IT HAS LONG BEEN OVERDUE BUT THE RECENTLY REFURBISHED MODERNIST HOME OF SILPAKORN’S ARCHITECTURE SCHOOL IS EVEN MORE ‘MODERN’ NOW
TEXT: WINYU ARDRUGSA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
หลังจากต้องย้ายออกจากวังท่าพระเป็นเวลากว่า 3 ปี ชาวสถาปัตย์ศิลปากร ก็ได้ย้ายกลับเข้าสู่ถิ่นเดิมและบ้านหลังเดิมในที่สุด แม้จะตั้งอยู่ภายในรั้วกําแพงของวังเก่าตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลับเป็นงานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ปรากฏตัวขึ้นด้วยรูปทรงเรียบง่ายสีขาว มีองค์ประกอบในการต้อนรับผู้คนและการรับมือกับภูมิอากาศแสดงตัวออกมาเพียงเล็กน้อย การพัฒนาอาคารรูปแบบทันสมัยซึ่งมีอายุเกือบครึ่งศตวรรษหลังนี้เพื่อรองรับการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 21 นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ความท้าทายทั้งในมิติด้านคุณค่า การใช้สอย และบริบท ซึ่งรวมถึงข้อกําหนดการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ คือโจทย์และข้อจํากัดที่สำนักงานสถาปนิก Kanoon Studio ได้รับมาจากคณาจารย์ของคณะฯ และพยายามที่จะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างมีคุณภาพ
ย้อนกลับไปเมื่อราว 65 ปีที่แล้ว การเรียนการสอนสถาปัตยกรรมของศิลปากรได้ถือกำาเนิดขึ้นในเรือนไม้ขนาดไม่ใหญ่นัก หลังกรมศิลปากร อาคารชั้นเดียวขนาด 7 x 21 เมตรนี้มักถูกเรียกกันว่า “โรงเขียว” โดยเป็นอาคารเรียนของคณะสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาคารที่มีอยู่ไม่กี่หลังบนที่ดินขนาดเพียง 2.9 ไร่ของมหาวิทยาลัย ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรแยกตัวออกจากกรมศิลปากรและได้รับโอนพื้นที่จากหน่วยงานต่างๆ ในปี พ.ศ. 2505 ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ ได้วางแผนพัฒนาแม่บทของมหาวิทยาลัยขึ้นบนพื้นที่ราว 9 ไร่เศษ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายที่ปูทางสู่การสร้างอาคารของคณะต่างๆ อย่างเป็นเอกเทศในทศวรรษต่อมา ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ คณะสถาปัตยกรรมไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” สะท้อนการศึกษาที่เน้นแนวทางสากลนิยมมากยิ่งขึ้น
สถาปนิกผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าวังท่าพระคือ ผศ.สุริยา รัตนพฤกษ์ ศิษย์เก่าและอาจารย์รุ่นใหม่ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในเวลานั้น โดยเป็นผู้รับผิดชอบออกแบบทั้งอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2514) อาคารหอประชุมและโรงอาหาร (พ.ศ. 2516) อาคารสำนักงานอธิการบดีและหอสมุดกลาง (พ.ศ. 2518) และอาคารคณะโบราณคดี พ.ศ. (2519) แม้อาคารทั้งหมดจะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น (นับรวมถึงอาคารใหม่ของคณะจิตรกรรมฯ และอาคารคณะมัณฑนศิลป์) อันมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีของอาคารท้องพระโรง สถาปัตยกรรมตะวันตก สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคของพระตำหนักกลาง พระตําหนักพรรณราย และสถาปัตยกรรมศิลปะสติลลิเบอร์ตี้ของอาคารที่ทําการกรมศิลปากร ผลงานของอาจารย์สุริยาที่ปรากฏขึ้นกลับวางตัวอยู่อย่างสงบ โดยมุ่งรองรับการใช้สอยอันหลากหลายในพื้นที่จํากัดอย่างมีตรรกะ การแสดงตัวอย่างเรียบง่ายแต่มีชั้นเชิงด้วยองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกันทั้งหมดนี้ยังช่วยขับเน้นให้อาคารประวัติศาสตร์ต่างๆ มีความโดดเด่นขึ้น ที่สำคัญการจัดวางแนวอาคารและทางสัญจรต่างๆ ได้ช่วยรักษาความต่อเนื่องและเปิดพื้นที่โล่งในบริเวณต่างๆ ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่งของชาวศิลปากร 4 คณะวิชาด้วย
สำหรับการออกแบบอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์สุริยาเคยกล่าวว่าได้ให้ความสำคัญกับแนวคิด “จุดศูนย์ถ่วง” โดย “…ในทางสถาปัตยกรรม อาคารควรจะมีการถ่วงสมดุล ไม่ใช่แค่ center มันต้องเป็น center of gravity คือคุณถ่วงได้ทุกทิศเหมือนทำโมบายล์ และถ้าเผื่อคุณหาจุดศูนย์กลางของการใช้งานได้ อันนี้คือความสมบูรณ์แบบของอาคารทุกประเภททุกชนิด” ซึ่งแนวคิดนี้ได้ปรากเป็นโถงบันไดเวียนสีแดงสูง 6 ชั้นที่วางอยู่ ณ ใจกลางผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีด้านยาวขนานไปกับแกนทิศตะวันตก-ตะวันออก ในทางดิ่ง การวนขึ้นของบันไดถูกวางให้สัมพันธ์กับช่องหน้าต่างทางทิศเหนือที่เปิดสู่กลุ่มเรือนหลังคาสถาปัตยกรรมไทยในวัดมหาธาตุ ที่บริเวณชั้นล่าง โถงบันไดนี้เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกับ canopy ทางทิศใต้ซึ่งเป็นทางเข้าที่ลอยตัวเหนือบ่อน้ำ เชื่อมกับลานหน้าอาคารและลานศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ส่วนทางทิศเหนือได้เปิดเป็นทางเข้ารองจากตรอกพระยาเพชรและที่จอดรถด้านหลัง สำหรับรูปทรงอาคารสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นและการใช้สอยเฉพาะอย่างในพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้นำมาซึ่งการออกแบบเปลือกอาคารที่มีความเป็นประติมากรรม เช่น แผงกันแดดทางตั้ง กันสาดทางนอน ราวระเบียง และแม้แต่ผนังที่ยื่นออกมาเพื่อให้มีตู้เก็บของสำหรับนักศึกษาด้านใน
ภายหลังทศวรรษที่ 2510 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของกลุ่มอาคารรูปแบบทันสมัยในวังท่าพระนี้ อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยมาเป็นลำดับ ซึ่งส่วนมากเป็นไปเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย จนกระทั่ง พ.ศ. 2559 เมื่อทั้งวิทยาเขตได้รับงบประมาณปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่ โดยนอกเหนือจากข้อกำหนดที่จะต้องไม่เกิดการต่อเติมเกินเลยขอบเขตอาคารเดิมตามข้อกำหนดของเกาะรัตนโกสินทร์แล้ว ข้อคำนึงสำคัญในการปรับปรุงอาคารโดยทีมสถาปนิกจาก Kanoon Studio คือการสร้างสมดุลระหว่างการเสริมศักยภาพให้กับอาคารในด้านการใช้สอยและการคงอัตลักษณ์งานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นชิ้นนี้ไว้ ซึ่งภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ แนวคิดหลักคือการผลักดันให้ศูนย์กลางของการเชื่อมต่อในส่วนล่างของอาคาร ได้แก่ บันไดเวียน และพื้นที่ซึ่งเกาะกลุ่มอยู่โดยรอบ มีพลวัตมากยิ่งขึ้น ทั้งด้วยการสร้างความต่อเนื่องกับพื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย และการรองรับการใช้สอยที่หลายหลาก รวมถึงการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (inclusive design) ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวคิดของผู้ออกแบบเดิม
ในด้านความสัมพันธ์กับพื้นที่ภายนอก สถาปนิกพยายามเปิดโอกาสให้เกิดการไหลเข้าออกของกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ที่บริเวณหน้าอาคารส่วนทิศตะวันตก โดยเสนอให้ลานประติมากรรมซึ่งแบ่งเป็นขั้นๆ จนเกิดระดับที่แยกออกจากพื้นที่ภายในหอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตรให้กลับกลายเป็นพื้นเรียบ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่เอนกประสงค์ด้านในได้ตลอดระยะ 1 เมตร ของแผงชุดประตูบานเฟี้ยมเหล็ก-กระจก ในขณะที่บริเวณปลายอาคารด้านทิศตะวันออก สถาปนิกปรับลานขนาดเล็กที่แทรกตัวอยู่ระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และอาคารคณะจิตรกรรมฯ ให้มีบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น โดยยื่นชายคากันแดดทางนอนจากระดับพื้นชั้น 3 เพื่อช่วยสร้างการปิดล้อมทางด้านบนตลอดความยาว 23 เมตร พร้อมกับการเปลี่ยนแนวช่องเปิด ribbon window เดิมเป็น curtain wall สูง 2 ชั้น เพิ่มแสงสว่างและการเชื่อมต่อทางสายตาจากพื้นที่สวนขนาดย่อมนี้สู่ห้องนักศึกษาปริญญาโท-เอก ศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย และสำนักงานของคณะฯ สำหรับห้องปฏิบัติการบนชั้นดาดฟ้า การปิดล้อมด้วยผนังกระจก 2 ด้าน ซึ่งมีความยาวรวมกันเกือบ 50 เมตร ได้เปิดรับกับทิวทัศน์ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและเมืองเก่าภายนอก
การเพิ่มระดับความเข้มข้นของการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมและบริบทยังได้ถูกวางไว้ในชั้นที่ 2 ของอาคารด้วย สถาปนิกย้ายห้องพักย่อยๆ ของบรรดาอาจารย์ซึ่งอยู่เหนือหอศิลป์มาแต่เดิมขึ้นไปรวมกันไว้ในชั้นที่ 3 โดยสลับกับส่วนห้องคอมพิวเตอร์ จากนั้นได้ดึงเอาห้องสมุดที่เดิมซ่อนตัวอยู่ปลายฝั่งตะวันออกของอาคารชั้นล่างขึ้นมาแทนที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการรวมกิจกรรมเป็น ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม อันประกอบด้วย media library และ computer lab ที่เชื่อมต่อกันได้ พื้นที่ใช้สอยของนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นนี้วิ่งขนานไปกับลานและแนวต้นไม้ใหญ่หน้าอาคารฝั่งทิศใต้เป็นระยะ 24 เมตร โดยมีมุมมองที่เชื่อมต่อไปยังลานกิจกรรมหน้าอาคารเรียนรวม ร้านกาแฟ และสนามบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัย ผ่านผนังกระจกและเคาน์เตอร์ที่ถูกผลักเข้าไปไว้ในช่องของครีบกันแดดทางตั้ง ในขณะที่ทางเดินฝั่งทิศเหนือวิ่งขนานไปกับแนวหลังคากุฏิวัดมหาธาตุ สำหรับด้านซึ่งติดกับโถงบันไดเวียน ผนังทึบได้ถูกเปลี่ยนเป็นกระจกผืนใหญ่เพิ่มการเชื่อมต่อทางที่ว่างกับทางสัญจรขึ้นลงรูปทรงประติมากรรมนี้
ในส่วนของห้องปฏิบัติการหรือสตูดิโอ ซึ่งเป็นหัวใจของโรงเรียนสถาปัตยกรรมทุกแห่ง ความยืดหยุ่นของพื้นที่ในการรองรับการนำเสนองานแบบต่างๆ การทำหุ่นจำลองขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การขยายแบบ 1:1 เป็นประเด็นสำคัญ แต่เมื่อห้องปฏิบัติการในชั้นบนๆ ของอาคารหลังนี้มีจำนวนน้อยลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหลักสูตรและห้องขนาดเล็กต่างๆ สถาปนิกจึงปรับห้องปฏิบัติการที่เหลืออยู่ให้โปร่งและเป็นกลางมากที่สุด โดยนอกจากผนังที่เคยถูกผลักออกไปจนเกือบถึงริมคานด้านนอกก่อนหน้านี้ สถาปนิกได้ปรับส่วนยื่นของพื้นที่ตู้เก็บของชั้น 4 และ 5 ซึ่งมีเพดานเอียงและผนังเตี้ยให้ตั้งตรงขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของห้องปฏิบัติการได้เต็มช่วงความสูง ในส่วนชั้นที่ 6 สถาปนิกเติมพื้นดาดฟ้าเหนือส่วนยื่นดังกล่าวเพื่อขยายพื้นที่ของห้องปฏิบัติการใหญ่พร้อมกับรื้อผนังเบากั้นแบ่งสตูดิโอย่อยๆ ออกจนได้พื้นที่โล่งเกือบ 300 ตารางเมตร นอกจากนี้ เมื่อมองกลับมาที่ชั้นล่างของอาคาร กำแพงภายในได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งเสริมการใช้งานพื้นที่อย่างหลากหลาย โดยในส่วนของหอศิลป์ ผนังยาวประมาณ 20 เมตร สามารถรองรับการฉายภาพได้พร้อมกัน ในขณะที่ห้องปฏิบัติการซึ่งอยู่เยื้องไปด้านในมีผืนกระดานดำสำหรับการเขียนลายไทยยาวต่อเนื่อง 8 เมตร ที่วางอยู่ด้านหลังแผงบานเฟี้ยมเหล็กสำหรับติดผลงานนำเสนอ แนวผนังกั้นแบ่งหลายส่วนยังซ่อนพื้นที่เก็บของไว้ภายในเพื่อให้พื้นที่ด้านหน้าปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างสะดวก
อาจกล่าวในภาพรวมได้ว่างานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่อาจารย์สุริยาได้ออกแบบไว้ในวังท่าพระชิ้นนี้น่าจะยังคงเป็นบ้านที่อบอุ่นของชาวสถาปัตย์ศิลปากรเช่นเดิม แน่นอนว่าตัวอาคารมีภาพลักษณ์ที่โปร่งเบาขึ้น แต่นอกจากนั้นแล้ว การปรับปรุงโดย Kanoon Studio ไม่ได้ทำให้บ้านหลังนี้มีรูปโฉมที่เปลี่ยนไปมากนัก ชายคาผืนใหญ่ที่ต่อยื่นออกมาเหนือห้องปฏิบัติการชั้น 6 ได้คงภาพสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นให้ชัดเจนอยู่ แม้องค์ประกอบบางส่วน เช่น ช่องโล่ง พื้นยื่น หรือครีบกันแดดต่างๆ จะต้องกลายเป็นพื้นที่การใช้สอยก็ตามรูปร่างหน้าตาอาคารใหม่ในปัจจุบันยังมีระบบระเบียบที่แปรผันตามกิจกรรมภายใน ทั้งช่วยรักษาให้อากาศยังคงถ่ายเทได้ดีและมีแสงสว่างสาดส่องเข้ามาได้ การโยกย้ายพื้นที่บางส่วนนั้นก็ช่วยส่งเสริมแนวคิด “center of gravity” ท้ายที่สุด การปรับหรือเพิ่มองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในหลายส่วนดูจะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ หากเราเชื่อว่าการออกแบบงานสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้นคือการสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ อย่างจริงจังแล้ว อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งนี้ก็ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้อยู่ไม่น้อย
ในความเป็นจริงแล้ว โครงการปรับปรุงวังท่าพระของมหาวิทยาลัยศิลปากรครั้งนี้ยังไม่แล้วเสร็จดี ยิ่งในส่วนของอาคารเก่าแก่อาจจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แต่เมื่อมองถึงการให้ความสำคัญกับพื้นที่ปฏิสัมพันธ์และการเชื่อมต่อจากบริเวณส่วนชั้นล่างๆ ของอาคารหลังต่างๆ สู่พื้นที่โดยรอบที่กําลังดำเนินอยู่เช่นเดียวกับอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แล้ว บรรยากาศที่มีชีวิตชีวาของสถาบันด้านศิลปะและการออกแบบแห่งนี้น่าจะกำลังค่อยๆ กลับมาด้วยความเข้มข้นที่มากขึ้นอีก ถือเป็นโชคดีที่ไม่มีชาววังท่าพระรุ่นไหนต้องระหกระเหเร่ร่อนนานเกินไปจนไม่มีโอกาสได้กลับมาเรียนที่นี่