AFTER TALKING WITH THIS YOUNG BLOOD ARCHITECT, TIDTANG STUDIO, WE FOUND OUT THAT EVERY HERITAGE BUILDING IN THIS CAPITAL CITY CAN BE TRANSFORMED INTO A HOSTEL
TEXT: WICHIT HORYINGSAWAD
PORTRAIT: KETSIREE WONGWAN
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
หลังจาก Once Again Hostel (2014) ประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจเป็นอย่างมากจนเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ช่วงปลายปีที่แล้วกลุ่มหุ้นส่วนทางธุรกิจกลุ่มเดิมได้เปิดให้บริการ Luk Hostel (2019) ที่ตั้งอยู่ใจกลางของย่านชุมชนชาวจีนเก่าอย่างสำเพ็งเพิ่มขึ้นอีกแห่ง และต้องการนำเสนอตัวเองในฐานะสถานที่จัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมอันหลากหลาย (เช่นการจัดแสดงดนตรีที่ชั้นดาดฟ้าของโฮสเทล) ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของโฮสเทลทั้งสองแห่งนี้ก็คือเป็นโครงการรีโนเวทอาคารเก่าโดยทีมสถาปนิกทิศทางสตูดิโอ art4d จึงชวนสถาปนิกผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนทั้งสองคนคือ ภัททกร ธนสารอักษร และ สุพพัต พรพัฒน์กุล มาพูดคุยกับเราในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานรีโนเวทงานสถาปัตยกรรม รวมถึงวิธีการทำงานและมุมมองของทิศทางสตูดิโอที่มีต่อการทำงานออกแบบประเภทนี้
“ตรงนี้เคยเป็นโรงพิมพ์ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวมาก่อน” ภัททกรเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานออกแบบ Once Again Hostel ที่เกิดจากคำถามว่า ธุรกิจอะไรที่จะสามารถชุบชีวิตอาคารอายุประมาณ 30 ปีหลังนี้ และตอนนั้นเองที่ไอเดียที่จะทำโฮสเทลก็เกิดขึ้นมา
“ที่บ้านไม่มีใครจบการโรงแรมเลย แต่ผมอยากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับที่พักอาศัย ผมมองว่าตัวอาคารหลังนี้มีสเปซที่ค่อนข้างจะพิเศษกว่าที่อื่น ความที่เคยเป็นโรงพิมพ์มาก่อนทำ ให้สเปซของแต่ละชั้นมีความสูงมาก และชั้นที่ 1 จะสูงเป็นพิเศษประมาณ 4 เมตร ซึ่งถ้าเราเอามาทำเป็นโฮสเทลก็จะทำให้เป็นโฮสเทลที่สเปซนั้นมีความโปร่งโล่งกว่าโฮสเทลอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถวเตี้ยๆ หรือบ้านเก่า”
เนื่องจาก Once Again Hostel ตั้งอยู่ที่ถนนมหาไชย บริเวณเมืองเก่าบนเกาะรัตนโกสินทร์ ไอเดียเรื่องกลิ่นอายของความเป็นไทยโบราณจึงเป็นโจทย์ที่ภัททกรนำมาใช้ในโครงการรีโนเวทครั้งนี้ “เวลาคิดถึงความเป็นไทยโบราณ เราคิดถึงวัสดุที่เป็นสีไม้สีเข้มๆ เช่น ไม้แดง หรือไม้ที่ดูเก่าๆ หรือผนังที่เป็นปูนเปลือย เราไม่ได้ใช้ปูนเปลือยเพราะความเท่ แต่มองว่ามันมีกลิ่นอายของวัสดุเก่าๆ เหมือนปูนที่ฉาบแล้วถูกทิ้งไว้จนเก่า” ภัททกรกล่าวก่อนจะเสริมว่า องค์ประกอบอื่นๆ ที่นำมาใช้ตกแต่งอาคารคือสิ่งของในชีวิตประจำวันที่เห็นได้ในพื้นที่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการนำฝาบาตรพระมาตกแต่งผนังล็อบบี้เพื่อเชื่อมโยงไปถึงชุมชนบ้านบาตร พฤติกรรมแบบไทยๆ อย่าง การออกแบบ living room ให้แขกได้มานั่งพักบนพื้น เกิดเป็น community space เล็กๆ ลักษณะคล้ายชานบ้านและมีช่องกระจกเปิดให้แสงส่องเข้ามา เช่นเดียวกันกับรายละเอียดในห้องพักแต่ละเตียง ที่พวกเขานำเอาประตูเหล็กยืดที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมาใช้เป็นบานเปิด-ปิดเตียงนอน ซึ่งค่อนข้างมีประโยชน์ทีเดียวในด้านการรักษาความปลอดภัย
“ก่อนรีโนเวท โถงด้านหน้าจะเป็นห้องทึบเลย เราจึงปรับเปลี่ยนการใช้งานใหม่ด้วยการเปิดพื้นที่ฝั่งซ้ายทั้งหมดให้เป็นล็อบบี้และเอารั้วของโรงพิมพ์เดิมออกทั้งหมด เพราะต้องการทำให้โฮสเทลดู public และเป็นมิตรกับผู้คนที่เดินผ่านไปมาในย่านนั้นมากขึ้น”
Photo: Chaovarith Poonpholในประเด็นการรีโนเวท façade สุพพัตบอกกับ art4d ว่า การเปลี่ยนโรงพิมพ์มาเป็นโฮสเทล ทำให้พวกเขาต้องปรับเปลี่ยน และควบคุมช่องเปิดให้สอดคล้องกับการใช้งานใหม่ “เราทำช่องเปิดใหญ่ๆ ไม่ได้ เพราะข้อจำกัดในการวางผังของเตียงนอนภายในห้องพัก ช่องเปิดบางช่องเลยต้องถูกทำให้เล็กลงเพื่อความเป็นส่วนตัวของแขก ส่วนกับ façade เราแก้ไขปัญหาด้วยการออกแบบให้มีลักษณะการย่อมุมลึกเข้าไปโดยดึงเอาองค์ประกอบนี้มาจากวัดเทพธิดารามที่อยู่ตรงข้ามกับโครงการ และยังมี façade อีกชั้น ที่เป็นตะแกรงเหล็กออกแบบให้คล้ายแผ่นพับที่ค่อยๆ คลี่ออกเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดูเคลื่อนไหว และทำหน้าที่เป็นม่านบังตาคอยกั้นมุมมองจากภายในห้องพักไปที่วัดเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนพระภิกษุในวัดฝั่งตรงข้ามด้วย”
ในขณะที่ Luk Hostel นั้นเป็นตึกแถวสองห้อง ที่ลึกประมาณ 30 เมตร แถมยังเคยเป็นห้างสรรพสินค้าสำเพ็งพลาซ่า ซึ่งทำให้อาคารมีช่องเปิดขนาดใหญ่ (แต่เดิมเป็นพื้นที่ของโถงบันไดเลื่อน) ความยากในการรีโนเวทอาคารหลังนี้ให้เป็นโฮสเทลคือ ตึกแถวทั้งสองห้องนี้มีจำนวนชั้นที่ไม่เท่ากัน แต่อาคารทั้งสองหลังมีชั้นดาดฟ้าอยู่ในระดับความสูงเดียวกัน การใช้บันไดเหล็กในการเชื่อมต่อพื้นที่ส่วนต่างๆ ที่มีระดับไม่เท่ากันจึงเป็นทางเลือกที่ทิศทางสตูดิโอใช้ในการแก้ปัญหานี้ “เรากำหนดให้พื้นที่ด้านล่างเป็นพื้นที่ร้านค้าให้เช่า วิธีคิดของเราคือ ออกแบบให้ส่วนต้อนรับของโฮสเทลอยู่ที่ชั้น 5 เพราะอย่างไรแขกที่มาพักก็ต้องขึ้นลิฟท์ขึ้นไปอยู่แล้ว แล้วค่อยให้เดินลงไปที่ห้องพักที่อยู่ตามชั้นต่างๆ ด้านล่าง” ซึ่งบริเวณชั้น 5 ยัง ถูกออกแบบให้เป็น double space เพื่อลดความแออัด และสร้างความเชื่อมต่อให้ได้ยินเสียงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ชั้น 6 (ดาดฟ้า) ซึ่งช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
Photo: Ketsiree Wongwanภัททกรกล่าวต่อถึงมุมมองการประกอบธุรกิจโฮสเทลว่า “เราพยายามวิเคราะห์ว่าทำไม Once Again Hostel ถึงได้รับเสียงตอบรับที่ดี และพบว่าโฮสเทลในต่างประเทศที่มีรีวิวดีๆ มักจะมีพื้นที่ส่วนกลางที่พิเศษกว่าที่อื่น” นี่คือเหตุผลที่พวกเขากำหนดพื้นที่ส่วนกลางให้อยู่บนดาดฟ้า นอกจากนั้นอีกบทเรียนที่พวกเขาได้จาก Once Again Hostel ก็คือการกำหนดจำนวนเตียงต่อหนึ่งห้อง “Once Again Hostel ทำให้เรารู้ว่า ห้องที่มีจำนวนเตียงมากเกินไปจะขายได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ค้นพบว่าถ้าโฆษณาในเว็บไซต์ด้วยราคาเริ่มต้นที่สูงเกินไปลูกค้าก็จะไม่คลิกเข้ามาดู กับ Luk Hostel เราจึงทดลองตลาดโดยทำเป็นห้อง 24 เตียงไปเลย ที่มีราคาถูกและมีราคาเริ่มต้นที่ชวนให้คลิกเข้ามาดูในเว็บไซต์ แล้วก็มีห้องอีกชนิด ที่เป็นห้องส่วนตัวราคาแพงไปเลย ซึ่งคิดว่าเป็นลูกค้าคนละกลุ่มแต่ว่าลูกค้าทั้งสองกลุ่มสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ส่วนกลางบริเวณดาดฟ้าได้เหมือนกัน”
สุพพัตสรุปประสบการณ์ทำงานออกแบบอาคารรีโนเวทของทิศทางสตูดิโอไว้ว่า “เราต้องวิเคราะห์ก่อนว่าอะไรที่เป็น “เอกลักษณ์” ของอาคารหลังนั้นๆ หัวใจของการรีโนเวท คือการเลือกว่าจะเก็บอะไรไว้ ไม่ใช่การทุบทุกอย่างทิ้งแล้วยัดความเป็นเราเข้าไป 100% เพราะการรักษาเอกลักษณ์ของตึกเดิมไว้ก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น การถม void เพื่อทำเป็นห้องพักเยอะๆ ก็อาจจะดีในแง่ของการใช้งาน แต่คงไม่คุ้มเสียถ้าทำให้เอกลักษณ์ของอาคารหายไป การทำงานของเราจะพยายามหาฟังก์ชั่นใหม่เพื่อเก็บรักษาองค์ประกอบนั้นๆ ไว้ในอาคาร เพราะสิ่งนี้สัมพันธ์กับการสร้าง impact กับความรู้สึกของผู้มาเยือน รวมถึงในเรื่องการบริหารงบประมาณด้วย” ภัททกรเสริมต่อด้วยว่า “เรามองว่าภาพจำ คือการเห็นแล้วรู้สึกประทับใจ คำว่า “ประทับใจ” นั้นค่อนข้างจะนามธรรมและมีความเป็นปัจเจกมาก แต่ละคนก็คงจะคิดไม่เหมือนกันในเรื่องนี้ แต่สำหรับเราแล้วความประทับใจน่าจะเกิดมาจากสเปซและเส้นสายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการออกแบบ เวลาเราคิดงานทุกงานเราไม่ได้คิดแค่ว่าจะทำแค่ decoration ให้ดูสวยแล้วก็จบ งานสถาปัตยกรรมที่ดีควรมีความเป็นตัวตนที่ชัดเจน”