DECODED DUSIT THANI

LET’S FIND OUT THE IDEA BEHIND THE DESIGN OF DUSIT THANI HOTEL WHICH EXPECTED TO BE IMPLEMENTED IN THE “DUSIT CENTRAL PARK” PROJECT IN THE FUTURE

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF DUSIT INTERNATIONAL

(For English, press here)

เชื่อว่า ตอนที่ข่าวการทุบอาคารโรงแรมดุสิตธานีเดิมออกมานั้น หลายๆ คนคงรู้สึกเสียใจกันไปตามๆ กัน เพราะมันเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่จะต้องสูญเสียอาคารที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและเรื่องราวความทรงจำอันมากมาย

เพื่อไม่ให้คุณค่าของอาคารนี้สูญหายไปกับการรื้อถอน ทีมผู้บริหารโรงแรมดุสิตธานีจึงติดต่อทีมวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้เข้ามาศึกษาและเก็บรายละเอียด เพื่อเก็บรักษาคุณค่าของโรงแรมเดิมไว้ และนำไปใช้ต่อยอดกับการก่อสร้างโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล ปาร์ค” ต่อไปในอนาคต

“ก่อนลงพื้นที่ คิดว่าสถาปนิกคงออกแบบโดยนำองค์ประกอบศิลปะไทยและสถาปัตยกรรมไทยมาดัดแปลงให้ทันสมัยและเรียบง่ายสำหรับยุค 50 ปีที่แล้ว แต่หลังจากเข้าไปสำรวจอย่างละเอียด พบว่ามีคติสัญลักษณ์และความเชื่อซ่อนอยู่ในงานออกแบบมากมายรวมถึงจำนวนตัวเลขและการแทนค่าเพื่อสื่อความหมายเชิญสัญลักษณ์ในการออกแบบหลายส่วน” ผศ.ดร.ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาการออกแบบโรงแรมดุสิตธานีกล่าว

ในการศึกษาครั้งนี้ทีมวิจัยพบว่า Yozo Shibata สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ออกแบบโรงแรมดุสิตธานีได้แรงบันดาลใจในการออกแบบจากพระปรางค์วัดอรุณ อย่างเช่น การใช้เส้นล้มสอบเข้าจากส่วนฐานที่กว้างไปสู่ส่วนยอดของอาคาร การสร้างยอดแหลมสีทองซึ่งมีลักษณะคล้ายส่วน “นภศูล” หรือส่วนยอดของพระปรางค์ รวมไปถึงการออกแบบอาคารให้มีความสูงใกล้เคียงกับตัวพระปรางค์เอง

นอกจากนี้ อาคารยังมีการสอดแทรกคติความเชื่อแบบไทยเข้าไป ผ่านการใช้จำนวนตัวเลขแทนค่าในหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็น เลข 3 จากการแบ่งส่วนฐาน ส่วนตัว และส่วนหัว ที่สะท้อนแนวคิดไตรภูมิ เลข 36 จากจำนวนดอกประจำยามที่ซุ้มผนังภายนอกอาคาร และจำนวนห้องพักหลังคาจั่วที่อยู่รอบสวนของโรงแรม ซึ่งสะท้อนแนวคิดไตรภูมิ 36 ชั้น และ การย่อมุมไม้ 36 ของพระปรางค์วัดอรุณ

ยังมีข้อมูลรายละเอียดอีกจำนวนไม่น้อยที่เล่าไม่หมดในบทความนี้ นอกจากจะถูกนำไปต่อยอดในการออกแบบโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ในอนาคตแล้ว ข้อมูลการวิจัยทั้งหมดนี้จะถูกนำไปเรียบเรียงเป็นนิทรรศการใน Heritage Floor เมื่ออาคารให้สร้างเสร็จ ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่คนรุ่นหลังจะได้เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ รวมถึงตระหนักในความเชื่อมโยงระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ กับสถาปัตยกรรมประเพณีไทยมากขึ้น

dusit.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *