IN ADDITION TO THE STANDARD MEDICAL CARE, THIS SAMUT SAKHON’S VERY FIRST CHILDREN CENTER AT ‘EKACHAI HOSPITAL’ FEATURES KID-FRIENDLY DESIGN BY IF (INTEGRATED FIELD), GUARANTEEING YOUR CHILDREN’S SAFETY AND CALMNESS
TEXT: DECHA ARCHJANANUN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ภายในปี 2100 ประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าประชากรจะหายไปถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการเกิดใหม่ ซึ่งเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกในโลกที่ประสบกับปัญหานี้เทียบรุ่นกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น อิตาลี สเปน และจีน เป็นต้น เด็กไทยในวันนี้เป็นอนาคตของคนวัยหนุ่มสาวที่สำคัญ ที่อาจจะต้องแบกรับภาวะการขาดแคลนแรงงานและการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น การดูแลเด็กๆ ในปัจจุบันให้มีคุณภาพทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ยุคนี้ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการแข่งขันหาโรงเรียนดีๆ ให้ลูก
โรงพยาบาลเอกชัย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยของการเกิดใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการเกิดใหม่ของประเทศไทย ทำให้ผู้บริหารโรงพยาบาลได้สร้างอาคารกุมารเวชแห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาครขึ้นมา เพื่อใช้วินิจฉัย รักษา และให้คำปรึกษาพัฒนาการเด็ก โดยแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญ ตัวโครงการได้รับการออกแบบสถาปัตยกรรมโดย S:CSB ARCHITECTS ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับ Integrated Field (IF) จัดการกับพื้นที่ภายใน งาน façade อาคาร รวมทั้งงานกราฟิกสภาพแวดล้อมทั้งหมดในโครงการ
อาคารมีทั้งหมด 5 ชั้น โดยการรับรู้ถึงสถาปัตยกรรมเมื่อแรกเห็นจะถูกทอนขนาดลงมาให้เห็นเด่นชัดเพียงโถงดับเบิ้ลสเปซลักษณะโค้งภายในอาคาร ซึ่งพื้นที่นี้ยังถูกลดความใหญ่ของขนาดลงไปอีกด้วยตัวชายคาที่ยาวโค้งรับกับอาคาร ช่องเปิดโค้งมนที่เผยให้เห็นสไลเดอร์สีเหลืองขนาดใหญ่และพื้นที่ภายในที่เป็นมิตรนั้น เชื้อเชิญเด็กให้เข้าไปภายในอาคารได้อย่างสบายใจโดยไม่เหนื่อยแรงของผู้ปกครองหรือพยาบาลที่ต้องมาคอยหลอกล่อให้เข้าไปแต่อย่างใด
และนั่นคือส่วนหนึ่งของการตอบโจทย์หลักที่สำคัญของโครงการ ซึ่งคือการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เป็นมิตรให้กับเด็ก ลบภาพจำที่น่าหวาดกลัวของการไปโรงพยาบาล ผ่านการใช้แง่คิดของงานออกแบบถ่ายทอดออกมาในมิติต่างๆ ตามแนวคิด Children Dimension ตั้งแต่การทอนสเกลของพื้นที่ให้สัมพันธ์กับขนาดร่างกายของเด็ก เช่น การใช้แผงไม้คาดผนังที่ระดับ 1 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสายตาของเด็ก พาดไปตามความโค้งของผนังภายในพื้นที่ โดยเส้นโค้งที่ใช้ในโครงการจะเป็นเส้นที่เกิดจากการร่างด้วยมือ ไม่ได้เป็นเส้นโค้งที่มาจากรูปทรงเรขาคณิตที่มีความสมบูรณ์จนเกินไป ซึ่งนักออกแบบเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นจินตนาการของเด็กได้มากกว่า จนถึงการออกแบบให้เคาน์เตอร์ชำระเงินให้มีระดับที่เว้าลงมาเพื่อให้พยาบาลสามารถปฏิสัมพันธ์กับเด็กได้ด้วย
อีกมิติหนึ่งที่ผู้ออกแบบต้องการนำเสนอคือเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกที่พื้นที่มอบให้กับเด็ก ซึ่งจะเห็นได้จากการแทรกพื้นที่สำหรับ “เล่น” เข้าไปในส่วนต่างๆ ที่ปกติแล้วไม่ได้ทำหน้าที่ในการเล่น เช่น ส่วนพักคอยบริเวณชั้น 2 ซึ่งในส่วนนี้ IF ได้เลือกเปลี่ยนภาพจำของพื้นที่ดังกล่าวที่เราคุ้นเคยกันเวลาไปโรงพยาบาล จากการนั่งเรียงหน้ากระดานเป็นแถวๆ หรือที่ดีๆ หน่อยอาจจะเป็นชุดโซฟากับเก้าอี้นั่งสบายๆ เป็นการใช้การนั่งแบบล้อมวง เปิดพื้นที่ตรงกลางให้เป็นอีกชุดที่นั่งที่สามารถนำมาเล่นเป็นบล็อกตัวต่อรูปร่างต่างๆ ได้ โดยที่ยังอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ และจากชั้น 2 นี้เองยังสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่พักคอยบริเวณชั้นล่างด้วยสไลเดอร์สีเหลืองขนาดใหญ่ที่ขดตัวอยู่รอบเสาอาคารซึ่งติดตั้งอยู่ไม่ไกลจากบันไดเลื่อน ทำให้สามารถเล่นวนขึ้นและลงได้เรื่อยๆ อย่างสะดวก ตัวสไลเดอร์มีขนาดที่สามารถรองรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้เล่นไปพร้อมกันได้ มีความลาดเอียงที่พอเหมาะ ปลอดภัยด้วยลักษณะที่เป็นอุโมงค์ปิดคล้ายสไลเดอร์ที่พบได้ในสวนน้ำ ภายในทำสีไล่เป็นสเปคตรัม เพิ่มความสนุกสนาน นอกจากนั้น IF ยังกระจายพื้นที่เล่นขนาดย่อมๆ ไปยังส่วนบริการต่างๆ ของศูนย์ ที่ทำให้การรอพบคุณหมอไม่เป็นเรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป
ขยับลึกเข้าไปในส่วนห้องพัก 60 ห้อง ที่ห้องทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ตามกลุ่มหมู่ดาวคือ ปลาวาฬ กระต่าย เต่า และสิงโต กลุ่มดาวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาที่แสงสว่างบนฝ้าเพดานทั้งในแบบตำแหน่งหมู่ดาว และแบบเส้นรอบรูปสัตว์เรืองแสงที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น การออกแบบนี้นอกจากจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ดาราศาสตร์เบื้องต้น ยังเปิดบทสนทนาสร้างความคุ้นเคยกับเด็กได้ด้วย แถมรูปสัตว์นี้ยังส่งต่อมาที่แผงบังตาภายนอกอาคารด้วยเหล็กฉลุลายอีกด้วย ขณะที่สีที่ใช้ภายในห้องต่างๆ นั้นยังถูกนำมาใช้ที่ประตูของห้องเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับทางเดินในแต่ละชั้น โดยหากสังเกตดู จะพบว่าสีที่เลือกใช้นั้นไม่ได้เป็นไปตามความเข้าใจเดิมว่าการออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กนั้นควรจะต้องใช้แม่สีสดๆ หากแต่ผู้ออกแบบพบว่าจริงๆ แล้วเด็กใช้ความคอนทราสต์ของสีเพื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่เห็นมากกว่า และยังไม่มีการยืนยันว่าการใช้แม่สีสดๆ กับทั้งพื้นที่ขนาดใหญ่นั้นจะส่งผลดีกับเด็กแต่อย่างใด
สุดท้ายเราได้ลองตั้งคำถามชวนคิดกับ IF ถึงอนาคตของการออกแบบสถานพยาบาลจากสถานการณ์ COVID-19 โดยได้คำตอบที่น่าสนใจพอเห็นภาพว่า น่าจะมีรูปแบบโรงพยาบาลขนาดไมโครเกิดขึ้นตามชุมชนขึ้นอีก หรือกระทั่งมีบริการไปถึงประตูบ้านมากยิ่งขึ้นเพื่อลดความแออัดของการให้บริการ
ขณะที่บทบาทของโรงพยาบาลซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารขนาดใหญ่นั้น อาจมีการวิวัฒน์รูปแบบการใช้งานของตัวเองให้รองรับกิจกรรมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ความสัมพันธ์แบบที่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างหมอและคนไข้เอง ก็จะถูกคิดจากประสบการณ์ที่ผู้มาใช้อาคารได้รับมากขึ้นด้วย ซึ่งนั่นทำให้เป็นไปได้ว่า นิยามของสถานพยาบาลอาจต่างออกไปอีกมากในอนาคตอันใกล้นี้
integratedfield.com
fb.com/if.integratedfield.co.ltd
Post Views:
2,189