TO MAKE THE OLD NEW

SEA IS NOT ONLY THE ANSWER FOR TRAVELING TO PHANG NGA PROVINCE WHEN THERE ARE OTHER THINGS WORTH LEANING IN THE OLD TOWN

TEXT: JANJITRA HORWONGSAKUL
PHOTO: WEERAPON SINGNOI

(For English, press here)

นอกจากชายหาดเขาหลักที่สวยงามและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นเครื่องชูโรงให้กับอำเภอตะกั่วป่าแล้ว สิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของจังหวัดพังงาได้ดีไม่แพ้กันนั่นคือย่านเมืองเก่า ที่หลงเหลือกลิ่นอายของการผสมผสานวัฒนธรรมชุมชนหลายเชื้อชาติทั้ง ไทย จีน มลายู รวมถึงวิถีชีวิตชุมชน และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ไว้อย่างน่าหลงใหล Hotel Gahn โรงแรมแห่งใหม่ในตะกั่วป่า เกิดจากการหยิบจับส่วนผสมของกลิ่นอายวัฒนธรรม ‘บาบ๋า-ย่าหยา’ (เปอรานากัน) ของเมืองตะกั่วป่าที่เป็นรกรากครอบครัวเชื้อสายจีนของเจ้าของโรงแรม มาสื่อสารผ่านสถาปัตยกรรมให้แขกที่มาพักได้รับรู้วิถีชีวิตผ่านประสบการณ์ระหว่างการพักผ่อนอย่างไม่ยัดเยียด และรู้จักตะกั่วป่าในมุมมองที่แตกต่างออกไปได้อย่างละเมียดละไม

“บาบ๋า-ย่าหยา (峇峇娘惹) คือชื่อเรียกของลูกหลานชาวจีนเลือดผสมระหว่างชาวจีนอพยพ และชาวเมืองท้องถิ่นในพื้นที่คาบสมุทรมลายู-อินโดนีเซีย” ธนาฒย์ จันทร์อยู่ สถาปนิกจาก Studio Locomotive สตูดิโอออกแบบจากภูเก็ต เริ่มต้นอธิบายความหมายของบาบ๋า-ย่าหยา แนวคิดหลักของการออกแบบว่าจุดเริ่มต้นมาจากการสัมผัสได้ถึงความภูมิใจที่คุณแม่ของเจ้าของโรงแรมในฐานะบาบ๋า-ย่าหยา ที่สื่อออกมาให้ผู้ออกแบบรับรู้ ทั้งการแต่งกาย อาหารต่างๆ และความต้องการถ่ายทอดความภูมิใจในวัฒนธรรมเมืองตะกั่วป่าผ่านการออกแบบที่พัก สถาปนิกตัดสินใจไม่ใช้รูปแบบอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส หรือตึกแถวแบบจีนอย่างที่คุ้นเคยกันมาทำซ้ำ แต่นำกลิ่นอายจากการจัดวางผังพื้นที่ใช้สอย การใช้วัสดุ การรักษาวัสดุ และรายละเอียดงานตกแต่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาการก่อสร้างมาผสมผสานกัน

กลิ่นอายวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ถูกนำมาใช้กับโรงแรมกาลมี 3 อย่างหลักๆ ด้วยกัน อย่างแรกคือ การนำ “หง่อคาขี่” หรือรูปแบบการเชื่อมทางเดินหน้าอาคารพาณิชย์ในเมืองตะกั่วป่า มาดัดแปลงเป็นซุ้มประตูโค้งสูงถึง 6 เมตร ต้อนรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวและผู้คนที่ผ่านไปมา และสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับห้องพักในชั้นสอง และพื้นที่ชั้นล่างไปในตัว อย่างที่สองคือการใช้ “ไม้ตะเคียนรากย้อมสีดำจากน้ำมันเครื่อง” เทคนิคการถนอมเนื้อไม้แบบโบราณที่พบเห็นได้ในพื้นที่ มาใช้กับ façade ของอาคาร (ที่เสร็จออกมาแล้วดูไม่โบราณเลยสักนิด) ไปจนถึง “ฝาไหล” หรือองค์ประกอบผนังสองชั้นของบ้านเรือนไทย การเจาะช่องสลับกันและสามารถเลื่อนเปิดหรือปิดได้ ตามสภาพแวดล้อมภายนอก ณ ขณะนั้น ทั้งแสงแดด สายลม และสายฝน

เมื่อเข้ามาภายในโครงการ เราจะเจอเข้ากับพื้นที่ส่วนกลางชั้นล่างที่ถูกเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกับกับพื้นที่สีเขียวภายนอกอาคาร ตั้งแต่ ส่วนต้อนรับ ร้านอาหาร ไปจนถึงสระว่ายน้ำของโรงแรม มีประตูและหน้าต่างบานเฟี้ยมขนาดกว้าง เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติและลมให้พัดผ่านได้ตลอดเวลา เฟอร์นิเจอร์ไม้คละแบบ ตู้สูงเต็มผนังที่ภายในจัดแสดงสารพัดของสะสมของคุณแม่เจ้าของโครงการ

     

สถาปนิกค่อยๆ สอดแทรกสัมผัสพื้นถิ่นลงไปตามจุดต่างๆ กระจายทั่วพื้นที่โรงแรม สีแดงและสีเขียวถูกนำมาใช้กับผนังบางส่วน เสา และคานไม้ บันไดปูนผสมไม้ที่สามขั้นล่างจะก่อด้วยปูนเพื่อเป็นโครงสร้างยึดเกาะให้กับบันไดไม้ขั้นต่อไป ส่วนหัวเสาตัดเป็นทรงหกเหลี่ยม และราวบันไดถูกลดทอนรูปแบบเพื่อให้มีความเรียบง่าย ทั้งหมดนี้คือสัมผัสอันแตกต่างที่ผู้ที่มาพักจะค่อยๆ สังเกตเห็นแบบฉบับของงานตกแต่งบ้านท้องถิ่นในสไตล์บาบ๋า-ย่าหยา ซึ่งทำให้บรรยากาศภายในโรงแรมแห่งนี้ดูอบอุ่น เป็นกันเอง คล้ายกับการมาใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านครอบครัวขยาย

ห้องพักของโรงแรมมีทั้งหมด 20 ห้อง ซึ่งมีไดเร็คชั่นของการตกแต่งภายในแบบเดียวกัน คือการนำของที่พบเห็นได้ในบ้านท้องถิ่นทั่วไปมาใช้ เช่น พื้นหินขัดตีกรอบด้วยโลหะ ผนังฝั่งหัวเตียงและฝ้าเพดานไม้ไร้คิ้วตกแต่ง มือจับและกลอนประตูที่ใช้การล็อคแบบขัดไม้ เตียงสี่เสา และอ่างล้างหน้าดินเผาวาดลวดลาย แต่ก็ไม่วายใส่อ่างอาบน้ำขนาดยักษ์เข้าไปให้แขกที่มาพักได้ใช้ชีวิตแบบการไปโรงแรมสมัยนิยม

“สำหรับคนภายนอกอาจคิดว่าเป็นกลิ่นอายที่แปลกประหลาด จะจีนก็ไม่จีน จะไทยก็ไม่ไทย เป็นกลิ่นวัฒนธรรมที่เกิดจากการผสมผสาน สุดท้ายเราคาดหวังว่า คนที่มาพักจะเกิดข้อสงสัยว่ากลิ่นอายการออกแบบเหล่านี้มาจากไหน เกิดการพูดคุยกัน และสนใจไปสัมผัสย่านชุมชนตะกั่วป่าด้วยตัวเอง หากเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารออกไปจนกลายเป็นเรื่องเล่าชุมชน สุดท้ายวัฒนธรรมนี้จะไม่ถูกลืม… อย่างน้อยงานนี้ก็เป็นจุดๆ หนึ่งที่ทำให้คนสนใจวัฒนธรรมบาบ๋า-ย่าหยาในตะกั่วป่าอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงทะเล หรือชิโนโปรตุกีส” คำตอบของ ธนาฒย์ เมื่อถามถึงประสบการณ์ที่ผู้ออกแบบอยากให้คนที่มาพักได้สัมผัส เนื่องจากที่ตั้งไม่ได้อยู่ใกล้ทะเลเหมือนกับโรงแรมอื่นๆ ในจังหวัดสักเท่าไรนัก

Hotel Gahn ทำให้เราไม่รู้สึก “ขาด” แม้จะไม่ได้ไปนอนที่โรงแรมติดทะเล ด้วยการร้อยเรียงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แต่ละชิ้นแต่ละส่วนมีรายละเอียดและเรื่องเล่าจากพื้นถิ่นเป็นของตัวเอง แน่นอนว่าอีก 10 ปีข้างหน้า Hotel Gahn จะต้องเก่าลง แต่ประเด็นสำคัญก็คือ การเก่าลงของสิ่งที่เป็นมรดกของพื้นที่อยู่แล้วนั้นจะไม่ทำให้ Hotel Gahn แก่ตัวและห่อเหี่ยวจนหมดเสน่ห์ไปอย่างแน่นอน และเมื่อถึงเวลานั้น โรงแรมที่อัดแน่นไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรม บาบ๋า-ย่าหยา แห่งนี้จะได้รับบทบาทใหม่นั่นคือการเป็นสิ่งสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นต่อไปในอนาคต

studio-locomotive.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *