WHAT A LUCKY BIRD

IN ADDITION TO ADDING A UNIQUE ENERGY TO THE TYPICAL OFFICE, FATTSTUDIO TOLD ART4D THAT THE DESIGN CHALLENGE THEY FACED FOR HAPPYNEST WAS THE UNCONVENTIONAL CONDITION WHERE THEY BECAME THE PROJECT’S ARCHITECT AT THE TIME WHEN 4 FLOORS OF THE BUILDING WERE ALREADY FULLY CONSTRUCTED

TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: PANORAMICSTUDIO

(For English, press here)

หลังจากติดตามงานออกแบบของ FATTSTUDIO มาพักหนึ่ง หลายโปรเจ็คต์ทีเดียวที่เป็นงานรีโนเวท ทั้งโปรเจ็คต์ DON DON ร้านอาหารย่านอารีย์ในปี 2018 หรือ งานรีโนเวทบ้าน / คอนโด ในปีก่อนหน้านั้น เมื่อมีโอกาสสัมภาษณ์ วัทธิกร โกศลกิตย์ เกี่ยวกับโปรเจ็คต์ออฟฟิศ Happynest ที่ตั้งโดดเด่นสะดุดตาอยู่ริมถนนมอเตอร์เวย์สายตะวันออก เราจึงถามไปว่า ปกติถนัดงานรีโนเวทใช่ไหมครับ? 

“เปล่าครับ ผมว่ามันเป็นกรรมมากกว่า” วัทธิกร ตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเสริมว่าอันที่จริงแล้วการรีโนเวททำให้พวกเขาชินกับการทำงานที่มี ข้อจำกัด ข้อแม้ เงื่อนไข ข้ออ้าง ฯลฯ “ยิ่งลูกค้าคนไหนเรื่องมาก มีความต้องการเยอะ ผมยิ่งชอบ” 

เงื่อนไขแรกของโปรเจ็คต์ Happynest นี้คือการกระโดดเข้าไปทำงานตอนที่โครงสร้างอาคารทำเสร็จไปแล้วถึง 4 ชั้น จาก 6 ชั้น วัทธิกรบอกกับ art4d ว่า วันแรกที่เข้าไปถึงไซต์เขากลุ้มใจอยู่นานทีเดียว ก่อนจะลงมือจัดแจงว่าส่วนไหนควรหยุดสร้าง ส่วนไหนสร้างต่อได้ และลองเสนอไอเดียให้เจาะพื้นบางส่วนเพื่อสร้างความต่อเนื่องทางสายตาระหว่างชั้น อย่างไรก็ดี คำขอนี้ไม่เป็นผลด้วยเหตุด้านงบประมาณการก่อสร้าง 

ข้อที่สองคือจำนวนพนักงานที่ไม่คงที่ Happynest เป็นอาคารสำนักงานของบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านปศุสัตว์ ผู้พัฒนา ผลิต และจำหน่ายอาหารและยาให้กับฟาร์มปศุสัตว์แก่บริษัทใหญ่ทั้งในไทยและต่างชาติ พนักงานประจำอยู่ในออฟฟิศประมาณ 40 คน แต่จะมีอยู่ 4 วัน ใน 1 เดือน ที่กลุ่มเซลล์ที่ออกไปทำงานนอกสถานที่จะกลับเข้ามาในออฟฟิศ และทำให้จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 140 คน ชั่วข้ามคืน “คือเหมือนกับนกที่บินกลับรังนะครับ นี่คงเป็นเหตุที่เขาใช้ชื่อโครงการว่า Happynest”

FATTSTUDIO แบ่งพื้นที่ส่วนสำนักงานออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ชั้น 1 ฝ่ายบัญชีเป็นส่วนที่ดูเป็น typical office มากที่สุด ชั้น 2 เป็นพื้นที่ของฝ่ายจัดซื้อและกลุ่มห้องประชุม ส่วนชั้น 3 จะเป็นแล็บทดลองยา และพื้นที่เปิดโล่งกึ่งๆ co-working space สำหรับการเยือนออฟฟิศเป็นเวลา 4 วันของ แก๊งเซลล์ 100 คน

“เดิมทีบริเวณชั้น 2 ถูกออกแบบให้แบ่งเป็นห้องผู้บริหาร / ห้องไดเร็คเตอร์ / ห้องจูเนียร์ กั้นเป็นห้องๆ แต่เราตัดสินใจเอาทุกคนมานั่งอยู่ที่เดียวกันหมดเลย” วัทธิกร กล่าวว่า พวกเขาตัดสินใจทำ open space อย่างมีเหตุผล (ทางจิตวิทยา) รองรับ พื้นที่ของฝ่ายจัดซื้อถูกกำหนดให้อยู่ใจกลางพื้นที่ติดกันกับโต๊ะของไดเร็คเตอร์ ความเป็นสัดเป็นส่วนที่ลดลงทำให้ไดเร็คเตอร์สอดส่องการทำงาน (โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถัดมาจะเป็นเคาน์เตอร์ลอยตัวกลางพื้นที่ ที่มีฟังก์ชั่นเป็นพื้นที่พักคอย ให้เซลล์ที่เดินตรงลงมาจากชั้น 3 ได้ตระเตรียมเอกสาร ทีมบัญชีขึ้นมาจากชั้นหนึ่ง ก่อนเข้าห้องประชุมย่อยกับทีมงานฝ่ายจัดซื้อ

