AN EXCLUSIVE CONVERSATION BETWEEN ART4D AND THE MINDS BEHIND ‘RŌZU EAU DE PARFUM’ REGARDING HOW THEY INTERPRETED THE LIFE AND WORKS OF CHARLOTTE PERRIAND, AS WELL AS THE LIFE CYCLE OF A ROSE, INTO THE DESIGN OF THIS LATEST FRAGRANCE OF AĒSOP
TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO COURTESY OF AĒSOP EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
Rōzu คือน้ำหอมกลิ่นล่าสุดของแบรนด์ Aēsop ที่ถูกออกแบบขึ้นจากการตีความเรื่องราวและชีวิตของ Charlotte Perriand นักออกแบบหญิงชาวฝรั่งเศสผู้อยู่เบื้องหลังผลงานเก้าอี้ LC4 Chaise Longue อันเลื่องชื่อ ที่เธอร่วมออกแบบกับ Le Corbusier และ Pierre Jeanneret โดยนอกจากการเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด “ศิลปะของการใช้ชีวิต” (l’art de vivre) เธอยังมีผลงานบางส่วนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมตะวันออกเมื่อครั้งเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นอย่าง Chaise Ombre หรือกระทั่ง Tokyo Chaise Longue ที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่ด้วย
ในโอกาสที่ Rōzu Eau de Parfum เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา art4d ร่วมพูดคุยแบบ exclusive กับ Barnabé Fillion นักออกแบบน้ำหอมชื่อดังชาวฝรั่งเศส Kate Forbes ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม และ Marsha Meredith ผู้อำนวยการฝ่ายสรัางสรรค์ของ Aēsop รวมทั้ง Pernette Perriand-Barsac ลูกสาวเพียงคนเดียวของ Charlotte Perriand ถึงแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบกลิ่นและประสบการณ์ของน้ำหอมกลิ่นที่ 4 ของแบรนด์ตัวนี้
“สิ่งแรกที่ Rōzu Eau de Parfum ทำให้ฉันนึกถึงคือการเดินเล่นไปตามชายหาดกับ Charlotte เมื่อนานมาแล้ว แล้วก็การเดินท่องป่าใน Méribel” — Pernette Perriand-Barsac
art4d: หลายคนรู้จัก Charlotte Perriand ในฐานะสถาปนิกและนักออกแบบหญิงที่มีจิตวิญญาณอิสระ และเป็นผู้บุกเบิกแนวคิด “ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต” (l’art de vivre) เธอได้เขียนเอาไว้ในบทความในปี 1981 ว่า “ส่วนขยายของศิลปะแห่งการอยู่อาศัย ก็คือศิลปะแห่งการใช้ชีวิต มันคือการมีชีวิตอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแรงขับเคลื่อนที่อยู่ในเบื้องลึกที่สุดของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ได้รับเอาไว้และสร้างขึ้น” แล้ว Aēsop แปรเปลี่ยนคาแร็คเตอร์อันเป็นเอกลักษณ์ของ Perriand ออกมาเป็นงานออกแบบของน้ำหอม Rōzu Eau de Parfume นี้ได้อย่างไร
Barnabe Fillion: ในการพัฒนาสูตรของ Rōzu นั้น เรานำเอาแรงบันดาลใจมาจากชีวิตและผลงานของ Charlotte Perriand ไม่ว่าจะเป็นในมิติของชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เธอก้าวเดินอย่างมาดมั่นและด้วยความกล้าที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ด้วยแรงผลักดันและความเป็นเหตุเป็นผลที่ไม่ดื้อรั้น รวมไปถึงอิทธิพลจากการเดินทางไปยังที่ต่างๆ มากมายของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปทั่วทั้งญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผมอยากจะทำงานกับความเปราะบางของกุหลาบ แต่ผมก็ให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งของ Perriand กับดอกกุหลาบที่ว่านี้ด้วย มันมีความเป็นผู้ชายอยู่มากเพราะมันมักจะถูกนำมาผสมกับหญ้าแฝก (vetiver) แต่ใบชิโสะเองก็นับว่าเป็นสิ่งที่อาวองการ์ดมากๆ ในการนำมาใช้กับน้ำหอม ซึ่งก็เปิดเผยให้เราเห็นมิติที่หลากหลายของดอกไม้นั้นได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันถูกนำมาผสมกับกลิ่นที่มีความ woody และ musky อ่อนๆ มันทำให้เรานึกไปถึงกุหลาบที่มีเนื้อผิวชัดเจนและไม่เคยถูกดมมาก่อน
