BAAN CHUMPHAE

BY USING THE “WOODEN BOX” (CENTRAL CORE) TO CREATE PRIVACY AND CONNECT SEAMLESSLY THE RELATIONSHIP BETWEEN FAMILY MEMBERS, THIS LATEST PROJECT BY PHYSICALIST IS PROBABLY ANOTHER EXAMPLE OF HOW TO DESIGN A HOUSE THAT MEETS THE NEEDS OF VARIOUS GENERATIONS IN A LARGE FAMILY

TEXT: SUTEE NAKARAKORNKUL
PHOTO: SOOPAKORN SRISAKUL

(For English, press here)

การออกแบบ Baan Chumphae มาพร้อมกับโจทย์อันเรียบง่าย นั่นคือบ้านพักอาศัยสำหรับครอบครัวใหญ่ ที่โดยปกติแล้วพ่อแม่สูงวัยจะเป็นผู้อยู่อาศัยหลัก และเมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์มาถึง ลูกๆ ทั้ง 5 คน ก็จะเดินทางกลับจากการช่วยดูแลกิจการของครอบครัว ที่มีสาขาตั้งอยู่ตามหัวเมืองใกล้ๆ กับอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เพื่อมาใช้เวลาร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาที่บ้านหลังนี้

แต่เมื่อพิจารณาถึงเรื่องของการใช้งานเพียงอย่างเดียว ก็จะพบว่าไม่ได้มีความแตกต่างกับบ้านพักอาศัยสำหรับครอบครัวเดี่ยวอย่างที่เราเคยเห็นมาก่อนสักเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เข้ามามีส่วนกำหนดหน้าตาและวิธีจัดวางอาคาร ซึ่งทำให้ Baan Chumphae มีมิติที่น่าสนใจมากขึ้นก็คือลักษณะของที่ดิน

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในไซต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ติดกับถนนหลัก โดยพื้นที่ของตัวบ้านมีขอบเขตเพียงแค่ครึ่งเดียวจากที่ดินทั้งหมดเท่านั้น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเจ้าของบ้านได้เก็บไว้สำหรับโครงการอื่นๆ ในอนาคต “เมื่อคำนวณพื้นที่ตามโปรแกรมแล้ว เราก็พบว่าต้องทำบ้าน 3 ชั้น ถึงจะครอบคลุมโปรแกรมการออกแบบทั้งหมดได้” กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Physicalist เล่าให้ฟังถึงกระบวนการออกแบบ ซึ่งแทนที่จะทำบ้านเป็นอาคารสูง สถาปนิกได้เลือกที่จะออกแบบให้เหมือนกับว่ามีบ้าน 3 หลังซ้อนกัน

แต่ละชั้นของบ้านไม่ได้ตั้งซ้อนกันแบบตรงๆ เหมือนกับอาคารทั่วไป แต่ถูกจัดวางให้เมื่อมองจากภายนอกแล้วจะรู้สึกว่ามันเหลื่อมซ้อนกันอยู่มากๆ เช่น ก้อนชั้น 2 ที่ถูกวางให้ยื่นออกมาจากชั้นล่างของตัวบ้านพอสมควรในทิศตะวันตก ซึ่งทำหน้าที่บังแดดบริเวณสระว่ายน้ำและช่วยไม่ให้พื้นที่ชั้นล่างนั้นร้อนจนเกินไป และในขณะเดียวกันก็ใช้สำหรับติดตั้งแผง façade อะลูมิเนียม เพื่อทำหน้าที่หน้าที่กรองแดดให้กับห้องฝั่งนี้

บริเวณชั้นล่างของบ้านถูกออกแบบให้เป็นโซนที่รองรับการอยู่อาศัยของพ่อแม่ทั้งหมด เพื่อสร้างความรู้สึกให้เหมือนกับการอยู่บ้านชั้นเดียว (และเพื่อให้ไม่รู้สึกถึงความอ้างว้างมากจนเกินไป) นอกจากนั้นที่บริเวณชั้นล่างนี้ก็ยังประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นส่วน public อย่างส่วนรับแขก พื้นที่นั่งเล่น และโต๊ะรับประทานอาหาร ที่ถูกออกแบบให้สเปซไหลเชื่อมไปยังสระว่ายน้ำที่ตั้งอยู่ภายนอกบ้าน เอื้อให้เกิดการระบายอากาศไหลเวียนได้ทั่วทั้งหลัง

ถัดขึ้นไปที่ชั้น 2 จะประกอบไปด้วยห้องนอนของลูกๆ รวมทั้งหมด 6 ห้อง และห้องโฮมเธียเตอร์ ส่วนบนชั้น 3 เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ทุกคนในบ้านสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกัน และระเบียงภายนอกที่สามารถใช้จัดงานปาร์ตี้ได้ “การออกแบบหลักๆ ก็ตอบสนองโปรแกรมแบบนี้ คือในวันธรรมดา ทำยังไงไม่ให้พ่อแม่อยู่อาศัยในบ้านใหญ่โต แล้วรู้สึกว่ามีห้องนอนที่ไม่ได้ใช้เต็มไปหมด แต่ในเวลาที่ทุกคนมาอยู่ร่วมกัน ก็สามารถใช้เวลาได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกแยกขาดจากกันออกไป พูดง่ายๆ คือเป็นสองเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านหลังเดียวกัน” กาจวิศว์บอกกับ art4d

พื้นที่ทั้ง 3 ชั้นของบ้านถูกเชื่อมกันด้วยส่วนที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของบ้านนั่นก็คือโถงบันได (central core) ที่มีลักษณะเหมือนกล่องไม้ตั้งอยู่กลางบ้าน ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมบ้านทั้ง 3 หลัง (ชั้น) เข้าด้วยกัน และภายในตัว core เองก็ถูกออกแบบให้มีฟังก์ชั่นรองนั่นก็คือช่องเปิดที่ตอบสนองการใช้งานของพื้นที่บริเวณนั้นๆ เช่น ในบริเวณห้องนั่งเล่น ที่จะถูกเจาะเข้าไปเป็นช่องสำหรับวางโทรทัศน์ หรือบนชั้น 2 ที่เป็นพื้นที่ส่วน corridor ก็ได้รับการออกแบบให้เป็น playspace ที่หลานๆ สามารถนำของเล่นมาเก็บและแบ่งปันกันตรงพื้นที่ตรงนี้ได้

     

ดูเหมือนว่า “กล่องไม้” นี้เอง ที่ทำหน้าที่เสมือนตัวบอกถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในบ้าน และเป็นพื้นที่ที่บ่งบอกถึงการผูกโยงความสัมพันธ์ของลูกแต่ละคนเข้าไว้ด้วยกันภายในบ้านหลังนี้ได้เป็นอย่างดี

physicalist-architects.com
fb.com/Physicalistarchitects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *