WHILE THE ART CENTRE AT SILPAKORN UNIVERSITY WANG THAPRA CAMPUS UNDERWENT A REFURBISHMENT, PRATCHAYA PHINTHONG INCORPORATED HIMSELF WITH THE TEAM OF ARTISANS AND BROUGHT A FRAGILE MOMENT OF THE GALLERY INTO THE ARTWORKS
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
หลังจากปิดซ่อมไป 5 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ก็กลับมาพร้อมใช้งานแล้วในวันนี้ เช่นเดียวกันกับหอศิลป์วังท่าพระซึ่งที่ผ่านมาก็ถูกปิดซ่อมไม่ต่างจากอาคารหลังอื่นๆ ผิดแต่ก็ตรงที่ ระหว่างการซ่อมแซมมีศิลปินอย่าง ปรัชญา พิณทอง แทรกตัวปะปนเข้าไปอยู่ในทีมช่างกับเขาด้วย
เริ่มต้นจากฝุ่นและผงขี้เลื่อยที่กระเด็นปลิวขึ้นมาจากพื้นไม้สักระหว่างการขัดผิวไม้ Extended Release, 2020 ผลงานวิดีโอ (ชื่อเดียวกันกับนิทรรศการ) ปรัชญาใช้สมาร์ทโฟนถ่ายเก็บฝุ่น ขี้เลื่อย และทุกๆ อย่างที่ถูกขูดออกมาจากพื้นผิวที่มันอาศัยอยู่ลอยขึ้นไปบนอากาศ ก่อนจะเอาไปแปลงเป็นฟิล์ม 35 มิลลิเมตร และนำมาฉายใหม่บนชั้นสองของหอศิลป์ในวันที่การปรับปรุงแล้วเสร็จ
บริเวณท้องพระโรงเป็นที่ตั้งของผลงานที่เกิดจากกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างปรัชญา และภัณฑารักษ์ กฤษฎา ดุษฎีวนิช ลึกเข้าไปในตำหนักกลาง ชั้นล่าง มีประตูกระจกเงาที่มีขนาดเท่ากับประตูอื่นๆ ในอาคาร แต่ถูกหล่อขึ้นด้วยอะลูมิเนียมจากระเบิดที่อเมริกาบอมบ์ใส่ประเทศลาวในช่วงสงครามเย็น ผลงานชิ้นนี้ชื่อว่า You are part of everything you are not, 2021 ตั้งอยู่ไม่ไกลและสนทนากับ ‘The Sacred Buddha Images of Thailand’ Book หนังสือที่เปิดค้างไว้ที่หน้า 70 ซึ่งว่าด้วยเรื่องที่มาของการสร้างพระกลักฝิ่น (พระพุทธเสรฏฐมุนี) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อขึ้นไปบนชั้นสองจะพบกับ Internal Rhyme ผลงานที่สร้างในปี 2015 ลึกเข้าไปในพื้นที่จะพบกับผลงานที่เป็นส่วนเพิ่มของ Extended Release นั่นคือแคนวาส 31 ชิ้น ที่ฉาบหน้าด้วยฝุ่น ซึ่งถูกวางพิงผนังไว้ ไม่ก็ซ้อนกันเป็นตั้งๆ คว่ำหน้าอยู่กับพื้นห้องนิทรรศการ นอกจากนี้ เมื่อเราเดินไปมาในห้องนิทรรศการเราอาจจะเจอกับ “Seed Bomb” ฝุ่นที่ปั้นเป็นก้อนๆ ที่ด้านในเป็นเมล็ดสมุนไพรที่ศิลปินวางไว้
ปรัชญาย้อนกลับเวลาหลายตลบ แปลงไฟล์วิดีโอ MPEG4 กลับไปเป็นฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ย้อนกลับไปถึงวิกฤตการณ์ในภูมิภาคนี้ (ที่มีวิกฤตเกิดขึ้นตลอดเวลา) สมัยไทยรบกับลาวในรัชสมัย ร.๒ – ๓ และช่วงสงครามเย็น ไปไกลถึงฝรั่งเศสที่ชานบ้านของปรีดี พนมยงค์ ทำให้เราคิดว่าการอ่านนิทรรศการ Extended Release อาจจะต้องมองข้ามเส้นเวลาไปก่อน
ตำแหน่งและรูปแบบการติดตั้งของแคนวาส 31 ชิ้น แนะให้เห็นการหมุนกลับไปกลับมา และความไม่เป็นเส้นตรงของเวลาในนิทรรศการ โดยเฉพาะเทคนิค “การไม่แขวน” ซึ่งกลับทำให้ชิ้นงานแขวนตัวเองอยู่ระหว่างเวลา ก้ำกึ่งว่าจะเป็นงานที่เตรียมแขวนหรือเตรียมเก็บ ในขณะที่การซ้อนกันเป็นชั้นๆ ยังชวนให้นึกถึงชั้นดินในบริบทของการขุดค้นทางโบราณคดี และระเบียบวิธีคิดแบบ “โบราณคดีเชิงปรัชญา” ที่โดยสรุปแล้วมันยืนอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เชื่อว่า วาทกรรมหนึ่งเกิดขึ้นจากจุดกำเนิดเพียงจุดเดียว แต่มัน “ประกอบ” ขึ้นจากหลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งและจมหายไปในซากปรักหักพังของวาทกรรมหนึ่งที่ถูกแทนที่ ดังนั้นจึงหมายความว่า “ราก” ของอะไรก็ตามแต่ที่อยู่บนพื้นผิวชั้นบนสุดนั้นอาจจะไม่ได้เชื่อมกับเมล็ดพันธุ์ที่ฝังตัวอยู่ใต้สุด แต่สิ่งที่อยู่บนพื้นผิวบนสุดนั้น คือผลลัพธ์จากอะไรก็ตามแต่ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งอาจจะขัดแย้งกัน ที่ประดังประเดเข้ามาในช่วงระยะเวลาหนึ่งและจางหายไปไม่เหลือร่องรอย
วิธีคิดแบบนี้คัดง้างกับกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมภาพในอดีตจนถึงปัจจุบันให้เป็นเรื่องเดียวกัน และนี่เองที่ (น่าจะ) สร้างปัญหาในการรับชมและ “เขียนถึง” ศิลปะของปรัชญาอยู่เรื่อยไป การรับมือกับความกระจัดกระจายของข้อมูล นั้นไม่ใช่การฝืนตัดแขนตัดขาอะไรก็ตามที่ไม่เข้าพวกให้พ้นทางแล้วเลือกเอาแต่เรื่องที่ใช่มาต่อกันเป็นเส้นเรื่อง แต่จะต้องมองหาคีย์เวิร์ด ทดคำๆ นั้นไว้ในใจแล้วค่อยนำมาต่อกันในภายหลัง เพื่อมองหา “เรื่อง” อื่นๆ ที่ถูกซุกซ่อนไว้ในอดีต
อย่างเช่นผลงาน You are part of everything you are not, 2021 จริงอยู่ว่าในบริบทของห้องนิทรรศการ เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองชิ้นงานนั่นคือการเปลี่ยนสถานะให้สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง – เปลี่ยนเปลือกระเบิดเป็นกระจก หรือ เปลี่ยนกลักฝิ่นเป็นพระพุทธรูป แต่ถ้าถอยไกลออกจากตรงนั้นสักหน่อย เราจะเห็นว่ากระจกนั้นไม่ได้หันไปหาผลงานในห้องเท่านั้น และเงาในกระจกนั้นก็ไม่ได้มีพระพุทธรูปแค่องค์เดียว แต่มีอีกองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในวังหลวงฝั่งตรงข้ามซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่มาจากประเทศเดียวกันเสียด้วย
เรากำลังพูดถึง “ประตู” บานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจาก “คีย์เวิร์ด” ที่ค่อยๆ แสดงตัวออกมา ถัดมา ประเด็น “การไม่แขวน” ที่ทำให้แคนวาสชุดหนึ่งก้ำกึ่งว่ากำลังรอแขวนหรือเตรียมเก็บนั้น ก็บอกเป็นนัยถึงสองเรื่อง ข้อแรกคือมันบอกถึงสถานะของหอศิลป์ ที่ทั้งในอดีต / ปัจจุบัน / อนาคต จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่รองรับการจัดนิทรรศการที่จะเกิดขึ้นและหมุนวนเป็นลูปไปเรื่อยไม่รู้จบ และถูกเรื่องเล่า (และเวลาของเรื่องเล่า) ตีรวนให้หอศิลป์แห่งนี้ไม่ได้มีประวัติศาสตร์แบบทั่วไปเหมือนอาคารประเภทอื่น เรื่องที่สองคือมันทำให้เราสังเกตเห็นรูปแบบการจัดวางผลงานสองแบบ คือแบบตั้งกับพื้น และ วางบนแท่น ซึ่ง ดร. สายัณห์ แดงกลม อาจารย์ประจำภาคประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่าปรัชญามีวิธีการจัดวางงานศิลปะที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้แท่น กล่าวคือ อาจไม่ได้เกินความคาดหมายใดๆ ที่หนังสือพระจะถูกนำมาตั้งบนแท่น แต่ก็เป็นเพราะแท่นธรรมดาๆ นั่นแหละ ที่ทำให้หนังสือพระกลายมาเป็นผลงานศิลปะ เปลี่ยนแก่นสารของหนังเล่มนี้ไปจากเดิม เครื่องมือชิ้นเล็กๆ ที่หนีบหนังสือให้เปิดค้างไว้หน้าเดิมตัดฟังก์ชั่นความเป็นหนังสือทิ้งไป ทำให้มันเป็นวัตถุสำหรับการจ้องมอง และสำหรับคนดู “ภาพถ่าย” พระพุทธเสรฏฐมุนี ก็แทบจะกลายมาเป็นพระพุทธรูปจริงๆ ในบริบทของนิทรรศการนี้
“พื้น” เป็นอีกคำที่ควรถูกหยิบยกขึ้นมาขบคิด ปรัชญาออกแบบให้ผู้ชมต้องถอดรองเท้าไว้ข้างนอก เดินเท้าเปล่าดูงานศิลปะ ฝ่าเท้าของเราจะได้สัมผัสกับทั้งกระเบื้องหินชั้นล่าง และไม้สักขัดเงาแวววาวชั้นสอง พอเดินมาถึง Internal Rhyme, 2015 สายตาเราก็จะจับจ้องไปที่งานดรออิ้งที่ไม่เข้าพวกที่สุดในนิทรรศการ เป็นภาพลายเส้นที่ปรัชญาได้มาจาก “พื้นบ้าน” ของบ้านพักของปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศฝรั่งเศส กับงานชิ้นนี้ “ปรัชญาทำการวาดเส้นด้วยภาวะภายในตนเองจากการใช้ปลายดินสอเชื่อมต่อกับปลายลิ้นในทางความรู้สึกและประสาทสัมผัส จากนั้นได้ทำการตอบโต้กับต้นแบบซึ่งเป็นพื้นที่หน้าบ้านพักของปรีดี พนมยงค์” ข้อความในสูจิบัตรนิทรรศการท่อนนี้ยังถูกกฤษฎาขยายความต่ออีกว่า การจากไปของปรีดี ตอนจบของการต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่า – อำนาจใหม่ คือตอนจบที่เงียบงัน และ Internal Rhyme คือการเรียนรู้อีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ด้วยประสาทสัมผัสแบบที่ไม่คุ้นชิน
ปรัชญานำผลงานที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2015 มาจัดแสดงด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่อาจทราบได้ อย่างไรก็ตาม มันก็ทำให้ชื่อของปรีดี พนมยงค์ โผล่ขึ้นมาในหอศิลป์แห่งนี้ เมื่อย้อนกลับมาดูวิดีโอ Extended Release อีกรอบ เราจะเห็นว่าจริงๆ แล้ว Extended Release อาจจะเริ่มจัดแสดงตั้งแต่วันที่ภายในหอศิลป์ยังวุ่นวายจากการทำงานของทีมช่าง กล้องที่ถ่ายผาดไปตามจุดต่างๆ ของห้อง ถ่ายติดแคนวาสที่ถูกวางพิงผนังห้องนิทรรศการอยู่แล้วตั้งแต่ต้น หรือวิดีโอนี้อาจจะเป็นวิดีโอเบื้องหลังการสร้างผลงานทั้ง 31 ชิ้น Extended Release ฉายภาพช่วงเวลาที่หอศิลป์วังท่าพระกำลังสั่นสะเทือนด้วยแรงของอุปกรณ์ก่อสร้าง เปรอะไปด้วยรอยเท้าของช่างนิรนามกลุ่มหนึ่งผู้ไม่เคยถูกให้เครดิตในฐานะ “ผู้สร้าง” ในประวัติศาสตร์ศิลปะของประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าปรัชญานำเอาชั่วขณะ “เปราะบาง” ของหอศิลป์แห่งนี้มาทำเป็นงานศิลปะ
Extended Release โดยปรัชญา พิณทอง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2564 และ วันที่ 22 มิถุนายน – 17 กรกฎาคม 2564