art4d: เราเข้าใจว่ากระบวนการเบื้องหลัง Rōzu Eau de Parfum มีจุดกำเนิดอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ในปารีสของ Perriand องค์ประกอบไหนในอพาร์ตเมนต์แห่งนั้นที่เป็นแรงจูงใจให้พวกคุณแต่ละคนคิดคาแร็คเตอร์ของกลิ่นนี้ออกมาได้? มันคือสิ่งที่อยู่ในการตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ รูปถ่าย หรือความทรงจำอะไรแบบนั้นหรือเปล่า
Barnabe Fillion: อันที่จริงกลิ่นน้ำหอมของเราไม่ได้เริ่มต้นที่อพาร์ตเมนต์แห่งนั้นในปารีสหรอกครับ แต่มันอยู่ในการคิดคำนึงถึงดอกกุหลาบอันงดงามที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ Perriand โดยเฉพาะต่างหาก หลังจากนั้นเราก็ได้พบกับ Marsha Meredith ซึ่งเป็น Creative Director ของ Aēsop และ Pernette ผู้เป็นลูกสาวของ Charlotte Perriand ในอพาร์ตเมนต์หลังสุดท้ายของเธอ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมทึ่งก็คือวัตถุจากประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในบ้านหลังนี้ ผมยังได้เห็นหินสวยๆ ที่เธอเก็บมาจากชายหาด และภาพถ่ายของหินต่างๆ ที่เธอได้ถ่ายเอาไว้ มีศิลปินนักวาดภาพที่เก่งมากๆ ชื่อว่า Fernand Leger ที่ได้ทำการตีความมันและวาดมันออกมา ซึ่งนั่นก็เป็นการร่วมงานที่เกิดขึ้นในฐานะของความเป็นเพื่อนที่ปรารถนาดีต่อกันมากๆ ระหว่างทั้งสองคน มิตรภาพและความคิดสร้างสรรค์ในระดับนั้นเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมมาก
art4d: กลิ่นที่อยู่ในน้ำหอมนี้มีความคล้ายคลึงกับวงจรชีวิตของกุหลาบ คุณช่วยอธิบายตรงนี้ให้ลงรายละเอียดสักหน่อยได้ไหม อะไรคือสิ่งที่ทำให้กุหลาบ Charlotte Perriand แตกต่างจากกุหลาบอื่นๆ
Kate Forbes: Rōzu เปิดด้วยกลิ่นดอกไม้อย่างกุหลาบที่ชัดเจน ที่มาพร้อมกับกลิ่นของเพทติตเกรน (petitgrain) เบอร์กามอต (bergamot) และใบชิโสะที่จะให้ความรู้สึกสดใส ซึ่งอ้างอิงกับความหลงใหลที่ Perriand มีต่อญี่ปุ่นตลอดช่วงชีวิตของเธอ และพริกไทยชมพู (pink pepper) ที่ให้กลิ่นเครื่องเทศที่มีความสดชื่น ตัวกลิ่นหลักให้กลิ่นดอกไม้ที่จัดเข้าไปอีก โดยกลิ่นของกระดังงา (ylang ylang) ถูกร้อยเรียงเข้ากับกลิ่นเปลือกไม้แห้งที่มีเอกลักษณ์ของกลิ่นเครื่องเทศ ในขณะที่มะลิเข้ามาเสริมพลังของกุหลาบ และกลิ่นสโมคกี้ของไม้กวาแอค (guaiacwood) ขณะที่ไม้จันทน์ (sandalwood) ซึ่งให้กลิ่นที่ลึกและเป็นกลิ่น base note หรือกลิ่นสุดท้ายที่หอมละมุนไปทางโทนแป้ง ก็ไปผสมกับกลิ่นอ่อนๆ ของกลิ่นสกัดจากหญ้าแฝก (vetiver) ที่มีโทนออกสดชื่นๆ ของไม้และดินที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณ กลิ่นสมุนไพรหวานๆ ของพิมเสน (patchouli) และมดยอบ (myrrh) ที่มีกลิ่นของยางไม้หอมและอำพัน ทั้งหมดทั้งมวลมีกลิ่น Musk เป็นพื้นฐานอยู่อย่างเบาบาง
art4d: Pernette อะไรคือสิ่งแรกเกี่ยวกับแม่ที่คุณนึกถึงเมื่อคุณได้กลิ่น Rōzu Eau de Parfum?
Pernette Perriand: สิ่งแรกที่ Rōzu Eau de Parfum ทำให้ฉันนึกถึงคือการเดินเล่นไปตามชายหาดกับ Charlotte เมื่อนานมาแล้ว แล้วก็การเดินท่องป่าใน Méribel
art4d: Rōzu Eau de Parfum ชวนให้เรานึกไปถึงการเดินทางของ Perriand ระหว่างญี่ปุ่นกับฝรั่งเศส องค์ประกอบหรือส่วนผสมใดในน้ำหอมที่คุณคิดว่าเป็นสิ่งที่ถักทอเอาบันทึกการเดินทางที่รวบรวมเรื่องราวของขนบตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน
Barnabe Fillion: กุหลาบเป็นสัญลักษณ์สากลของความหลงใหล และสำหรับผมแล้ว มันยังเป็นตัวแทนของระเบียงบ้านหลังสุดท้ายในปารีสของ Perriand ด้วย ขณะเดียวกันก็ยังเป็นกุหลาบญี่ปุ่นที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเธอโดยเฉพาะ ที่สุดท้ายก็ได้ถูกนำไปปลูกไว้ที่ระเบียงนี้ในที่สุด ตัวใบชิโสะเองก็มีความเป็นญี่ปุ่นมาก หญ้าแฝกนั้นก็เป็นพืชที่ใช้กันแพร่หลายในตะวันตกและตะวันออก ในขณะที่มดยอบก็เป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีกรรมทั่วโลก
art4d: เนื่องจากน้ำหอมกลิ่นใหม่ของ Aēsop ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตและการทำงานของ Charlotte Perriand โปรเจ็คต์ไหนของนักออกแบบฝรั่งเศสคนนี้ที่พวกคุณคิดว่าเหมาะกับ Rōzu Eau de Parfum มากที่สุด
Marsha Meredith: สำหรับพวกเราแล้ว เก้าอี้เป็นสัญลักษณ์อย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาและกระชับที่สะท้อนของความย้อนแย้งอันสวยงามที่ Charlotte Perriand เป็น เธอเป็นผู้บุกเบิกการแสดงออกใหม่ๆ ของแนวคิดสมัยใหม่นิยม (modernism) โดยเอาความเป็นธรรมชาติเข้ามาผสมผสานกับยุคสมัยเครื่องจักร และนำงานหัตถกรรมเข้าผสมผสานกับการผลิตในปริมาณมาก เธอหาทางทำให้สิ่งหรูหราและธรรมชาติเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าถึงได้ และผสานช่องว่างระหว่างตะวันออกและตะวันตก เห็นได้ชัดว่าเก้าอี้ตัวนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากช่วงเวลาของเธอในญี่ปุ่น แต่มันก็ยังคงมีลักษณะของสิ่งที่สร้างสรรค์โดยคนปารีสอยู่ คือมีทั้งความกล้าและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์