WITNESS THE DIALOGUE OF TIME IN THE RENOVATION OF THE ROYAL MUSEUM OF FINE ARTS IN ANTWERP, BELGIUM BY THE DUTCH STUDIO KAAN ARCHITECTEN THAT WISELY LET THE PEOPLE EXPERIENCE THE TRANSFORMATION OF THE MUSEUM FROM THE 19TH CENTURY TO THE LATEST RESTORATION IN THE 21ST CENTURY
TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
โจทย์คลาสสิกของงานบูรณะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์คือ เราซึ่งเป็นผู้คนในยุคปัจจุบัน จะสามารถรักษาอดีต พร้อมกับพาพื้นที่และผู้คนเดินหน้าต่อไปยังอนาคตได้อย่างไร? กับงานบูรณะ Royal Museum of Fine Arts Antwerp ในเบลเยี่ยม ผลงานของ KAAN Architecten สตูดิโอสถาปนิกจากเนเธอร์แลนด์ ผู้ชนะการประกวดแบบรีโนเวทมาตั้งแต่ปี 2003 ก็เช่นเดียวกัน
เริ่มต้นจากตัวสถาปัตยกรรม Neoclassic แห่งนี้ซึ่งตั้งตระหง่านเป็นแลนด์มาร์กของ Antwerp ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทที่รายล้อม โครงสร้างอาคารเดิมจึงถูกรักษาสภาพดั้งเดิมเอาไว้เพื่อรักษาช่องแสงและระเบียงที่เชื่อมต่อกับทัศนวิสัยภายนอกของเมือง อันเป็นเจตนารมณ์หลักของ “พิพิธภัณฑ์ตะวันฉาย” แห่งนี้
ผังบริเวณ ทางสัญจรภายใน และมุมมองความเชื่อมโยงกับเมืองกลายเป็นโจทย์หลักของการบูรณะ โดยอยู่บนแนวความคิดที่ว่า จะต้องรองรับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบศิลปะและการจัดแสดงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้การแบ่งโปรแกรมภายในออกเป็น 3 ส่วน ตาม 3 ความรู้สึก และ 3 ฟังก์ชั่นการใช้งาน ได้แก่ ส่วนทางเข้าหลัก เล่าเรื่องความรู้สึก, โถงนิทรรศการส่วนกลางเล่าเรื่องการมองเห็น และออฟฟิศหลังบ้าน เล่าเรื่องการทำงาน
ทางสัญจรเริ่มต้นเล่าเรื่องจากโถงส่วนกลางซึ่งเป็นบันไดไม้โอ๊คขนาดใหญ่ ส่งต่อผู้เข้าชมสู่สองทางแยกหลักที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวและมอบประสบการณ์อันแตกต่าง ทางแรกขึ้นบันไดตรงไปยังชั้นหลัก ย้อนเวลากลับไปสู่พื้นที่พิพิธภัณฑ์ในศตวรรษที่ 19 และอีกทางเดินตรงต่อไปเพื่อนำไปสู่อนาคต ในพื้นที่นิทรรศการแห่งใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งพื้นที่ภายในของทั้งสองส่วนได้รับการออกแบบด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน
ในส่วนพิพิธภัณฑ์เก่า ได้รับการเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ด้วยการใช้เลือกใช้องค์ประกอบพื้นฐานอย่างสีกับพื้นผิว โดยเลือกพาเลทจากสีที่เชื่อมโยงโดยตรงกับสีดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์ ทั้งสีชมพูเข้ม สีเขียว สีแดง ประกบกับองค์ประกอบภายในดั้งเดิมอย่างประตูไม้โอ๊คทรงสูงและงานปูนปั้นประดับฝ้าเพดาน พร้อมหลังคา Skylight ที่เปิดรับแสงธรรมชาติของอาคารดั้งเดิม การเลือกใช้สีพื้นในองค์ประกอบอาคารนี้ช่วยให้งานศิลปะโดดเด่นขึ้นมา และงานตกแต่งดั้งเดิมก็ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของอาคารไปได้พร้อมๆ กัน
ส่วนพื้นที่นิทรรศการใหม่ ได้รับการออกแบบมีอัตลักษณ์ที่ขัดแย้งกับรูปลักษณ์เส้นสายวิจิตรของอาคารเดิมอย่างสิ้นเชิง ด้วยการกั้นเพิ่มพื้นที่ลานด้านใน 4 จุด และใช้การควบคุมแสงธรรมชาติซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอาคารส่วนนี้ ด้วยการออกแบบหลังคา Skylight รูปสามเหลี่ยมจำนวน 198 ชิ้น ทำหน้าที่รับแสงธรรมชาติและกระจายแสงให้อาบไล้ทั่วทั้งพื้นที่โถงทั้งหมดที่เป็นสีขาวสว่าง ทั้งผนังทาสีขาวและพื้นไฮกลอสยูรีเทน
การตัดกันระหว่างดีไซน์ของห้องทั้งสองแบบที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง สร้างประสบการณ์ ดึงความรู้สึกร่วมให้ผู้ชมได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาอย่างชัดเจน – สัมผัสถึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่ถูกเก็บรักษาอย่างดี พร้อมกับรับรู้ถึงคุณค่าของสิ่งใหม่ผ่านงานดีไซน์ แล้วค่อยสร้างบทสนทนาระหว่างห้วงเวลาผ่านการจัดการพื้นที่ได้อย่างสมดุล