RETHINKING LEARNING EXPERIENCE

SET TO WELCOME ALL THE STUDENTS THIS AUGUST, VERSO IS A NEW AND PROGRESSIVE INTERNATIONAL SCHOOL IN BANGKOK THAT WAS BORN OUT OF THE COLLABORATION BETWEEN THE SCHOOL’S LEARNING DESIGN TEAM AND THE DESIGN CONSULTANT IDEO

TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่นับวันจะยิ่งพัฒนาไปไกลและเร็วเกินกว่าที่มนุษย์เราจะจินตนาการได้ เริ่มฉายแววให้เราเห็นอย่างชัดเจน ว่าบทบาทของสถาบันสังคมที่มีอยู่เดิมนั้น อาจไม่สอดคล้องกับลักษณะทางสังคม ตลอดจนพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปอีกต่อไป เมื่อการ “พลิกโฉม” (disruption) ที่เกิดขึ้นนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีชีวิตของผู้คนทั้งในเจเนอเรชั่นปัจจุบันและในอนาคตไปอย่างมหาศาล เราอาจจะต้องกลับมาคิดทบทวนกันใหม่อีกครั้งว่าพื้นที่ที่จะมีบทบาทในการฟูมฟักและสร้าง “พลเมืองโลก” (global citizen) ยุคใหม่อย่างสถาบันการศึกษานั้น ควรจะมีทั้งโครงสร้างการเรียนการสอนและโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมอย่างไร

โรงเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ซึ่ง “การศึกษา” มาบรรจบรวมกับคำว่า “นวัตกรรม” และ “การออกแบบ” กันได้อย่างพอดิบพอดี เป็นแนวคิดสำคัญเบื้องหลังการเกิดขึ้นของ VERSO International School โครงการโรงเรียนนานาชาติแห่งล่าสุดของกรุงเทพฯ กำลังจะเปิดประตูต้อนรับนักเรียนใหม่เป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมนี้ “แต่แล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่ทำให้ VERSO แตกต่างไปจากที่อื่นๆ” เชื่อว่านี่คงเป็นคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของใครหลายๆ คน แน่นอนว่าการจะลงทุนสร้างโรงเรียนขึ้นมาสักแห่งในเมืองที่ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมีการแข่งขันค่อนข้างสูงอย่างกรุงเทพฯ ย่อมต้องมีการ “พลิกโฉม” อะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้เกิดโมเดลใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร Cameron Fox หัวหน้าผู้บริหารของโรงเรียน (Founding Head of School) เล่าให้เราฟังด้วยความกระตือรือร้นว่าความต่างของ VERSO คือการที่โรงเรียนแห่งนี้มีการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) มาใช้ในการค้นหารูปแบบการเรียนใหม่ที่ใช่ที่สุดสำหรับนักเรียนแต่ละคน

“ตอนแรกที่ได้รับการทาบทาม ผมตื่นเต้นมากที่จะได้มีส่วนร่วมออกแบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ให้กับโรงเรียนแห่งนี้ ผมชักชวนคนที่รู้จักในสายงานการศึกษา ซึ่งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติหลายแห่งให้มาร่วมงาน เราระดมสมองกันอย่างหนัก คิดทบทวนและคัดเลือกจุดเด่นจากแต่ละที่ที่พวกเรามีประสบการณ์มาไว้รวมกัน บูรณาการมันเข้าด้วยกันเพื่อให้มันรอบด้าน ซึ่งตอนนั้นพวกเราดีใจกันมากๆ ที่ท้ายที่สุดเราสามารถสร้างโรงเรียนที่คิดว่าดีที่สุดแห่งใหม่ขึ้นมาได้ แต่แล้วพอได้ตกตะกอนความคิดกัน กลายเป็นว่าเรากลับรู้สึกผิดหวังแทน ที่แม้โมเดลใหม่นี้จะหยิบเอาข้อดีของหลายๆ ที่มารวมกันได้ แต่มันก็ยังแค่โรงเรียนนานาชาติที่ไม่ต่างไปจากที่เคยมีมาอยู่ก่อนแล้วสักเท่าไหร่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราได้กลับมาคิดกับมันใหม่อีกรอบ แล้วก็ตัดสินใจติดต่อผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยปลดล็อกความคิดให้เราได้ นั่นก็คือ IDEO

เป็นที่รู้กันดีว่าบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบจากแคลิฟอร์เนียรายนี้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาจากการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้พัฒนาให้เกิดเป็นผลงานที่หลากหลายตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ การบริการ สภาพแวดล้อม จนถึงประสบการณ์บนแพลตฟอร์มดิจิตอล ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้มานั้นล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการออกแบบโดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (human-centered design) โดยในกรณีของ VERSO ทีมจาก IDEO ได้ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนมากขึ้น ไปเป็นการใช้การออกแบบมาช่วยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ “นักเรียน” กำลังเผชิญ หรืออาจจะต้องเผชิญในอนาคตโดยตรง และเกิดเป็นการออกแบบทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered design)

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ นี่เป็นครั้งแรกที่ IDEO ได้นำความเชี่ยวชาญการออกแบบของตัวเองมาช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนนานาชาติใหม่ยกระบบในทุกๆ มิติ ตั้งแต่การแบ่งสัดส่วนเนื้อหาที่เน้นกิจกรรมนอกหลักสูตรมากกว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่เอื้อให้เด็กได้ออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติมากขึ้น จนถึงการวางบทบาทให้ “ครู” ของ VERSO ทำหน้าที่เป็น “นักออกแบบการเรียนรู้” (learning designer) คอยให้คำปรึกษาและร่วมปรับการเรียนให้สอดคล้องไปกับศักยภาพและความต้องการของนักเรียนแต่ละคน ดังนั้น ทีมออกแบบการเรียนรู้ (learning design team) ในที่นี้จึงไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ยืนสอนอยู่หน้าชั้นเรียน ตามหลักสูตร 1 2 3 อีกต่อไป

Photo courtesy of VERSO International School

นอกจากรูปแบบการเรียนการสอนที่ถูกคิดขึ้นใหม่แล้ว หลักการของ VERSO ที่ต้องการนำเสนอความเป็นไปได้ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับระบบการศึกษาและโรงเรียนนานาชาติ ยังถูกถ่ายทอดออกมาสู่การออกแบบสภาพแวดล้อมของโรงเรียนเช่นกัน บนพื้นที่ 168 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ติดกันกับโครงการธนาซิตี้ในย่านบางนา และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิเพียง 4 กิโลเมตร อาคารเรียนแต่ละหลังถูกคิดขึ้นโดยยึดเอาความยืดหยุ่นเป็นแกนหลัก เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่ที่สามารถรองรับการเรียนรู้ของเด็กได้หลากหลายรูปแบบ ไปพร้อมๆ กับเปิดให้พวกเขาได้ลองจินตนาการผ่านองค์ประกอบต่างๆ รอบตัวได้อย่างมีอิสระ อาคารเรียนรูปทรงโดนัทซึ่งได้สถาปนิกจาก Palmer & Turner มารับไม้ต่อจากทีมออกแบบของ IDEO ที่ได้ร่างแนวความคิดเบื้องต้นไว้ก่อนแล้วว่าต้องการให้คนและสถาปัตยกรรมนั้นเป็นมีบทสนทนาระหว่างกันกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนยิ่งขึ้นที่นี่ ถูกพัฒนาต่อจนได้เป็นแนวคิด “ลูป” (loop) ขึ้นมา

ในแต่ละลูปซึ่งประกอบด้วยอาคาร Lower Loop, Middle Loop และ Upper Loop ซึ่งใช้รองรับเด็ก Early Years 2-Grade 4, Grade 5-8 และ Grade 9-12 ตามลำดับนั้น ต่างก็มีพื้นที่เพื่อการเรียนรู้เป็นของตัวเองแยกขาดจากกัน ไม่เว้นแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬาด้วย จะมีก็เพียง Upper Loop เท่านั้นที่จะไปใช้งานภายในอาคารยิมเนเซียมที่แยกตัวอยู่ต่างหากแทน ด้วยการออกแบบในลักษณะนี้ มันชวนให้เราอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าแต่ละ “ลูป” ที่ว่านั้นต่างก็ทำหน้าที่เป็นเสมือน “โลกใบเล็ก” (microcosm) ที่มีระบบนิเวศและโครงสร้างทางสังคมในแบบของมันเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวคิดที่ว่าจะทำให้เรารู้สึกว่าแต่ละส่วนของโรงเรียนดูแยกขาดจากกันไปสักหน่อย แต่การจัดให้สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้เฉพาะทาง ตั้งแต่ห้องซ้อมเต้น ห้องซ้อมดนตรี ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ สตูดิโอสำหรับทำงานศิลปะและผลิตงานมัลติมีเดีย จนถึงพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน ตั้งอยู่ที่อาคารกลางที่มีชื่อว่า The Hub นั้น เป็นวิธีการที่ช่วยเชื่อมให้โลกใบเล็กแต่ละใบมีอิสระแต่ก็ไม่แยกขาดจากกันได้อย่างเป็นอย่างดี แถมที่ The Hub นี้ยังมีห้องพักของเหล่านักออกแบบการเรียนรู้ที่ออกแบบให้เป็น co-working space เพื่อสร้างบรรยากาศของการแชร์ความคิดระหว่างกันของผู้สอน ที่เราเองก็น่าจะยังหาไม่ได้จากโรงเรียนไหนอีกด้วย

ความพิเศษนอกเหนือไปจากการออกแบบสถาปัตยกรรมข้างต้น รวมทั้งการออกแบบภายในที่ได้ทีมจาก August Design Consultant มาช่วยจัดการกับพื้นที่ภายในอาคารทั้งในแง่ของวัสดุ สีสัน และแสงสว่างแล้ว การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของ PLandscape ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้พื้นที่ 168 ไร่ ของโรงเรียนแห่งนี้นั้นสมบูรณ์มากขึ้นก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยสภาพแวดล้อมที่ถูกออกแบบขึ้นนั้นเป็นการย้อนกลับไปสู่ลักษณะทางภูมิศาสตร์และระบบนิเวศเดิมของที่ตั้ง ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนองงูเห่า ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง การเลือกพันธุ์ไม้แต่ละชนิดจึงเป็นการออกแบบที่ไม่เพียงเพื่อสร้างให้เกิดร่มเงาและใช้องค์ประกอบทางธรรมชาติเหล่านั้นเป็นตัวสร้างความน่าสนใจให้กับคุณภาพของพื้นที่ (quality of space) แต่ยังเป็นการเรียกให้สิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติเดิม เช่น นกชนิดต่างๆ กลับมาเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้ทำงานไปพร้อมกับโรงเรียนแห่งนี้ การออกแบบรายละเอียดต่างๆ ยังมีการคำนึงเรื่องของความยั่งยืนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการน้ำ ที่มีการออกแบบให้เกิดการกักเก็บ หน่วงน้ำ และบำบัดภายในโครงการก่อนที่จะปล่อยออกสู่ภายนอก เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อโครงการข้างเคียง ขณะเดียวกันการเลือกปลูกพืชสวนครัวในบางจุด ยังเปลี่ยนให้ภูมิทัศน์กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อีกทางด้วย

หากลองพิจารณาดู จะพบว่า VERSO International School นั้นมีการทำงานในลักษณะที่คล้ายกันกับระบบอุปกรณ์ (apparatus) บางอย่าง ซึ่งไม่ได้แค่ประกอบสร้างขึ้นจากซอฟต์แวร์ (โครงสร้างการเรียนการสอน) และฮาร์ดแวร์ (โครงสร้างทางสถาปัตยกรรม) ที่ทำงานไปพร้อมกันได้อย่างพอดิบพอดีจนเกิดเป็นต้นแบบของโรงเรียนนานาชาติรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเท่านั้น แต่ความสอดประสานของระบบอุปกรณ์ทางการเรียนรู้ทั้งในเชิงแนวคิดและกายภาพที่ว่า ในช่วงเวลาที่การเรียนรู้ภายในระบบเริ่มเสื่อมความนิยมน้อยลง ยังแสดงให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้อีกมากมายที่ยังไม่หายไปของสถาบันการศึกษาในการบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ให้โตไปเป็น “ประชากรของอนาคต” (citizen of tomorrow) ที่พร้อมรับมือกับการพลิกโฉมอีกนับครั้งไม่ถ้วนที่กำลังคอยพวกเขาอยู่ในอนาคต “ที่ VERSO เด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะยิ่งใหญ่” Fox ทิ้งท้าย

verso.school

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *