FROM THE NEW GALLERY BUILDING TO THE FORTHCOMING ART EXHIBITIONS, GRIDTHIYA GAWEEWONG, A CURATOR FROM JIM TOMPSON ART CENTER, SHARES AN UPDATE ON HER RECENT PROJECTS
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF GRIDTHIYA GAWEEWONG EXCEPT AS NOTED
PORTRAIT: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
หลังจากเปลี่ยนสถานะมีคำนำหน้าเป็นด็อกเตอร์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กฤติยา กาวีวงศ์ ยังคงแอคทีฟในแวดวงศิลปะร่วมสมัย และทำนิทรรศการขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการ “Patani Semasa” ที่ใหม่เอี่ยม (ช่วงกำลังส่งธีสิสพอดี) กวางจูเบียนนาเล่ รวมถึงโชว์ของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ออกตระเวนแสดงไปทั่วโลกจนกระทั่งไปจบที่ไทเป จากนั้นก็เข้าช่วงโควิดระบาดพอดี
“ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปมากเลย ได้สอนหนังสือเยอะขึ้น มีเพื่อนชวนไปสอนหนังสือออนไลน์ ได้ไปร่วมเปิดโรงเรียนกับเพื่อนชื่อ The Alternative Art School (thealternativeartschool.net) ไอเดียมันมาจากเพื่อนๆ ที่เป็นศิลปินและคิวเรเตอร์ที่อยู่ที่อเมริกา บอกว่าทุกวันนี้ art school มันแสนจะแพงแล้วคนมัน afford ไม่ได้ มีคนที่อยากเรียนมาเรียนในราคาไม่แพงมาก เขาเลยชวนให้มาสอนด้วย มีจากบราซิลอีกคนนอกนั้นอยู่อเมริกา เราสอนวิชา alternative art history ในอเมริกามันไม่มี art history ที่มาจากที่อื่น อาจจะมี Japanese หรือ Chinese art history แต่มันก็คือโบราณมากนะ ปกติถ้ามองจากฝั่งตะวันตกจะเน้นเป็นแบบ white man art history คือเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายผิวขาว สอนโดยผู้ชายผิวขาวเป็นหลัก”
เรานัดคุยกันที่ The Jim Thompson Art Center ซึ่งตัวอาคารใหม่เสร็จเรียบร้อยเกือบ 100% แล้ว ยังเหลืองานเก็บรายละเอียดอีกเพียงเล็กน้อย ส่วนกำหนดการเปิดเป็นทางการคงต้องดูสถานการณ์ไวรัสระบาดคลี่คลายลงเสียก่อน กฤติยาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจ็คต์นี้ให้ฟังว่า “จริงๆ มันเริ่มมานานแล้วนะ คือทุกครั้งที่บอร์ดเค้าอยากจะทำตึกนี้มันจะเจออุปสรรคทางการเมืองตลอด มีประท้วงทางการเมืองตลอด ทำให้ชะงัก จนในที่สุดทางบอร์ดก็ได้ตัดสินใจทำจนได้ ช่วงก่อนที่โควิดจะเกิดนี่ ส่วนบ้านไทยของเรามีคนเข้าเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นคนจะทะลักเข้ามา บางทีต้องรอเป็นชั่วโมง ที่ทางมันเริ่มคับแคบ เลยคิดว่าจะสร้างตึกใหม่พร้อมกับที่จอดรถใหม่ซึ่งของเดิมมันไม่พอ แล้วก็จะได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมอย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย”
พอเริ่มเคาะให้ทำโครงการใหม่ ทางบอร์ดบริหารได้เลือก Design Qua หรือ มาลินา ปาลเสถียร มาทำหน้าที่สถาปนิกโครงการ “จริงๆ สถาปนิกมาจากทางบอร์ดตัดสินใจ และมาลินาเองก็เป็นเพื่อนของอีริค (Eric Booth) ความน่าสนใจคือตึกเดิมก็เป็นสถาปนิกที่เป็นผู้หญิงคือ อาร์ (สะคราญ ปุญญทลังค์) ตอนอีริคทำโครงการส่วนตัว “ใหม่เอี่ยม” ก็ใช้ อาจารย์รชพร ชูช่วย พอมาตึกนี้เราว่ามาลินาก็น่าสนใจ เพราะเป็นคนไม่เคยทำอะไรใหญ่ๆ มาก่อน บอร์ดค่อนข้างให้โอกาสคน เหมือนอย่างเราก็ได้โอกาสทำงานมาตั้งแต่เด็กๆ”
“เราก็เล่าให้มาลินาฟังว่า กิจกรรมเราทำอะไรบ้าง เราต้องการอะไร ตัวแกลเลอรี่สเปซ ออฟฟิศ ห้องมัลติฟังก์ชั่น มิวเซียมช็อป และอื่นๆ มันก็ได้หน้าตาออกมาประมาณนี้เสร็จแล้วมันยังต้อง sustain ด้วย มันต้องเป็นที่ทำให้คนมาเจอกัน คือกรุงเทพฯ มันไม่มีที่ที่ไม่ต้องมา pressure ว่าต้องซื้อของ อย่างพื้นที่อาร์ตสเปซข้างข้างบ้านเราเนี่ย (BACC) มันยังไม่ค่อยเป็น community gathering มากเท่าไหร่ ที่นี่มีที่สำหรับคนที่อยากนั่งทำงานเงียบๆ อย่างในห้องสมุด หรือนั่งชิลล์ๆ แบบร้านกาแฟ มันมีพื้นที่ให้เลือก”
สำหรับกฤติยาในฐานะ Artistic Director ของโครงการ สิ่งที่สถาปนิกนำเสนอออกมาก็ตอบโจทย์ความต้องการด้านพื้นที่ได้ดี และยังมีมิติต่าง ๆ ที่น่าสนใจ “ส่วนที่ชอบก็คือ open space ชั้นสามที่มองเห็นทั้งตึก มีมุมเล็กๆ ที่มองเห็นบ้านไทยด้วย มันเชื่อมระหว่างบ้านไทยกับที่นี่ ตัวตึกเองมันเป็น statement ของ Art Center ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของความเป็น Thainess สมัยก่อนคนเดินเข้ามายังไงมันก็มีหน้าตาเป็นไทย แต่พอตึกมีหน้าตาแบบนี้มันค่อนข้างจะตัดขาดความเป็นไทยพอสมควร ในขณะเดียวกันมันก็มีระยะห่างของเวลาจากอดีตมาปัจจุบัน และส่งสัญญาณว่าเราจะไปข้างหน้านะ ซึ่งมันจะแสดงออกในโชว์แรก”
โชว์แรกที่ว่าของ Art Center แห่งใหม่นี้จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเป็นงานเชิง documentary กับอีกส่วนเป็น archive “ส่วน archive มีส่วนที่เราดูแลเองส่วนหนึ่งพวกรูปภาพ เอกสาร บางส่วนเป็น confidential เช่น จดหมาย ข้อมูลการประชุมบอร์ดต่างๆ เราเอาทั้งหมดมากองแล้วนั่งสังคายนา โดยมี Bruno Lemercier, senior conservator เป็นผู้ดูแลหลัก เรามาช่วยจัดหมวดหมู่ อันไหนเปิดเผยได้ อันไหนเปิดเผยไม่ได้ เนื่องจากเรามีของเยอะมากเราแสดงเป็นชาติก็ไม่หมด เราต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่าโชว์แรกเราจะเล่าอะไรดี” กฤติยาเล่าต่อว่า “คนส่วนใหญ่รู้จัก จิม ทอมป์สัน มากที่สุดก็คือเรื่องที่เขาหายตัวไป กับเรื่องกิจการทำผ้าไหม ซึ่งอันที่จริงยังมีมุมอื่นๆ อีก ทางทีมตัดสินใจที่จะเล่าเรื่องของเขาเกี่ยวกับ culture และ art ซึ่งจะเล่าผ่านงานภาพถ่าย และงานเอกสารซึ่งอยู่ใน archive นั่นเอง อาจจะมีงาน textile บ้างบางส่วนที่เค้าทำช่วงแรก เราได้ชื่องานแล้วนะคือ News from Yesteryear (ข่าวจากอดีต)”
ส่วนห้องใหญ่เตรียมไว้สำหรับนิทรรศการ Future Tense ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรบ้างเพราะตอนนี้ยังอยู่ในระหว่าง Call for Entries “เพราะเราอยากจะเปลี่ยน คือพอเราย้ายมาตึกใหม่คนถามว่ามันต่างจากอันเก่าอย่างไร เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าจาก chapter เก่าที่มันเคยอยู่ตรงนั้นตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2010 กว่าๆ จนได้ปิดตัวลงกระทั่งเกิด COVID-19 เมื่อก่อนคนรู้สึกว่ามันเข้าถึงได้ยาก ทุกอย่าง exclusive มาก ไม่ก็เป็น by invitation only อะไรอย่างนี้ ซึ่งตอนนี้เราว่ามันไม่เวิร์ค เราก็ขอให้ mission ใหม่ของเราต้อง inclusive มากขึ้นแล้วก็ไปข้างหน้า ต้องพูดถึงอนาคตในขณะเดียวกันเราก็ยังรู้ว่าเรามาจากไหน เราอยากพูดถึงอดีตอีกแบบหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องสงครามเย็น”
ทำไมต้องเป็น สงครามเย็น น่ะหรือ? “มันไม่ใช่แค่สิ่งที่เรามีอยู่คือในแง่ของ sentiment ของสังคม ทุกคนมองว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่ทั้งหมดทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง หรือในแง่ของโครงสร้างมันเหมือนเป็นซากของสงครามเย็น หรือที่บางคนเรียกว่าเป็นช่วง Americanization ของเมืองไทย จะมีองค์กรไหนที่สามารถพูดถึงเรื่องสงครามเย็นได้เท่ากับ Jim Thompson ในช่วงที่ลุงจิมหายตัวไปมันเป็นช่วงพีคของสงครามเย็นพอดี ก่อนที่มันจะเข้าสู่ช่วงสงครามเวียดนาม”
นอกจากเมืองไทยแล้ว สำหรับโชว์นี้ทาง The Jim Thompson Art Center ยังเปิดรับ proposal จากทั่วโลกด้วย “แต่ถึงอย่างไรเราก็ไม่ได้มีเงินมากนัก เราเลยเขียนใน Call for Entries เลยว่าเราอยากให้มันสามารถเป็น digital transfer ได้ ซึ่งมันอาจจะมาในรูปของวิดีโอหรือหนังอะไรก็ได้พอเปิดไปได้ซัก 2-3 วัน มีคนต่างชาติส่งเข้ามาเยอะมีทั้งจาก เยอรมัน ไนจีเรีย… คือเขาตามจาก Instagram ของเรา”
นิทรรศการ Future Tense จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไรนั้น กฤติยาเองก็ยังไม่รู้ แต่ความน่าสนใจของกระบวนการคัดสรรผลงานในครั้งนี้ยังอยู่ที่คณะคิวเรเตอร์รับเชิญ อันประกอบไปด้วย Grace Sambah (Indonesia) Kathleen Ditzig (Singapore) Vuth Lyno (Cambodia) และ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ของไทย ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นคิวเรเตอร์ที่กำลังแอคทีฟ มากอยู่ในภูมิภาคนี้มาช่วยกันคัดเลือกผลงาน โดยมี กฤติยา และ David Teh ทำหน้าที่เป็น facilicator ร่วม Future Tense จึงนับเป็นนิทรรศการเปิดตัว Art Center แห่งใหม่ที่มีความขลังเอาเรื่องอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณให้กับวงการศิลปะบ้านเรา และ South East Asia ด้วยว่าสถานที่แห่งนี้สามารถเป็น playground อีกแห่งของพวกเขาโดยเฉพาะเหล่าคิวเรเตอร์รุ่นใหม่ จะได้มีสถานที่ปล่อยของอีกแห่งหนึ่ง ที่จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้มีที่ให้พวกเขาเล่นเยอะนักในภูมิภาคนี้
(Future Tense ขยายเวลา deadline Call for Entry ถึง 10 May 2021)