INTRODUCE THE COMMUNITY-BASED PROJECT DOOR TO ASIA BANGKOK, THE COLLABORATION BETWEEN STRN CITIZEN LAB, INTERNATIONAL DESIGNERS, AND LOCAL PEOPLE THAT AIMS TO BRING IN NEW SOLUTIONS FOR THE LOCAL COMMUNITY
TEXT & PHOTO: NAPAT CHARITBUTRA EXCEPT AS NOTED
DOOR to ASIA Bangkok เชื่อว่าเป็นชื่อที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักนัก โครงการดีไซเนอร์ในพำนักที่ว่าถูกจัดขึ้นโดยทีม SATARANA (นำโดย เตชิต จิโรภาสโกศล) เป็นครั้งแรกในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยโมเดลของโครงการนี้คือ การนำดีไซเนอร์ต่างชาติเข้ามาในประเทศเพื่อจับคู่ทำงานกับดีไซเนอร์ชาวไทย และคนในพื้นที่
DOOR to ASIA Bangkok จัดขึ้นภายใต้ร่มใหญ่ของงาน Bangkok Design Week 2020 (และได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA) โดยกระบวนการเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีดีไซเนอร์เข้าร่วม ถึง 8 คน คือ Tsu Ann Wong (มาเลเซีย) คาณิณ ซื่อต่อศักดิ์ Takayo Aoki (ญี่ปุ่น) พิชาญ สุจริตสาธิต Ken Okamoto (ญี่ปุ่น) ปวิมล สามเสน ณัฐจรัส เองมหัสสกุล จาก Studio Dialogue และ Tomoko Negishi (ญี่ปุ่น) ที่ลงทำงานกับ 4 พื้นที่ในกรุงเทพฯ นั่นคือ ย่านประตูผี สำเพ็ง คลองถม และมัสยิตฮารูน ซึ่งผลลัพธ์ “ระบบการสื่อสาร” ก็เสร็จออกมาค่อนข้างหลากหลายทีเดียว เป็นโปรโตไทป์ของงานบรรจุภัณฑ์ นิทรรศการ แบรนดิ้ง ไปจนถึงกิจกรรมการมีส่วนร่วมหลายๆ กิจกรรม
อาจจะเป็นเพราะงบประมาณที่จำกัด (?) และความยากในการทำงานกับผู้คนหลายๆ ฝ่าย ผลลัพธ์ของระบบการสื่อสารที่ว่ามานี้จึงไม่ค่อยตรงกับภาพที่เราจินตนาการไว้เท่าไหร่ พูดอีกแบบก็คือ “ยังไม่ค่อยเห็นภาพ” ตัวชิ้นงานและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึึ้นกับชุมชน แต่ในมุมมองว่า DOOR to Asia คือจุดเริ่มต้น เรายังคิดว่ามันเป็นจุดสตาร์ทที่ดี โดยเฉพาะกับ energy ที่ทีมงานทุกคนแสดงออกมาให้เห็นในวันพรีเซนต์เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
โมเดลของโครงการนี้คือ การนำดีไซเนอร์ต่างชาติเข้ามาในประเทศเพื่อจับคู่ทำงานกับดีไซเนอร์ชาวไทย และคนในพื้นที่
การพรีเซนต์ครั้งที่ว่าจัดขึ้นบนดาดฟ้าของ Luk Hostel ในสองภาษา (มีล่ามเตรียมไว้พร้อม) พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งดีไซเนอร์ อาสาสมัคร รวมไปถึงคนในชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มานั่งฟังผลงานที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นในละแวกที่อยู่อาศัยของตัวเอง ทีมแรกที่ขึ้นมาพรีเซนต์คือ ทีมชุมชนมัสยิดฮารูน ที่ Takayo Aoki จับมือกับช่างภาพอย่าง พิชาญ สุจริตสาธิต
ทั้งคู่บอกว่า DOOR to ASIA ครั้งนี้ สำหรับพวกเขาคือ Door to Haroon เลยทีเดียว และการลงพื้นที่ก็ลบภาพน่ากลัวๆ ที่พวกเขาเคยมีต่อชุมชนคนมุสลิมไปจนหมด การทำงานเริ่มต้นด้วยการเดิน พูดคุย สังเกต ติดตามผู้คน และกินอาหารขึ้นชื่อซึ่งนำไปสู่การมองเห็นว่า สิ่งที่ถักทอทุกคนในชุมชนแห่งนี้เข้าด้วยกันคือ พิธีกรรมศาสนา ที่นำไปสู่กิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆ “หนึ่งในนั้นคือ “สูตรอาหาร” ที่มีความเป็นประวัติศาสตร์ในตัวเอง คือเราสามารถสืบย้อนกลับไปได้เป็น 100 ปี เพราะบ้านนี้เป็นบ้านเดียวที่ยังทำอยู่” พิชาญ กล่าวในระหว่างการพรีเซนต์ และนี่คือโจทย์การทำงานออกแบบครั้งนี้ว่าทำอย่างไร คนภายนอกและคนภายในจะสามารถเชื่อมโยงถึงกันและกันได้
Haroon Brand คือสิ่งที่ Aoki นำเสนอ เป็นเครื่องมือการสื่อสารของชุมชนในรูปแบบกระดาษห่อแพทเทิร์น ธนู (ในชุมชนมีชมรมยิงธนู) ขนมใบเตย และโรตี ซึ่งจะช่วยเป็นกระบอกเสียงบอกเล่าราวของชุมชนให้คนภายนอกได้รับรู้ และกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาระหว่างคนในและนอกพื้นที่ กระดาษห่อที่ว่าได้ถูกใช้จริงในช่วง Bangkok Design Week 2020 ครั้งที่ผ่านมา phase 2 ของโครงการนี้ที่ทั้งคู่ตั้งใจจะทำต่อไปคือ Haroon Book หนังสือบันทึกเรื่องราวของชุมชน ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับผู้คน อาหาร และวิถีชีวิต ในแบบร่วมสมัย
ทีมต่อมาคือ ปวิมล สามเสน กับ Ken Okamoto ลงทำงานกับพื้นที่คลองถม มาตรการจัดระเบียบของกรุงเทพมหานคร ที่บังคับใช้ไม่นานมานี้กำลังฆ่าวัฒนธรรมเดิมของคลองถม โดยเฉพาะตลาดไฟฉาย ภาพคนถือไฟฉายมาส่องของที่แบขายบนพื้นถนนตอนกลางคืนกำลังหายไป เช่นเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มรู้จักและเคยมาเดินตลาดคลองถมน้อยลงไปทุกวันๆ
ที่กล่าวมานี้คือปัญหาที่พวกเขาเห็น และนำมาสู่การวางแผน 3 ระดับ – แผนระยะสั้น ทำอย่างไรให้คลองถมมีลูกค้าใหม่มาจุนเจือผู้ค้า แผนระยะกลาง – การกระตุ้น e-commerce ในพื้นที่ (ซึ่งเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว) แผนระยะยาว – การทำให้คลองถมแข็งแรง และการทำให้ตลาดกลางคืนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
“เราเดินสำรวจพูดคุยกับเจ้าของร้านในคลองถมเซ็นเตอร์ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนทั่วไปชอบคิดว่าคลองถมไม่อยู่แล้ว” key massage ที่ทีมคลองถมหยิบมาใช้เป็นจุดตั้งต้นของงานออกแบบคือคำว่า “คลองถมยังอยู่ที่นี่” ซึ่งนำไปสู่การออกแบบ key visual ที่มีการนำรูปทรงของไฟฉายมาใช้ (อ้างอิงไปถึงพฤติกรรมการนำไฟฉายมาส่องของ) และแลนด์มาร์ค งาน installation ที่ประกอบจากวัสดุที่มีขายในคลองถมเซ็นเตอร์ ทั้งหลอดไฟ / วงจรไฟฟ้า / สติ้กเกอร์ / ท่อเหล็ก ฯลฯ สื่อสารให้คนทั่วไปเห็นว่าที่นี่ยังคงมีกิจกรรม ไปจนถึงเวิร์คช็อปทำไฟฉายกระดาษ ที่เปิดเป็นกิจกรรมให้เด็กๆ ได้มาร่วมประดิษฐ์ไฟฉายกันในวันหยุด
ไอเดียสำคัญของทีมนี้คือการมองว่า product ในคลองถมนั้นเป็นแบรนด์ดิ้งที่ดีในตัวมันเองอยู่แล้ว
ติดตามอ่านบทความ THE DOOR IS OPEN ตอนที่ 2 ได้ ที่นี่