ART4D SPEAKS WITH CHRIS BRAITHWAITE, SENIOR DIRECTOR OF RETAIL AND DESIGN AT APPLE, ABOUT ITS SECOND STORE IN BANGKOK AND HOW THIS ‘TREE CANOPY’ BECOMES APPLE’S FIRST EVER CYLINDRICAL GLASS DESIGN
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
INTERVIEW BY PAPHOP KERDSUP
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ต้องยอมรับว่า Apple ลงทุนกับกรุงเทพฯ มากทีเดียวถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะหลังจากเปิด Apple Store ที่ไอคอนสยามได้ไม่นาน มาในปีนี้เมื่อโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย Apple Store สาขาที่ 2 ในกรุงเทพฯ ก็ได้ฤกษ์เปิดทำการเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
Apple Central World ตั้งอยู่ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า Central World บริเวณมุมของลานอีเวนต์ ติดกับแยกราชประสงค์และเยื้องกันกับศาลท้าวมหาพรหมพอดิบพอดี ตัวอาคารมีความสูงประมาณ 24 เมตร เป็นอาคารทรงกระบอกที่กรุกระจกใสรอบ (ตามข้อมูลคือได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Steve Job Theater และนี่เป็น Apple Store สาขาแรกที่เป็นอาคารทรงกระบอก) และมีชายคายื่นออกมา 3 เมตร รอบทิศทาง พื้นที่อาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ พื้นที่ขายบริเวณชั้น 1 -2 ห้องบริการลูกค้าองค์กร (Board Room) ที่ชั้นใต้ดิน โดยเชื่อมต่อกันด้วย The Tree Canopy ซึ่งเป็นแกนกลางของร้าน ทำหน้าที่เป็นทั้งเส้นทางสัญจร ติดตั้งงานระบบ และเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักของอาคาร
ในแง่การเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ มีการพยายามเบลอเส้นแบ่งระหว่างภายนอก / ภายในอาคาร ด้วยการใช้วัสดุปูพื้นชนิดเดียวกันทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการทุบสกายวอล์คเดิมของห้าง และสร้างใหม่เป็น terrace ลอยฟ้าที่มีม้านั่ง 2-3 ตัวให้ได้นั่งพักคอย เชื่อมต่อมายังชั้นสองของร้านโดยตรง นอกจากนั้น ตรงพื้นที่โดยรอบระดับพื้นดินยังมีการปลูกต้นไม้เพิ่ม และวางม้านั่งหินให้เป็นที่พักคอยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งที่ ก็คงต้องดูกันยาวๆ ว่า เมื่อ Apple Store มาตั้ง พื้นที่ตรงมุมแยกราชประสงค์นี้จะมีคนมาใช้งานมากขึ้นหรือน้อยลงเพียงใด
รายละเอียดการออกแบบที่น่าสนใจอีกอย่าง คงจะเป็น The Tree Canopy โดยเฉพาะการดัดไม้ทั้งทางสั้นและทางยาว จนเมื่อประกอบกันแล้วมีเส้นสายที่ต่อเนื่องตั้งแต่โคนเสาไป ค่อยๆ ยืดขยายขึ้นมาและแผ่ออกเป็น ceiling ทั้งหมดของร้าน และพ้นขอบกระจกใสไปเป็นชายคาอีก 3 เมตร ได้อย่างเนียนตา ทั้งหมดนี้เกิดจากการร่วมมือกับ Blumer-Lehmann AG ผู้นำด้านการก่อสร้างไม้จากสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยการนำแผ่นไม้โอ๊คที่ถูกดัดโค้งในองศาและทิศทางที่ต่างกันมาลามิเนตซ้อนกันประมาณ 6 ชั้น แล้วจึงเซาะร่องด้วยเครื่อง CNC เพื่อให้ได้ profile ไม้แต่ละชิ้นที่ไม่เหมือนกัน ท้ายที่สุดเมื่อมองในภาพรวมแล้ว จะดูเหมือนว่ามันเป็นเพียงแผ่นไม้โอ๊คทั่วไป แต่ในความเป็นจริงไม้ที่ถูกลามิเนตซ้อนกันแต่ละชิ้นได้ถูกออกแบบและคำนวณในเชิงวิศวกรรมมาหมดแล้วทั้งสิ้น
Apple Central World สาขานี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างทีม Apple, Foster + Partners และสถาปนิกในประเทศไทยอย่าง ARCHITECTS 49 LIMITED รวมถึงบริษัท F&P (Thailand) Ltd ซึ่ง art4d ได้มีโอกาสพูดคุยสั้นๆ กับ Chris Braithwaite, Senior Director of Retail and Design จาก Apple ลงลึกไปถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่ได้ไล่เรียงไว้ตรงนี้ อย่างเช่น detail ของบันไดสเตนเลส การพัฒนาแบบ The Tree Canopy ไปจนถึงทิศทางของ Apple ในการปรับตัวของ physical retail ต่อการมาถึงของ e-commerce ซึ่งทุกท่านจะได้อ่านต่อไปนี้
art4d: อยากให้คุณช่วยเล่าให้เราฟังถึง Apple Store สาขาใหม่ในกรุงเทพฯ อย่าง Apple Central World สักหน่อย ทำไมตัวงานออกแบบถึงออกมาเป็นกล่องกระจกรูปทรงกระบอกอย่างที่เราเห็นกัน แล้วเพราะอะไรพื้นที่อย่างย่านราชประสงค์ถึงถูกเลือกให้เป็นที่ตั้ง
Chris Braithwaite: แรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลัง Apple Central World เริ่มมาจากการหาพื้นที่ที่เหมาะสม เรารู้สึกมาตลอดว่าราชประสงค์นั้นเป็นหนึ่งในสี่แยกที่อาจจะเรียกได้ว่ามีความสำคัญที่สุดแยกหนึ่งของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใจกลางเมืองและเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่ายมากๆ เราจึงอยากที่จะให้พื้นที่สำหรับร้านแห่งใหม่ของเราอยู่ในบริเวณนี้ รวมทั้งเราก็รู้สึกว่าลานพลาซ่าสาธารณะบริเวณนั้นยังช่วยให้เราสามารถนำเอาวิสัยทัศน์ทางการออกแบบของ Apple เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ได้ แนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดการแสดงออกทางสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นประชาธิปไตย และนับรวมความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งพื้นที่นี้ก็ช่วยให้เราทำอะไรแบบนั้นได้เนื่องจากมันตั้งอยู่ข้างๆ ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และใกล้กับเทวสถานที่มีความหมายทางวัฒนธรรม สิ่งที่เราต้องการจะทำคือสร้างฟอร์มที่มีความเป็นพื้นที่เปิดเพื่อที่จะสามารถถูกปรับให้เข้ากับพื้นที่ได้ และบอกเล่าถึงการมีอยู่ของสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมและปราศจากอคติ แนวคิดนี้นำเราไปสู่การออกแบบอาคารกระจกรูปทรงกระบอกขึ้นเป็นครั้งแรกของแบรนด์ ซึ่งเราสร้างให้มันอยู่ใต้โครงสร้างหลังคารูปทรงต้นไม้หรือ Tree Canopy ที่แผ่ขยายออกไปโดยไม่มีเสาใดๆ มารองรับ
art4d: ช่วยเล่าถึง Tree Canopy ที่ว่านี้อีกสักหน่อยได้ไหม
CB: เราได้แรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมที่รายล้อมตัวร้านอยู่ เราอยากจะสร้างความเชื่อมโยงที่ไม่ใช่แค่ในระดับของลานพลาซ่า แต่รวมไปถึงสกายวอล์คที่อยู่ด้านบนด้วย และตัวงานออกแบบเองก็เอื้อให้เราทำอะไรแบบนั้นได้ มันเป็นความสำเร็จทางวิศวกรรมที่น่าจดจำทีเดียวในการสร้างให้เกิด Tree Canopy นี้ขึ้นมา เราทำงานใกล้ชิดกับวิศวกรจากสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเรียนรู้วิธีการที่จะติดตั้งและทำให้ไม้โค้งไปตามรายละเอียดของการออกแบบ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้นำเอาองค์ประกอบที่สำคัญอื่นๆ ของร้านค้าปลีกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน ตั้งแต่งานระบบปรับอากาศ HVAC จนถึงระบบแสงสว่าง เรายังพบวิธีการที่ช่วยให้ Tree Canopy นั้นทำหน้าที่ดูดซับและผลิตเสียง อันเป็นการจัดการกับองค์ประกอบเรื่องเสียงผ่านคุณสมบัติของวัสดุ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก
นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีโครงสร้างบันไดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญในงานออกแบบร้านของ Apple มาแต่ไหนแต่ไร ในส่วนนี้เรานำเอาวิธีการและแรงบันดาลใจมาจากงานออกแบบร้านสาขามิลาน และสาขาฟิฟท์ อเวนิว โดยเราสร้างขั้นบันไดที่วนรอบตัวโครงสร้าง Tree Canopy อย่างสวยงาม โดยมันประกอบขึ้นจากบล็อคสแตนเลสที่สร้างขึ้นเป็นชิ้นเดี่ยวๆ และยึดมันเข้ากับแม่บันไดที่ถูกซ่อนอยู่ข้างในแกนไม้ที่อยู่ใจกลางร้านอีกที ขั้นบันได้เหล่านี้ถูกจัดการให้มีมวลที่บางกว่าปกติ และมีรายละเอียดการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างผ่านการใช้เทคนิคที่ว่านี้ ถือว่าเราได้เรียนรู้อะไรมากมายเลยทีเดียวครับจากโปรเจ็คต์นี้
สิ่งสุดท้ายที่เราอยากทำกับพื้นที่นี้โดยเฉพาะก็คือความพยายามที่จะเบลอเส้นแบ่งระหว่างภายในกับภายนอกผ่านการใช้วัสดุหินชนิดเดียวกันที่บริเวณพื้น ซึ่งนั่นก็ช่วยสร้างพื้นที่ที่ดูไร้รอยต่อที่ถูกกั้นไว้แค่เพียงกำแพงกระจกของตัวอาคารทรงกระบอกเท่านั้น นอกจากนี้เรายังปลูกต้นไม้ไว้รอบๆ บริเวณร้าน และวางม้านั่งเอาไว้ระหว่างพื้นที่สีเขียวให้ตัวร้านมีความรู้สึกของความเป็นชุมชน เพื่อให้คนได้เข้ามาหลบจากความวุ่นวายจอแจของวิถีชีวิตภายในเมืองที่พวกเขาพบเจออยู่ทุกวัน
art4d: คุณเจอกับความท้าทายอะไรบ้างระหว่างขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้าง
CB: เราเจอความท้าทายมากมายตลอดเวลา เพราะเราพยายามหาทางที่จะผลักดันขอบเขตของสิ่งที่เราและคนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้ได้ทำเอาไว้ออกไปเสมอๆ อยู่แล้ว ผมอยากจะบอกว่าการออกแบบและก่อสร้าง Apple Central World นั้นเป็นไปอย่างค่อนข้างที่จะราบรื่น เราร่วมงานกับทีมงานที่ดีมากๆ ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่เราต้องเจอคือความไม่แน่นอนของเวลาที่เราเผชิญกันอยู่ในตอนนี้ รวมไปถึงแง่มุมของการขนส่งต่างๆ และการปฏิบัติงานที่จะเป็นเรื่องของการหาทางสร้างร้านขึ้นมาด้วยวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด ผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จในการทำสิ่งเหล่านั้นให้ลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินนั้นเป็นปัจจัยสำคัญมากในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยปัญหานี้ มันถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำกันอยู่ที่ Apple เลย
art4d: มีบุคลิกลักษณะอะไรของกรุงเทพฯ ที่คุณนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ Apple Central World บ้างหรือเปล่า
CB: ผมคิดว่าหนึ่งในสิ่งสำคัญที่เรานำมาพิจารณาก็คือเราอยากมั่นใจว่าเราจะมีความเคารพ และเห็นคุณค่าในความเป็นจริงที่ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว นั่นเลยเป็นเหตุผลที่นำเราไปสู่การออกแบบอาคารกระจกทรงกระบอกเพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ได้หันหลังให้กับพื้นที่ที่รายล้อมมันอยู่ เราอยากหาหนทางที่เหมาะสมในการที่จะนำเอาชีวิตที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ชั้นล่างและชั้นบนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน และผมว่าเราทำสิ่งนั้นสำเร็จได้ค่อนข้างแยบยลทีเดียว
art4d: เมื่อพูดถึงความเป็นดิจิทัลและกายภาพของพื้นที่ รวมทั้งด้วยการเติบโตของธุรกิจ e-commerce ในปัจจุบัน คิดว่าอะไรคือบทบาทที่แท้จริงของการมีอยู่ทางกายภาพของ Apple Store
CB: แน่นอนครับว่าการค้าปลีกกำลังวิวัฒน์ไป เราได้เห็นวิวัฒนาการซึ่งน่าจะเกิดขึ้นมาได้สองสามปีแล้ว และเราก็ตื่นเต้นกับมันมาก ในระดับโลก เรามีความเชื่ออย่างแรงกล้าต่อโลกที่มีการติดต่อกันได้หลายช่องทาง (omnichannel) ที่เป็นการนำเอาโลกดิจิทัลและโลกกายภาพมาเจอกัน และผมคิดว่าแต่ละโลกก็มีบทบาทที่สำคัญต่างกันไปในการให้บริการและสร้างความประหลาดใจให้กับลูกค้า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีทั้งสองโลก เวลาที่คุณมองไปที่ธรรมชาติของกรุงเทพฯในฐานะเมือง ประสบการณ์เชิงกายภาพของการจับจ่ายใช้สอยและพื้นที่ค้าปลีกนั้นยังเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเมืองในแง่ที่ว่าผู้คนมีความรู้สึกอยากค้นหาและพบเจออะไรบางอย่าง เราจึงตื่นเต้นที่จะนำเอาความเป็นดิจิทัลและกายภาพมาเจอกัน ซึ่งเมื่อผ่านเทคโนโลยีและการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเรา เราก็จะสามารถพบเจอหนทางใหม่ๆ ในการทำสิ่งที่ว่าได้ต่อไป พื้นที่อย่างกรุงเทพฯ บังคับให้เราต้องมีความคิดริเริ่มและเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ในการเดินทางนี้
art4d: Microsoft เพิ่งประกาศในช่วยปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่าจะปิดร้าน Microsoft Store ลงอย่างเป็นการถาวร ยกเว้นแค่สี่สาขาที่จะถูกสร้างขึ้นเป็นศูนย์ประสบการณ์ที่จะไม่มีผลิตภัณฑ์ขายอีกต่อไป คุณคิดเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้บ้าง
CB: คือผมว่าผมคงไม่สามารถให้ความเห็นกับเรื่องนี้ได้ มันอาจจะมีเหตุผลหลายๆ อย่างที่ทำให้ Microsoft ตัดสินใจปิดร้านส่วนใหญ่ของเขาลงไป และแน่นอนว่านั่นก็เป็นการตัดสินใจของพวกเขา เราแค่เชื่อว่าพื้นที่ร้านค้าปลีกจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ตัวมันยังมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับโลกแม้จะเป็นในระดับจุลภาค และในระดับจุลภาคนั้น เราจะต้องมั่นใจว่าเราจะยังคงความเชื่อมโยงนั้นจากมุมมองของการค้าปลีก เราเชื่อมั่นอย่างมากว่าคนเราจะอยากซื้อของทั้งทางออนไลน์และในพื้นที่กายภาพของร้านค้าด้วยเหตุผลหลายอย่าง และเหตุผลเหล่านั้นก็จะแตกต่างกันไปไม่ใช่แต่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่เป็นในระดับเมือง ไปจนถึงระดับประเทศ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ กันไป ดังนั้น ก็อย่างที่ผมบอกว่า เราตื่นเต้นกับอนาคตของพื้นที่กายภาพของร้านค้าปลีก เราเข้าใจถึงความสำคัญของโลกดิจิทัลและวิธีการที่โลกกายภาพมีปฏิสัมพันธ์กับมัน และก็เหมือนกับหลายอย่างในชีวิต การหาความสมดุลระหว่างสองสิ่งนั้นเป็นการเดินทางของพวกเราทุกคนที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อที่เราจะเจอกับดุลยภาพที่ว่าได้ในที่สุด