เมื่อโครงสร้างเสร็จไปแล้ว 4 ชั้นก่อน FATTSTUDIO จะมาถึง งานอินทีเรียจึงเป็นงานหลักของโปรเจ็คต์นี้ วิธีง่ายๆ ที่จะสังเกตว่าส่วนไหนคือของเดิมหรือส่วนไหนเป็นงานออกแบบของ FATTSTUDIO คือ “ถ้าอันไหนเป็นปูนเปลือยๆ อันนั้นผมไม่ได้ทำ” เป็นโชคดีของพวกเขาที่เข้าไป involve ทันเวลาก่อนที่ช่างจะเริ่มก่อบันได บันไดเหล็กสีขาวโปร่งที่ไม่มีลูกตั้งช่วยลดความทึบตันของอาคารได้ค่อนข้างดี ไอเดียที่ FATTSTUDIO ใส่เข้าไปในจุดต่างๆ ปรับบุคลิกของ Happynest ให้ดูเป็นออฟฟิศวัยรุ่นมากทีเดียว วัทธิกร บอกกับ art4d ว่า ถึงแม้สเปซจะดูขาวคลีนสว่าง แต่อันที่จริงมันยุบยับไปด้วยองค์ประกอบมากมาย 

“ชั้น 1 มันมีทั้งซุ้มประตูไม้ ในห้องครัวมีโคมไฟจมูกหมู ชานพักบันไดเรายังมี sculpture สัตว์นำโชคนูนสูงติดบนผนัง ล็อบบี้แมสเซนเจอร์ก็มี sculpture อีกชิ้น ทั้งหมดนี้มันทำลายมาดเท่ๆ ไปหมดแล้ว พอเราคุมให้มัน minimal สุดๆ ไม่ได้ มันเลยต้องมีองค์ประกอบบางอย่างเติมเข้ามา” เราขอเรียกว่าการเกลี่ยให้ทั้งสเปซมีความ “เยอะ” ในปริมาณเท่าๆ กัน ผ่านการสร้างแพทเทิร์นบนพื้นที่นำสายตาไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ แม้กระทั่งชั้น 2 ที่เต็มไปด้วยโมทีฟของเส้นโค้งจากซุ้มทางเข้าห้องประชุมชั้น 2 ที่พวกเขาให้เหตุผลอยู่สองข้อคือ หนึ่ง – มันมีที่มาจากความโค้งของผ้าใบที่ขึงไว้สำหรับติดตั้ง indirect light ในห้องประชุม และสอง – “ไม่โค้งไม่มีแรงเดินอะครับ (หัวเราะ)” ก็ยังมีแพทเทิร์นบนพื้นคอยกำกับทิศทางการเดินอยู่ “ซึ่งเส้นสายที่ว่านี้ รวมถึงความโค้งมันก็ยังไป repeat จังหวะของ façade ของอาคารอีกทีหนึ่ง”

อันที่จริงแล้ว façade คืองานส่วนแรกของโครงการที่ FATTSTUDIO ออกแบบ พวกเขาเรียกดีไซน์กล่องอะลูมิเนียมซี่ๆ นี้ว่าดีไซน์แบบ “ถูกและดี” สามารถช่วยกรองแดดได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นทางเดินเซอร์วิสรอบอาคาร และสถาปนิกยังคิดเผื่อไว้ว่าในอนาคตเจ้าของโครงการอาจจะสนใจปลูกต้นไม้ให้มีใบไม้สีเขียวแซมออกไปนอกซี่อะลูมิเนียมเพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับอาคารกล่องสีขาวหลังนี้

   

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การทำงานที่แม้จะต้องแข่งกับเวลา แข่งกับความแตกต่างในด้าน generation (การพรีเซนต์ส่วนมากทำโดยการตัดโมเดล) พวกเขาก็ยังไม่วายใช้เวลาพูดคุยสอบถามความต้องการของผู้ใช้งานอาคารค่อนข้างมาก “ผมเรียกว่ากระบวนการปรับทุกข์ ไดเร็คเตอร์อีกคนของเราจบด้านจิตวิทยามาครับ เราเลยเชี่ยวชาญในด้านการนั่งฟังปัญหา”

เป็นที่มาของของเคาน์เตอร์ตัวยาวในห้องครัว “วัฒนธรรมองค์กรนี้คือชอบตำส้มตำ กับกินหมูกระทะในออฟฟิศ พนักงานเขาชอบเอาอาหารมาแชร์กัน เราเลยทำเคาน์เตอร์ที่ยาวมากๆ แบบตำส้มตำได้แน่ๆ” วัทธิกร บอกกับ art4d ก่อนจะกล่าวถึง ห้องปริ้นเตอร์บริเวณชั้น 1 และผนังภายนอกที่กรุด้วยชั้นวางแฟ้มเอกสารสูงจากพื้นจนถึงเพดานที่คำนวณมาแล้วว่ารองรับการเก็บเอกสารทั้งปีได้สบายๆ ซึ่งช่วยเก็บเสียงปริ้นเตอร์ (ที่ดังมากๆ) ไปในตัวว่า “มัน old school มากๆ ในยุคที่ใครๆ ก็ใช้ digital file กันหมดแล้ว ตอนตรวจแบบเราก็ต้องไปนั่งถามพี่ๆ บัญชีว่า พี่ๆ มีปัญหาอะไรไหมครับ คือเขาอยากได้ชั้นวางแฟ้มไง ไม่ใช่ว่าเราจะไปเปลี่ยนให้เขาเลิกปริ้นต์เอกสาร” สิ่งที่พวกเขาภูมิใจที่สุดในโปรเจ็คต์คือ เมื่ออาคารเปิดใช้งานจริงแล้วพักใหญ่ๆ ชั้นวางพวกนี้ถูกใช้งานตามที่พวกเขาตั้งใจไว้ และที่สำคัญคือจนถึงตอนนี้ออฟฟิศก็ยังไม่รก!

fattstudio.com
fb.com/fattstudioarchitect

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *