DHARMASHRAM

WITH THE USE OF COLORS AND DESIGN, DECA ATELIER COMPLETES DHARMASHRAM AS A PLACE FOR ‘SIMPLE HAPPINESS, MINIMAL LIVING’

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่เสถียรธรรมสถานก่อตั้งขึ้นมา พร้อมทำหน้าที่ช่วยโอบอุ้มและเยียวยาผู้คนที่รู้สึกป่วยทางใจ ตลอดระยะเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน เสถียรธรรมสถานก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกิจกรรมที่มีอยู่ภายในและจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มมากขึ้นและหลากหลายขึ้น ถึงการเติบโตจะเป็นสัญญาณที่ดีของโครงการ แต่ก็เกิดปัญหาตรงที่สิ่งอำนวยความสะดวกที่เคยมีอยู่เดิมอย่างเช่นอาคารพักอาศัยเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางโครงการจึงมีแนวคิดริเริ่มสร้างอาคารพักอาศัยในชื่อ ‘ธรรมาศรม’ ขึ้น เพื่อรองรับคนหลากหลายประเภทและหลายช่วงอายุที่เข้ามาทำกิจกรรมในโครงการ

อาคารธรรมาศรม เป็นอาคารที่ออกแบบโดยคุณสมชาย จงแสง สถาปนิกจากสตูดิโอ DECA ATELIER ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘สุขง่าย ใช้น้อย’ ซึ่งก็คือการออกแบบพลังงานให้ประหยัดพลังงาน เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และดูแลรักษาง่าย จุดเด่นหนึ่งของอาคารที่สะท้อนหลักความคิดนี้ได้อย่างดีคือ façade อิฐบล็อกโดยรอบของอาคารซึ่งช่วยกรองแสงแดดและความร้อน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดรับลมให้ไหลผ่านได้ผ่านรูของอิฐบล็อก ตอบโจทย์เรื่องการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้อิฐบล็อกก็ยังช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยข้างใน และบดบังทัศนียภาพไม่สวยงามที่เกิดขึ้นภายในอาคารอย่างเช่นการตากผ้าอีกเช่นกัน

   

Photo courtesy of DECA ATELIER 

ตัว façade อิฐบล็อกของอาคาร ยังมีความพิเศษที่ลวดลายของอิฐบล็อกที่ได้รับการออกแบบจากมิตรสหายดีไซเนอร์หรือศิลปินของสถาปนิก อย่างเช่น กรกต อารมย์ดี ดีไซเนอร์ผู้โด่งดังจากการสร้างงานดีไซน์จากไม้ไผ่, จรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ, ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกจาก CASE Studio พร้อมทั้งศิลปินและดีไซเนอร์คนอื่นรวมกว่า 8 คน แต่ละลวดลายที่ออกมาต่างก็สื่อความหมายที่แตกต่างกัน สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันของคนจากหลายหลายพื้นเพ หลากหลายช่วงอายุ ภายในอาคารแห่งนี้ และเป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับตัวอาคารไปในเวลาเดียวกัน

อีกมิติการออกแบบอาคารที่มีความน่าสนใจก็คือการเลือกใช้สีของอาคาร จากแนวคิดที่ต้องการเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด สถาปนิกยังตีความออกมาเป็นการเบียนเบียดทางสายตาอีกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ อาคารจึงถูกออกแบบมาให้กลมกลืนไปกับบริบทโดยรอบ ผ่านการใช้สีอย่างเช่นสีเทาจากผลิตภัณฑ์คัลเลอร์ซีเมนต์ของสีจระเข้ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสีเนื้อแท้ที่เป็นธรรมชาติของวัสดุอย่างคอนกรีต และสามารถดูแลรักษาได้ง่าย นอกจากนี้ จากมิติของแสงเงาที่มีความนุ่มนวลเวลากระทบบนพื้นผิวสีเทา ก็ช่วยให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกสงบใจได้อีกด้วย ถือได้ว่าอาคารธรรมาศรมแห่งนี้ เป็นผลงานการออกแบบอีกชิ้นหนึ่งที่นำองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม อย่าง façade หรือ สีของอาคาร เข้ามาตอบแนวคิดที่วางไว้เป็นอย่างดี

seejorakay.com
facebook.com/seejorakay
facebook.com/DECA-ATELIER-CoLtd-239603569520172

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *