IF YOU SEE THEM SMILE, THEY CRY INSIDE

IN THE MIDDLE OF THE HIGHLY URBANIZED SINGAPORE, AKHA ARTIST BUSUI AJAW AND VANGHOUA ANTHONY VUE, A BRISBANE-BASED MONG-LAOTIAN ARTIST, COINCIDENTALLY RECREATED THE VILLAGES WHERE THEY WERE BORN AND BRED. SHOWCASED AT THE SINGAPORE BIENNALE 2019

TEXT: BONGKOCHAKRON KAMPUK
PHOTO: NAPAT CHARITBUTRA EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ท่ามกลางความเป็นสังคมเมืองของประเทศสิงคโปร์ บู้ซือ อาจอ (Busui Ajaw) ศิลปินอาข่า และว่าหัว แอนโทนี่ วู (Vanghoua Anthony Vue) ศิลปินม้ง-ลาวพลัดถิ่น ผู้ที่ปัจจุบันพำนักและทำงานอยู่ที่บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการตอกหมุดสร้างหมู่บ้านของพวกเขาขึ้นมาในรูปแบบของงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งสองได้จัดแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะ Singapore Biennale 2019 ที่ปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม ‘Every Step in the Right Direction’ ใน Gillman Barracks ความสอดคล้องกันโดยบังเอิญของศิลปินทั้งสองคนเกิดขึ้นมาจากการสร้างงานศิลปะที่สื่อถึงชาติพันธุ์ของตนเอง ชาติพันธุ์ที่ถูกผลักไสให้กลายเป็นกลุ่มคนชายขอบหรือที่เรียกกันว่า “ชนกลุ่มน้อย”

ความน่าสนใจคือผลงานเหล่านี้ไม่ได้มาแนวเรียกร้องสิทธิ การถูกกดขี่ และความรุนแรงต่างๆ ผลงาน Ayaw Jaw Bah (2019) โดยบู้ซือ อาจอ แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคืองานจิตรกรรมที่ว่าด้วยตำนานการกำเนิดของชาวอาข่า ความผูกพันธ์ระหว่างคนกับผี คนกับธรรมชาติ ไปจนถึงตำนานของอาเยาะจาบอง ผู้เป็นกษัตริย์ของชาวอาข่าที่ไม่ลงรอยกันกับชาวบ้าน จนเกิดเหตุการณ์สู้รบฆ่าฟันกันไม่รู้จักจบสิ้น เป็นเหตุให้ลูกหลานของอาเยาะจาบองก็ต้องหนีไปทางดินแดนตะวันตกและไม่กลับมาอีกเลย ส่วนที่สองคืออินสตอลเลชั่นซุ้มประตูหมู่บ้านของชาวอาข่า ที่ประดับด้วยงานประติมากรรมรูปเทพผู้พิทักษ์ เราจะพบสัญลักษณ์นี้ได้ในแทบจะทุกๆ หมู่บ้าน ในฐานะประตูแบ่งแยกโลกมนุษย์กับโลกจิตวิญญาณ และปกป้องและป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน

การเล่าเรื่องผ่านงานจิตรกรรมกับการสร้างงานประติมากรรมแทนสัญลักษณ์ของหมู่บ้านอาจจะทำให้งานของอาจอชิ้นนี้ดูเป็นงานศิลปะร่วมสมัยธรรมดาๆ ที่ทื่อตรง (จนเกินไป) แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ด้วยการเติบโตมาในครอบครัวชาวอาข่าที่เป็น “ผิมะ” (หมอผี) นั้น ทำให้ผลงานชิ้นนี้มีความดิบ ความจริงที่เป็นธรรมชาติ และมีความชัดเจนตรงไปตรงมา อย่างที่เห็นได้จาก figure มนุษย์ในภาพวาดที่ไม่สวมเสื้อผ้าและเน้นเครื่องเพศชัดเจน

“มันดูขายความ exotic มากไปไหม” นี่เป็นคำถามที่มักเกิดขึ้นกับผลงานที่แสดงออกถึงความดิบของวัฒนธรรมชนเผ่า แบบที่ไม่ได้พูดถึงความรุนแรง หรือเอาปัญหามาตีแผ่ ที่จะสามารถกระทุ้งให้คนตระหนักถึงปัญหาของบ้านเกิดศิลปินได้ แน่นอนว่าหากมองงานชิ้นนี้เพียงผิวเผิน คำอธิบายข้างต้นก็ดูจะเข้าที่เข้าทางกับงานชิ้นนี้อยู่พอสมควร แต่ทว่างานชิ้นนี้จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ? เมื่อศิลปินได้ทิ้งปมปัญหาบางอย่างเอาไว้ให้ผู้ชมได้กลับไปขบคิด ถึง 2 ปมปัญหา

ศิลปินให้สัมภาษณไว้ว่า เธอสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นเป็นเครื่องมือในการบันทึกวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และตำนานต่างๆ ของชาวอาข่า เนื่องจากอาข่าไม่มีภาษาเขียน เรื่องราวต่างๆ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันจึงถูกส่งต่อผ่านปากสู่ปาก ส่วนปมปัญหาที่สองคือการเชื่อมโยงเรื่อง “ทิศตะวันตก” เข้ากับคนตะวันตกที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จนปัจจุบันชาวอาข่าได้หันมานับถือศาสนาคริสต์แทนพิธีกรรมแบบเก่าๆ

ที่กล่าวมาข้างต้น บอกเป็นนัยถึงปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นกับชาวอาข่า การบันทึกครั้งนี้ของบู้ซือ อาจอ เกิดขึ้นจากความหวาดกลัวต่อวันข้างหน้าที่ความเชื่อดั้งเดิม และอัตลักษณ์ของอาข่ากำลังจะหายไป โดยเฉพาะกับการเปลี่ยนศาสนาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะมันคือสัญลักษณ์ของการปรับตัว การที่ชาวอาข่าละทิ้งความเชื่อแบบเก่าที่ไม่สามารถตอบสนองต่อการใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ได้ ทำให้วิถีชีวิตแบบเก่าๆ ของพวกเขาที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติและภูตผีกำลังลดน้อยลงและเลือนหายไป สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาก็กำลังค่อยๆ กลืนกินพวกเขาไปทั้งตัว ยาวไปจนถึงรากเหง้าของความเชื่อ 

ปัญหานี้ ราวกับเป็นฉากภาพยนตร์ที่ถูกฉายซ้ำมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในยุคที่ชนชั้นนำสยามพยายามปรับตัวเข้ากับความศิวิไลซ์ด้วยการเอาแบบอย่างชาติตะวันตก นั่นคือการเรียนรู้ที่จะบันทึกชาติพันธ์ุวรรณาและจำแนกผู้คน และการ “จัดหมวดหมู่” คนเหล่านั้นเอาไว้ให้เป็น “ชาวป่าผู้ล้าหลัง” ซึ่งไม่ต่างไปจากสิ่งที่ประเทศเจ้าอาณานิคมทำกับประเทศใต้อาณานิคมทั้งหลาย ที่น่าแปลกคือ ภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ยังคงถูกนำมาดัดแปลงและฉายวนอยู่เรื่อยไป

รัฐบาลไทยพยายามเข้าไปพัฒนาชุมชนชาวอาข่าในช่วง พ.ศ. 2525 – 2533 ด้วยเหตุผลเดิมคือต้องการนำความศิวิไลซ์ไปมอบให้ แต่การกระทำของรัฐบาลไทยก็แตกต่างไปจากประเทศเจ้าอาณานิคมเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วอยู่บ้าง ตรงที่พวกเขาไม่ได้แบ่งแยกชาวอาข่าให้เป็นชาวป่าแบบในอดีต แต่พวกเขาต้องการทำให้ชาวอาข่ามีสำนึกรับรู้ว่าตนเองมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยผ่านสัญชาติและวิถีชีวิตแบบใหม่ตามที่รัฐไทยสอน เช่น การผลักดันให้ปลูกพืชเศรฐกิจแทนการทำไร่เลื่อนลอยเพื่อรักษาระบบนิเวศและธรรมชาติ การพัฒนาการเรียนการสอนให้ทุกคนได้รับการศึกษา และการสร้างระบบไฟฟ้าและน้ำประปาให้เกิดความสะดวก

เหมือนจะหวังดีตามสไตล์พ่อให้ลูกโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ การพัฒนาเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องที่ดีหากเป็นการพัฒนาที่มาจากความต้องการของชาวอาข่าเอง แต่ในความเป็นจริง การพัฒนาเหล่านี้เป็นการพัฒนาที่มาจากมุมมองของรัฐบาลไทยที่ต้องการใช้หมู่บ้านอาข่าเป็นแนวป้องกันไม่ให้ไปเข้ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น จากที่ดูเหมือนว่าอาข่าจะได้ยกระดับชีวิตของตัวเอง แต่อันที่จริงแล้ว เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน แต่สถานที่ที่อยู่อาศัยยังคงเหมือนเก่า ความไม่สมดุลในชีวิตจึงเกิดขึ้น สังคมของผู้คนบนภูเขาค่อยๆ พังทลาย

Photo courtesy of Singapore Art Museum

โครงข่ายความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตั้งแต่อดีตก็เริ่มถดถอย รวมไปถึงผู้คนรุ่นใหม่ก็เริ่มพากันย้ายมาอยู่ในเมือง ค่านิยมใหม่ที่รัฐบาลไทยมอบให้เป็นผลทำให้ชาวอาข่ามองกิจวัตรประจำวันดั้งเดิมของตัวเองเป็นสิ่งที่ “ล้าหลังและไม่เจริญ” และที่น่าเศร้าไปมากกว่านั้นคือ แม้ว่าพวกเขาจะอยากก้าวเข้าสู่สังคมเมืองมากแค่ไหนก็ตามพวกเขาก็ไม่อาจทำได้ ตราบใดที่พวกเขายังไม่ได้รับสัญชาติ พวกเขาจะยังคงไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม กลายเป็นสภาวะสุญญากาศ จะเข้ามาอยู่ในเมืองก็ไม่ได้ จะใช้ชีวิตบนภูเขาต่อไปก็ลำบาก ทางสุดท้ายที่จะทำให้พวกเขามีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้นก็คือการเปลี่ยนชีวิตของตัวเองให้กลายเป็นความบันเทิง เปลี่ยนหมู่บ้านให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดเหล่าคนเมืองในปัจจุบันให้เข้ามาเสพธรรมชาติและความ exotic แบบที่คนในประเทศเจ้าอาณานิคมทำกับประเทศใต้อาณานิคมในอดีต

ผลงานชุดนี้ของบู้ซือ อาจอ ไม่ได้แค่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวอาข่า และก็ไม่เป็นความจริงว่าผลงานชิ้นนี้ไม่มุ่งเน้น เพียงแต่ ปัญหามันซ่อนตัวอยู่ภายใต้ความธรรมดาเหล่านั้นต่างหาก ไม่ต่างจากที่ผู้คนในยุคปัจจุบันเคยชินกับการปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยราวกับว่าพวกเขาเป็นมาสคอตของแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างไม่รู้สึกผิดแปลกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม งานของอาจอไม่ใช่งานเพียงชิ้นเดียวที่พูดถึงเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยที่จัดแสดงขึ้นที่นี่ อีกฝากฝั่งหนึ่งที่ไม่ไกลกันมากนักได้มีผลงานของวูติดตั้งอยู่


Photo courtesy of Singapore Art Museum

ผลงานของวูแตกต่างไปจากงานของอาจอ แม้จะพูดถึงชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน งานของวูไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ธรรมชาติ จิตวิญญาณ หรือความดิบ งานของเขาไม่ได้ปล่อยให้ผู้ชมกลับไปขบคิดปัญหาด้วยตัวเอง แต่นำผู้ชมมุ่งเข้าสู่ประเด็นและตีแผ่ปัญหาที่เขาต้องการจะเล่าออกมาอย่างไม่ปิดบัง กับ Present-past-patterns (2019) ศิลปินได้ทำการพิมพ์ภาพถ่ายและติดตั้งเข้ากับผิวตัวอาคารที่จัดแสดงด้วยเทปกาว โดยเลือกใช้สีที่สะท้อนไปถึงลวดลายเสื้อผ้าของชาวม้ง

ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบอกเล่าถึงวิบากกรรมของชาวม้งที่ประสบชะตากรรมคล้ายๆ กับชาวอาข่า คือถูกผลักไสให้กลายเป็นคนชายขอบ กลายเป็นคนไร้สัญชาติ และกลายเป็นกลุ่มคนที่แทบจะถูกลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ศิลปินนำเรื่องราวของครอบครัวตนเองมาขยายในงานครั้งนี้ พ่อแม่ของเขาเคยอาศัยอยู่ในประเทศลาวจนกระทั่งช่วงสงครามกลางเมืองซึ่งชาวม้งตัดสินใจต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่พ่ายแพ้จนต้องหนีตายมายังฝั่งไทย พ่อและแม่ของเขารอดชีวิตจากสงครามแต่ชีวิตหลังจากนั้นไม่ก็ไม่ได้ง่ายนัก ภายหลังจากพยายามต่อสู้และดิ้นรนในการมีชีวิต พวกเขาก็สามารถอพยพไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียได้ในที่สุด

แม้ชาวม้งจะมีบทบาทในสงครามและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นมากมาย แต่วีรกรรมของพวกเขา ความลำบากที่พวกเขาเคยเจอกลับไม่ได้รับความสำคัญหรือความสนใจในหน้าประวัติศาสตร์ลาวแม้แต่น้อย เหตุการณ์นี้ทำให้ศิลปินตัดสินใจนำเอาภาพถ่ายครอบครัว และภาพถ่ายจากเหตุการณ์การสู้รบของชาวม้งในช่วงเวลานั้นมาทำเป็นงานศิลปะ ให้ผู้ชมได้ตระหนักและจดจำถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น


Photo courtesy of Singapore Art Museum

หากมองดูงานชิ้นนี้จากระยะไกลๆ สิ่งที่ผู้ชมเห็นจะไม่ใช่ภาพถ่ายกับเทปกาวแต่คือลวดลายเสื้อผ้าของชาวม้ง ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เนินสูงและมีอาคารรูปร่างเหมือนกับศาลา ลวดลายดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากการนำภาพถ่ายครอบครัวสมัยที่อาศัยอยู่ในศูนย์ผู้อพยพของประเทศไทย กับภาพถ่ายในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศลาวมาติดตั้งซ้อนทับกัน การกระทำเหล่านี้ของศิลปินมีนัยยะสำคัญที่ต้องการจะแสดงให้ผู้ชมเห็นตัวตนของชาวม้งและภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษได้ชัดขึ้น และทำหน้าที่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของเขาเหล่านี้

ความน่าสนใจอีกอย่างของงานนี้คือ ด้วยความที่พื้นที่ติดตั้งผลงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของทางสัญจรระหว่างกลุ่มอาคารในพื้นที่ของ Gillman Barracks น้อยคนนักที่สัญจรผ่านไปผ่านมาที่จะสังเกตเห็นถึงรายละเอียด เขาอาจจะ “เห็น” ว่ามีอยู่แต่ไม่เคย “มอง” และสนใจ เฉกเช่นเดียวกันกับประวัติศาสตร์ชาวม้งที่ตกสำรวจในประวัติศาสตร์ชาติลาว นี่คือวิถีชีวิตที่ชาวม้งต้องเผชิญ ราวกับเป็นแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มน้อย อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่หยุดมองและพิจารณารายละเอียดบนเสาแต่ละต้น บนองค์ประกอบส่วนอื่นๆ เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งถึงผู้ชมเหล่านั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนับจากนี้เรื่องราวของพวกเขาจะต้องถูกส่งต่อ ไม่ต่างกับลวดลายบนผืนผ้าที่ส่งต่อไปให้แก่ชาวม้งทุกรุ่น

Photo courtesy of Singapore Art Museum

ผลงานของอาจอและวูมีสิ่งที่เชื่อมโยงกันอยู่ ศิลปินทั้งสองคนต่างสร้างงานศิลปะขึ้นมาบนรากฐานของความต้องการที่จะให้เรื่องราวที่เล่าได้รับการบันทึกและจดจำ ความต้องการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผลของการที่ชนกลุ่มน้อยถูกปฏิเสธและผลักไสให้กลายเป็นคนชายขอบมาอย่างยาวนาน การถูกมองข้ามและไม่ได้รับความสำคัญ จึงกลายเป็นจุดร่วมสำคัญที่กระตุ้นให้พวกเขาต้องการผลักดันให้ชนกลุ่มน้อยก้าวขึ้นมามีตัวตนในสังคม ถูกจดจำ ได้รับความสำคัญ และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ผลงานทั้งสองชิ้นยังเชื่อมโยงกันด้วยเหตุการณ์สงครามเย็น แม้ชาวอาข่าจะไม่ได้ถูกขับไล่หรือต้องหนีตายเช่นเดียวกันกับชาวม้ง แต่วิถีชีวิตและตัวตนของพวกเขาก็กำลังเลือนหายไปอย่างช้าๆ ไม่ต่างอะไรไปจากหมู่บ้านชาวม้งในตอนนั้นที่ต้องล่มสลายหายไปจากไฟสงคราม

Singapore Biennale ที่จัดแสดงขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 22 มีนาคม พ.ศ. 2563 ในครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญของงานศิลปะที่พูดถึงชนกลุ่มน้อย เพราะในที่สุด พวกเขาก็ได้รับโอกาสในการสร้างงานเพื่อใช้อธิบายตัวเองผ่านมุมมองของตนเอง โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาคอยสร้างคำจำกัดความหรือทำหน้าที่จำแนกตัวตนของพวกเขาให้ต่างออกไปจากคนอื่นสักที

singaporebiennale.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *