันตก ด้วยการเปิดช่องหน้าต่างตลอด 3 ชั้น เพื่อรับแสงธรรมชาติ สร้างการไหลเวียนของลม และสร้างความต่อเนื่องทางสายตาระหว่างพื้นที่ภายในและสวนทางทิศใต้
Photo: Daici Anoบันไดขนาดใหญ่ที่ว่านี้เดินขึ้นไปได้แค่ 2 ชั้นเท่านั้น ทำหน้าที่เป็น shortcut เข้าสู่พื้นที่ชั้นสองโดยไม่ต้องเดินผ่านชั้นล่าง ฟังก์ชั่นจริงๆ ของบันไดนี้คือการสร้างความเชื่อมต่อระหว่างชั้นล่าง-บน พื้นที่ว่างภายในบันได (ปลอม) ถูกใช้เป็น core บันไดจริง ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องเก็บของ สถาปนิกตั้งใจให้บันไดขนาดใหญ่ที่ว่านี้เป็นเหมือน amphitheater อเนกประสงค์ ที่กระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวสองเจเนอเรชั่น เป็นพื้นที่สวนแนวตั้งไว้วางกระถางต้นไม้ และบันไดให้แมวทั้ง 8 ตัวของครอบครัวได้นอนอาบแดด และปีนป่ายเล่นไปทั่วทั้งบ้านทั้งภายนอกและภายใน สร้างความมีชีวิตชีวาแก่ผู้สูงอายุให้อยากออกไปทำกิจกรรมในสวน และใต้ต้นพลับที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพื้นที่
ทางเข้าหลักของบ้านอยู่ใต้บันไดขนาดยักษ์นั่นเอง และยังเป็นที่ตั้งของห้องใต้บันไดที่เป็นห้องนอนแมวทั้ง 8 ตัวอีกด้วย nendo ยังบอกอีกว่าบันไดที่ว่านี้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านหลังใหม่กับชุมชนโดยรอบ ตำแหน่งของบันไดที่วางอยู่ในแกนเดียวกับถนน ทำให้ (เมื่อเปิดประตูบ้าน) เกิดความรู้สึกคล้ายๆ กับว่า บันไดขนาดยักษ์นี้คือส่วนต่อขยายของถนนซอยที่ค่อยๆ ยกระดับและต่อเนื่องไปยังท้องฟ้าเบื้องบน ซึ่งคำอธิบายที่ว่านี้คงช่วยตอบข้อสงสัยเรื่องสเกลของบันไดที่ดูใหญ่กว่าขนาดของบ้านได้กระจ่างไปในตัว
ลองคิดดูเล่นๆ แล้ว ไอเดียของบันไดขนาดยักษ์ที่ว่านี้คงไม่มีวันเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยมีอิทธิพลต่อความคิดของเจ้าของบ้านมากแน่ๆ อีกทั้งในแง่การรักษาความเป็นส่วนตัว การเดินเล่นในสวนคงจะไม่เงียบสงบเท่าไหร่ เมื่อมองไปทางซ้ายแล้วต้องเจอกับระเบียงอพาร์ทเมนต์ข้างๆ อย่างไรก็ดี เราคิดว่า Stairway House เป็นโปรเจ็คต์ที่ช่วยเปิดให้มีการคิดถึงการใช้พื้นที่ในเชิงปริมาตร และการสร้างความสัมพันธ์กับบริบทโดยรอบได้เป็นอย่างดีเลย