INTRODUCING THE LATEST PROPOSAL BY CLOUD-FLOOR, THE POCKET FOR STREET FOOD PROJECT THAT AIMS TO MAKE PEACE FOR THE BANGKOK SIDEWALK
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: COURTESY OF CLOUD-FLOOR
(For English, press here)
70% ของคนเมืองเลือกทานอาหารนอกบ้านด้วยข้อจำกัดด้านการใช้ชีวิต (สำหรับบางคน เวลานอนยังจะไม่ค่อยมีเพราะเอาไปลงกับเวลาติดแหง็กอยู่บนท้องถนนเป็นเสียส่วนใหญ่) และ 70% ของคนเมืองเหล่านั้น มีร้านประจำเป็นร้านรถเข็นแผงลอย
ร้านอาหารริมทางคือเส้นเลือดเส้นสำคัญที่ทำหน้าที่เลี้ยงปากท้องพนักงานเงินเดือนในตอนนี้ และด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน พวกเราหลายคนยังคงต้องฝากท้องไว้กับร้านค้าริมถนนไปอีกนานอย่างแน่นอน พฤติกรรม (ที่ถูกบีบให้เป็น) ลักษณะนี้นั้นมี hidden cost มหาศาล พูดให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ หลายๆ คนคงเห็นมากับตาว่า ฟุตบาทเพิ่งปรับปรุงเสร็จได้ไม่นานเริ่มพัง สกปรกไปด้วยคราบของเสียนานาชนิด และที่แย่ที่สุดคือภาพการเทน้ำมันลงท่อระบายน้ำกันดื้อๆ
ที่กล่าวมานี้คงเป็นเหตุผลว่าทำไมกรุงเทพมหานคร จึงมีความพยายามในการดำเนินนโยบายจัดระเบียบทางเท้า ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งการผ่อนผันบนพื้นที่ทางเท้าเดิมและการจัดหาพื้นที่ขายให้ใหม่ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือย่านปากคลองตลาด ที่ทุกวันนี้ริมฟุตบาทเป็นระเบียบขึ้นมาก และเห็นได้ชัดว่าพ่อค้าแม่ค้าบางกลุ่มได้รับความเดือดร้อนกันเป็นแถบๆ เพราะการย้ายร้านไปยังตำแหน่งและพื้นที่ใหม่นั้นสวนทางกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแง่การเข้าถึง หรือพูดง่ายๆ ก็คือการมันถูกย้ายไปยังจุดที่ไม่มีคนเดินผ่าน
การจัดระเบียบทางเท้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ค้า ผู้บริโภค และภาครัฐนั้น เกิดความพึงพอใจในวิธีการจัดการเพื่ออยู่ร่วมกัน โดยตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่ายที่ยังสามารถพึ่งพาและได้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาสิทธิในการเดินบนทางเท้าได้ และนี่คือโจทย์สำคัญของโปรเจ็คต์ The Pocket for Street Food โดย Cloud-floor
ไอเดียหลักของโครงการนี้คือการเสนอพื้นที่กึ่งสาธารณะใหม่ หรือพื้นที่สาธารณะที่ยังคงครอบครองสิทธิ์โดยเอกชนหรือ Privately owned public space (POPS) ขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นคือ เอกชนยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ยินยอมให้เกิดการใช้พื้นที่ส่วนนี้ทำกิจกรรมสาธารณะ มาใช้ประโยชน์ในการจัดการและแก้ปัญหากล่าว
Cloud-floor นำเสนอรูปแบบการจัดการพื้นที่แบบใหม่ โดยใช้พื้นที่ย่าน อารีย์ – ประดิพัทธ์เป็นกรณีตัวอย่าง โดยนำเสนอให้เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดรั้วแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นที่ตั้งรถเข็นและโต๊ะนั่งรับประทานอาหาร ใน 2 รูปแบบ คือ 1) การเปิดพื้นที่ถาวรเฉพาะส่วน 2) การใช้พื้นที่ชั่วคราวที่กำลังรอการพัฒนาจัดให้เป็นตลาดนัดย่อมๆ จุดแข็งของไอเดียนี้คือจะไม่มีใครเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง เพราะด้วยทำเลที่ตั้งของคอนโดเหล่านั้น ซึ่งแทบทุกโครงการตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ ไม่ไกลจากระบบขนส่งสาธารณะ แหล่งชุมชน อยู่ในเส้นทางการสัญจรของคนจำนวนมาก และกระจายอยู่ครอบคลุมพื้นที่ในรัศมีโดยรอบ พื้นที่ pocket for street food ที่ว่านี้จะไม่หลุดออกจาก circulation เดิมแม้แต่น้อย มีหลังคากันแดดกันฝน อีกทั้งเอกชนยังสามารถควบคุมมาตรฐานความสะอาด ซึ่งส่งผลดีต่อเมืองโดยรวมเมื่อขยะและน้ำเสียจะไม่ถูกเททิ้งลงท่ออีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ไอเดียนี้จะเกิดขึ้นได้จริงนั้นต้องอาศัยการร่วมมือกับภาครัฐโดยเฉพาะทางด้านกฎหมาย หนึ่งคือการออกกฎหมายมารองรับการเกิดขึ้นของพื้นที่ POPS และอย่างที่สองคือสิทธิพิเศษที่เอกชนจะได้รับเมื่อเปิดพื้นที่ส่วนตัวให้สาธารณะได้ใช้ประโยชน์ เพราะลำพังแค่การเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าอย่างเดียว เชื่อว่าไม่สามารถโน้มน้าวให้เอกชนเอาด้วยกับไอเดียนี้แน่ๆ
กรณีศึกษาที่ Cloud-floor เสนอในครั้งนี้คือ กลยุทธ์การเพิ่มพื้นที่สาธารณะของเมืองนิวยอร์กที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1961 กับวิธีการจัดการ zoning ที่เรียกว่า Incentive Zoning Mechanism หรือการเสนอให้ผู้พััฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์กได้รับสิทธิ์ในการสร้างอาคารให้สูงขึ้นกว่าที่กฎหมายกำหนด หากเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพลาซ่าหรืออาร์เคตเป็นที่กึ่งสาธารณะแก่คนเมือง ลองนึกดูเล่นๆ ว่าหาก ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บวกลบคูณหารแล้วพบว่า การเปิดพื้นที่ส่วนเล็กๆ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่จะช่วยพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นนั้น จะทำให้เขาสร้างยูนิตได้มากขึ้นและได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีขึ้น รวมไปถึงโอกาสใหม่ๆ ในการทำโครงการ CSR ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสังคมโดยรอบไปพร้อมๆ กัน ใครกันจะไม่รับข้อเสนอนี้ล่ะ?
The Pocket for Street Food เป็นโปรเจ็คต์ที่มีไอเดียน่าสนใจ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถนำไปใช้จริงแก้ปัญหาได้จริงๆ หากได้รับการตอบรับจากภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังสามารถนำไปสู่การจัดระเบียบผู้ค้าริมทางในอีกขึ้นหนึ่งได้ นั่นคือการขึ้นทะเบียนผู้ค้าริมทาง ที่จะเป็นการยกระดับมาตรฐาน street food บ้านเรา ให้ไม่ได้มีดีแค่ความอร่อย แต่มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
1 Comment