GALLERIA GWANGGYO

THIS RECENTLY COMPLETED PROJECT OF OMA IN KOREA’S GWANGGYO, A NEW CITY TO THE SOUTH OF SEOUL, ILLUSTRATES HOW THE COLLISION BETWEEN RETAIL SPACES AND CULTURAL ACTIVITIES CAN USHER IN A FRESH WAY OF MAKING DEPARTMENT STORE

TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: HONG SUNG JUN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

แวบแรกที่เห็น เชื่อว่าหลายคนคงจะสงสัยกันแน่ว่างานใหม่ล่าสุดของ OMA ที่เมืองควางกโย ซึ่งอยู่ถัดไปทางตอนใต้ของกรุงโซลประมาณ 25 กิโลเมตร งานนี้คืออะไร? อาคารทรงลูกบาศก์ที่เกือบจะทึบตันหลังนี้ ซึ่งดูภายนอกแล้วไม่ต่างอะไรกับก้อนหินขนาดใหญ่สักเท่าไหร่ ไม่ใช่งานประติมากรรมโดยศิลปินดัง หรือพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ แต่คือสาขาล่าสุด (และเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุด) ของห้าง Galleria ยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกของเกาหลีใต้ที่เพิ่งเปิดทำการไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ควางกโยนั้นเป็นเมืองใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มมีการพัฒนาโครงการต่างๆ ขึ้นเมื่อปี 2005 โดย Gyeonggi Urban Innovation Corporation (GICO) และแล้วเสร็จครอบคลุมพื้นที่ 11 ตารางกิโลเมตร ไปเมื่อประมาณปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งเพราะ “ความใหม่” นี้เอง ที่ทำให้ทีมสถาปนิกจาก OMA ซึ่งนำโดย Chris van Duijn มองว่าผลงานของพวกเขาน่าจะเข้า gap พอดี กับการที่จะมาเป็นแลนด์มาร์คชิ้นหนึ่งของเมือง และด้วยตำแหน่งของห้าง Galleria สาขานี้ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพอดิบพอดี บวกกับรูปทรงภายนอกที่ดูแปลกตา ทำให้มันกลายเป็นจุดศูนย์กลางของแรงดึงดูด (point of gravity) และกิจกรรมต่างๆ ของเมืองไปโดยปริยาย

การเลือกทำให้ฟอร์มของอาคารนี้ดูเหมือนแท่งหินขนาดใหญ่ พร้อมๆ กับการเลือกใช้แผ่นหินโมเสกรูปทรงสามเหลี่ยมที่คละสีเบจ สีน้ำตาล และสีกลุ่มเอิร์ธโทนอื่นๆ กรุลงไปบนผนังภายนอกอาคาร จนดูแล้วคล้ายๆ กับรูปตัดของชั้นดินนั้น ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างความน่าดึงดูด หรือเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่สถาปนิกยังอยากจะให้ห้าง Galleria สาขานี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับ “จุดกำเนิด” ของเมืองไปในตัวด้วย เพื่อให้เมืองที่กำลังก่อร่างสร้างตัวจนเต็มไปด้วยสภาวะ “ชั่วคราว” นั้นได้มีความ “ถาวร” ทางกายภาพเกิดขึ้น

Courtesy of OMA

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ก้อนหินก้อนนี้ดูแข็งกร้าวเกินไปจนผลักให้คนออกห่าง ซึ่งจะไปผิดกับความตั้งใจของทั้งนักออกแบบและนักพัฒนาเข้า OMA จึงเลือกที่จะสร้าง contrast ให้เกิดขึ้นกับงานชิ้นนี้ด้วยการใส่ทางเดินกระจกรูปทรงออแกนิก ที่คว้านเนื้ออาคารตั้งแต่ชั้นล่างสุด แล้วจึงค่อยๆ พันรอบอาคารขึ้นไปเรื่อยๆ จนพาให้คนสามารถเดินจากริมถนนวนขึ้นไปจนถึงสวนที่ชั้นดาดฟ้าได้ ซึ่งนอกจากมันจะทลายความทึบตันของอาคารลงได้บ้างแล้ว เส้นทางเดินที่เกิดขึ้นใหม่นี้ยังช่วยเชื่อมกิจกรรมต่างๆ ภายในห้างให้ไหลต่อเนื่องกันได้อีกด้วย

ความพิเศษอีกอย่างของห้าง Galleria สาขาที่ 6 แห่งนี้คือการกำหนดโปรแกรมการใช้งาน ซึ่งการวางเส้นทางของผู้ใช้งานให้เจอกับโซนจำหน่ายสินค้าต่างๆ ระหว่างชั้นที่ 1–8 โซนบาร์และร้านอาหารที่ชั้น 9 ก่อนที่จะขึ้นไปเจอกับโรงภาพยนตร์ที่ชั้น 10–11 และโซนการเรียนรู้ (ที่สถาปนิกตั้งชื่อว่า Academy) และสวนที่ชั้น 12 นั้น เป็นการพาให้กิจกรรมซื้อขาย (retail activity) มาเจอกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม (cultural activity) ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว แถมการปะทะกันของโปรแกรมในที่นี้ยังช่วยลดความจำเจเวลาที่เราจะเดินช็อปในห้างนานๆ ลงเช่นกัน

แม้ว่าการรวมกันของกิจกรรมในลักษณะที่ว่าจะไม่ใช่ของใหม่อะไร เพราะห้างในบ้านเราก็มีการนำเอาสวนสัตว์ สวนน้ำ หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ใส่เข้าไปในโปรแกรมกันมานานแล้ว แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่าห้าง Galleria สาขานี้กำลังจะกลายเป็นพื้นที่กลางที่เอื้อให้ทั้งคนและกิจกรรมต่างๆ ได้วนเวียนมาเจอกันแล้วล่ะก็ ความครบและหลากหลายของโปรแกรมที่ OMA ได้ออกแบบมานั้น ค่อนข้างที่จะตอบการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของเมืองเกิดใหม่ที่ชื่อควางกโยแห่งนี้ได้อย่างเหมาะเจาะเลย

dept.galleria.co.kr/gwang-gyo
oma.eu

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *