ART4D TALKS WITH JOE – APICHATPONG WEERASETHAKUL ABOUT MEMORIA (2021) WHICH RECENTLY WON THE CANNES FILM FESTIVAL 2021’S JURY PRIZE, AND HIS LATEST EXHIBITION, ‘A MINOR HISTORY, A LITTLE HISTORY’ AT 100 TONSON FOUNDATION, AS WELL AS THE STORIES OF HIS CAREER AND THE FUTURE
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ประมาณ 20 ปีก่อนเราพบกับ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ครั้งแรกที่ออฟฟิศ Kick The Machine ของเขาแถวๆ ลาดพร้าว ตอนนั้นเขาเป็นเด็กหนุ่มที่มีความฝันคล้ายๆ กับพวก Startup ในยุคนี้ ที่หมั่นเขียนโครงการหาทุนจากแหล่งทุนทั่วโลก กระทั่งพ่อมดทางการเงินอย่าง จอร์จ โซรอส เจ้ยก็เคยเขียนไปขอทุนมาแล้ว “ตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิมเลยครับพี่” เจ้ยในวันนี้ยังคงสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ความเพียรในการทำสิ่งที่เชื่อและไม่ยอมเลิกราของเขาไม่เพียงส่งผลเป็นรางวัลในชีวิตแต่ยังได้สร้างภาษาภาพยนตร์ที่ยกระดับวิธีการเล่าเรื่องไปถึงจุดที่วงการภาพยนตร์โลกให้การยอมรับอย่างสูง
เมื่อเดือนก่อนนี้เอง เขาเพิ่งจะกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีประกวดภาพยนตร์เมืองคานส์ ด้วยวลีที่สั่นสะเทือนโลก “Long Live Cinema” ตลอด 20 ปีมานี้ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้สร้างความสำเร็จระดับนานาชาติเอาไว้มากมาย เอาเฉพาะในงานภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นที่สุดของเทศกาลภาพยนตร์ในโลกนี้ เขามีผลงานได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมถึง 8 เรื่อง เข้าฉายอย่างเป็นทางการในคานส์ โดย 3 เรื่อง อยู่ในสายประกวดหลัก 2 เรื่อง ใน Un Certain Regard และอีก 3 เรื่อง เข้าฉายในสาย Special Screening โดยคว้ารางวัลกลับมา 4 รางวัล เริ่มจากปี 2002: Blissfully Yours สุดเสน่หา คว้ารางวัลชนะเลิศสายประกวด Un Certain Regard 2004: Tropical Malady สัตว์ประหลาด ชนะรางวัล Jury Prize 2010: Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives ลุงบุญมีระลึกชาติ ชนะรางวัลปาล์มทองคำ และ 2021: Memoria ชนะรางวัล Jury Prize อีกครั้ง
วันนี้ เจ้ยยังมีงานนิทรรศการชุด A Minor History ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ซึ่งเป็นงานวิดีทัศน์จัดวาง จัดแสดงอยู่ที่ มูลนิธิ 100 ต้นสน โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาค ในภาคแรกนี้จัดแสดงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม – 14 พฤศจิกายน 2564 การสนทนากับเจ้ยในวันนี้เพื่อแสดงความยินดีกับความสำเร็จของ Memoria และงานนิทรรศการใหม่ของเขา พร้อมทั้งเรื่องราวการเดินทางภายในที่เชื่อมโยงกับงานศิลปะและงานภาพยนตร์ของผู้กำกับรายนี้ เจ้ยพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาตลอด 20 ปีมานี้ว่า “ทุกอย่างมันเหมือนเป็นความฝัน มันเหนือจริงมากเลยครับ”
art4d: ต้องขอแสดงความยินดีกับ Memoria ด้วยนะครับ เดือนก่อนยังติดตามคุณที่เมืองคานส์ซึ่งดูวุ่นวายมากแต่ละวัน มีกิจกรรมที่เข้าร่วมแต่ละวันพบปะแต่สื่อมวลชนและคนดังๆ ระดับโลกทั้งนั้น วันนี้คุณมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในบรรยากาศของการปิดเมืองล็อกดาวน์ ดูมันคนละเรื่องเลยทีเดียว ตอนนี้ลึกๆ รู้สึกอย่างไร
Apichatpong Weerasethakul: มันเห็นความแตกต่างนะ คือที่ยุโรปกับที่ไทยมันคนละเวลากัน คนละสปีด เหมือนกับเวลาที่ไทยมันหยุดอยู่เพราะการบริหารวัคซีนที่ล้มเหลวและเรื่องทางการเมือง มันเหมือนว่าเราต้องตั้งต้นใหม่ เวลามันสโลว์มาก ตอนที่อยู่ยุโรปนี่มีโปรเจ็คต์ที่คุยกับคนอยู่หลายโปรเจ็คต์เหมือนกัน มีแพลนที่จะเดินทางไปอีกหลายแห่ง พอกลับมามันเหมือนกลับสู่โลกความจริงที่เราต้องเจอเรื่องของวัคซีน เรื่องของคนที่ไม่มีโอกาส เลยพยายามปรับให้เราต้องสโลว์ตามไปด้วย แล้วก็ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต่อจากโต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักที่เค้าทำ สปีดที่นี่เลยตกไปจากความรู้สึกที่ยุโรป แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าประเทศนี้มันเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา อย่างงานชิ้นนี้ (A Minor History) หรือภาคสองของงานนี้ที่กำลังจะทำต่อ มันกลับมาในโลกแห่งความเป็นจริงที่ระบบ support ทางวัฒนธรรมมันไม่ได้สวยหรูอย่างในยุโรป ถ้าถามว่าทำอะไรหลังจาก Memoria ก็คือ การปรับตัวนี่ล่ะ
art4d: ในวันที่คุณเดินทางออกจากเมืองคานส์ มีคำพูด ความรู้สึก หรือเหตุการณ์ใดที่อยู่ในความทรงจำและระลึกถึงขณะที่ไกลห่างออกจากเมืองคานส์มาเรื่อยๆ
AW: มันเหมือนเรื่องไม่จริง ก็คือ การได้ไปฉายหนัง มีคนเป็นพันมาดูหนังเราแล้วก็ได้รู้จากโต้งเรื่องที่เด็กเอาคำ Long Live Cinema มาใช้ในลักษณะการสื่อสารทางด้านความหวัง เราว่าคำนี้มันย้อนกลับมาชนเราอีกทีหนึ่งในรูปแบบที่เราไม่ได้คิดไว้ก่อนในแง่ของความสำคัญของสิ่งที่เราทำมากเท่าไหร่ เพราะว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวตลอด ตั้งแต่เราคุยๆ กันมาเมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว ซึ่งที่ผมทำทุกอย่างนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัวทั้งนั้นเลย มันทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ สิ่งที่เราทำมันกระเพื่อมแรงไปกว่าที่เราคิด แล้วก็เป็นจุดที่รู้สึก อึ้ง ตอนที่ออกมาจากคานส์เหมือนเราไม่ได้อยู่คนเดียว มันมีจุดเชื่อม เมื่อทำงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้วมันกลายเป็นการเชื่อมกับความเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วงานภาพยนตร์กับสังคมมันไม่ได้โยงใยกันขนาดนั้น
art4d: ในฐานะของคนที่ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ตั้งใจว่าจะรอดูตอนฉายในโรงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเท่านั้น เชื่อไหมว่าผมเพิ่งได้ดู รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour) เมื่อเร็วๆ นี้เองที่หอภาพยนตร์ เพราะต้องการดูหนังเจ้ยในโรงหนังเท่านั้น เท่าที่ติดตามจากการอ่าน Memoria จะได้รับการพูดถึงมากในเรื่องประสบการณ์ที่ผู้ชมได้รับจากงานดีไซน์ ภาพและเสียง ที่ยกระดับการชมภาพยนตร์ไปอีก level หนึ่งทีเดียว
AW: มันเป็นเรื่องของเสียงที่เกิดจากภายในหัวผมอ่ะนะ มันคืออาการที่เค้าเรียกว่า Exploding Head Syndrome (EHS) ซึ่งมันไม่ใช่เสียงแต่เป็นความรู้สึกของเสียง เหมือนเวลาเราคิดเราได้ยินเสียงตัวเองแต่เราไม่ได้ยินทางหูนะ เราได้ยินในสมอง อันนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นช่วงที่เราเดินทางอยู่ที่โคลัมเบียด้วยก็เลยเอามาใช้บอกเล่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น และความทรงจำของคนผ่านความรุนแรงพวกนี้ผ่านเสียงระเบิด จริงๆ มันเป็นหนังที่ง่ายๆ มากเลยนะ ที่มันเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันของผู้หญิงคนนึงที่เค้ากำลังเดินทางและถูกจู่โจมด้วยเสียงนี้เป็นระยะๆ
art4d: อยากให้เล่าถึงเรื่องการมิกซ์เสียงและภาพให้เกิดประสบการณ์พิเศษนี้
AW: มันอธิบายไม่ได้เหมือนกัน คือ ริศ (อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร) คนที่ทำเสียงกับผมเนี่ยเราจะเน้นเรื่องดีเทลของเสียงทั้งในเฟรมและนอกเฟรม ถ้าไปดูรักที่ขอนแก่นหรือเรื่องก่อนๆ มันก็จะเน้นเรื่องนี้เหมือนกัน แต่เรื่องนี้มันถูกตั้งเงื่อนไขว่าตัวละครเค้าเงี่ยหูฟังอะไรอยู่ตลอดเวลา มันกลายเป็นว่าคนเลยต้องฟังตามไปด้วย ก็เลยได้ยินดีเทลพวกนี้ ทั้งๆ ที่ process มันไม่ต่างจากเรื่องอื่นมาก แต่มันเป็นการจูนคนดู เหมือนไกด์ถึงความรุ่มรวยของเสียงในพื้นที่ แล้วก็สิ่งที่เราดีไซน์ได้สำหรับบรรยากาศในโรงภาพยนตร์ แต่ที่ท้าทายอย่างมากคือ การหาเสียงระเบิดเนี่ย จะดีไซน์ออกมาอย่างไรดีเพราะมันไม่ใช่เสียง มีฉากนึงในหนังที่ Tilda (Tilda Swinton นักแสดงนำในเรื่อง) พยายามที่จะอธิบายให้คนมิกซ์เสียงเข้าใจว่ามันคือเสียงแบบไหน ก็มานั่งฟังเสียงต่างๆ กัน
art4d: Tilda ได้ยินเสียงเดียวกันกับที่คุณได้ยินรึเปล่านะ
AW: ไม่เลย เพราะเสียงนี้เกิดขึ้นทีหลังในห้องมิกซ์เสียง
art4d: ช่วงที่ถ่ายทำที่โคลัมเบีย มีประสบการณ์อะไรจะเล่ามั๊ย ในฐานะที่เป็นผู้กำกับที่มีพื้นฐานเป็นสถาปนิก
AW: มันมีช่วงนึงที่เราประสบเสียงระเบิดในหัวเนี่ย แล้วไม่นานเราจะเห็นเป็นภาพด้วย หลับตาแล้วมันขึ้นมาเลยเป็นวงกลม เป็นสี่เหลี่ยม อะไรเงี้ย มาพร้อมกับเสียงโดยเฉพาะทรงวงกลม พอไปที่โคลัมเบีย มันมีงานสถาปัตยกรรมที่เป็น geometric pattern ที่ส่วนมากมันจะเป็นกึ่งๆ brutalist ระดับนึง แล้วก็ massive ที่เป็นคอนกรีต มีดีไซน์ช่องแสงสวยๆ ซึ่งก็มีในบางฉากในหนังด้วย ที่พูดถึงเรื่องแสงและแสงที่เป็นรูปทรงเรขาคณิต
art4d: ปกติงานของคุณจะให้ความสำคัญกับเรื่อง landscape มากกว่าสิ่งก่อสร้างนะ?
AW: ใช่ๆ ถูกต้องครับ เรื่องนี้มันพิเศษออกมาเพราะเราไปหลงใหลกับสถาปัตยกรรมของที่นั่นแล้วก็แสงเงาของเมืองโบโกต้า
art4d: หลังจากคานส์คุณยังไปต่อที่เทศกาล FID Marseille ครั้งที่ 32 ด้วย ซึ่งเทศกาลยกย่องคุณมากๆ ผมได้เห็นคนถือถุงสกรีนภาษาไทยเป็นชื่อ อภิชาติพงศ์ เต็มไปหมดเลย น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ
AW: เซอร์เรียลมากครับ ลองจินตนาการ ถ้ามีคนถือถุงเขียนว่า ประธาน อยู่เต็มเมือง คือเราไม่เคยมองชื่อเราอย่างนั้นไง เลยนึกว่าเค้าจะมองยังไงในเมื่อเค้าไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร มันอาจเป็นลายเส้น ไม่ได้มีความหมาย เป็นงานดีไซน์ชิ้นนึง แต่มันเซอร์ไพรส์ เหมือนกัน เพราะเค้าไม่ได้บอกเรา สุดท้ายไปถึงค่อยเห็นคนถือถุงนี้แล้ว มันเป็นเทศกาลหนังที่สำคัญทางใต้ของฝรั่งเศส ทุกๆ คนจากที่อื่นก็ไปร่วมนะ จากปารีสไปก็เยอะ
art4d: โลเคชั่นที่เค้าใช้จัดก็น่าสนใจ ดูเหมือนเป็นอาคารร้าง
AW: อันนั้นเป็นงานเปิด เป็น outdoor theater นะ แต่จริงๆ แล้วก็จัดในโรงปกติหลายโรง มันเป็นเทศกาลหนังที่เน้นเฉพาะหนังที่ท้าทาย หนังทดลอง และหนังสารคดี ซึ่งเค้าฉายหนังเรามาตลอด 20 ปีเลย ปีนี้เค้ามอบรางวัล Grand Prix d’Honneur เป็นรางวัลเกียรติยศให้กับเรา มันเป็นอะไรที่เหนือจริงมาก จากคานส์ มาเจอไอ้ถุงนี้ แล้วก็รางวัลนี้
art4d: คุณแยกชีวิตการทำงานศิลปะกับงานภาพยนตร์ออกจากกันอย่างไร
AW: ผสมปนเปมาก วิถีการทำภาพยนตร์มันตรงข้ามกับงานศิลปะ ตรงที่มันไม่ได้เป็นรายได้ ช่วงที่ทำงานมันใช้เวลานานเป็นปี ปีนั้นก็จะมีคนมาเลี้ยงข้าว เวลาไปโลเคชั่น อะไรเงี้ย แต่ว่ามันสะท้อนซึ่งกันและกันทั้งศิลปะและหนัง ผมก็ยังงงอยู่ เราไม่ได้มีฟอร์มูล่าชัดๆ ทุกอย่างมันไหลไปด้วยกัน บางทีก็ทำไปด้วยกันงาน performance ที่ทำที่ fever room (ญี่ปุ่น) ก็มาจากรักที่ขอนแก่น อย่าง Memoria ก็เริ่มมีอะไรที่เกี่ยวข้องตามมา มันค่อนข้างจะฟีดกันไปเรื่อยๆ
art4d: มาถึงงานนี้ A Minor History ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย มันเริ่มมาอย่างไร คุณตั้งใจจะเล่าเรื่องอะไรในงานนี้
AW: มันเป็นช่วงปลายของตอนที่ทำ Memoria เราไม่ได้อยู่เมืองไทยเลย แต่แรงกระเพื่อมทางการเมืองมันเยอะขึ้นมากแล้วเราหนีมันไม่ได้ เราเลยกลับไปตามเส้นทางเดิมที่เราทำงานศิลปะตลอด สำหรับผมการทำงานศิลปะมันเหมือนกับการทานข้าวอย่างหนึ่ง เป็นอาหารสมอง เพราะแต่ละชิ้นมันต้องใช้เวลา research เยอะมาก แต่เราไม่ได้มองว่าเป็นงานนะ เรามองว่ามันเป็นการเติมเต็มสิ่งที่เราถูกขโมยตอนที่เราเรียนในห้องเรียนสมัยเรียนประถม มัธยม เพราะว่าเราอยู่ในพื้นที่นั้นแต่เราไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่สมัยโปรเจ็คต์ ปลุกผี primitive แล้วมันทำให้เราหลงใหลในการเดินทาง คราวนี้เดินทางในเส้นทางเดิมเลยครับ คือเส้นเลียบโขง ตั้งแต่ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร จนถึงอุบล ซึ่งเราอยากให้คนดูทำแบบเดียวกันนี้มากคือ เดินทางในเมืองไทยตามเส้นทางที่คุณรัก แล้วค่อยๆ ไปๆๆ แต่ละปีเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง โปรเจ็คต์นี้ตั้งใจจะไปคุยกับเด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่ขอนแก่นที่เราโตขึ้นมา เพราะว่าเด็กนักศึกษามัน operate คนละแบบแล้วกับรุ่นเรา เค้าไม่มีเรื่องอาวุโส เรื่องความเชื่อในระบบที่ถูกสั่งให้เชื่อ ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปด้วยโดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนสีนี่เพิ่งได้เห็น มันเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเฉยเลย แต่ก่อนมันสีดินออกทางสีโคลน ตั้งแต่โปรเจ็คต์ For Tomorrow For Tonight เราก็รู้แล้วว่าการสร้างเขื่อนที่จีน ที่ลาว ที่ต้นน้ำทั้งหลายนั้นมีผลกระทบมากๆ แต่เราไม่ได้เป็น activist เราเข้าไปถ่าย เป็นบันทึก โปรเจ็คต์นี้แบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกนี่จะเน้นในเรื่องของความเป็นซาก ซากศพ ซากโรงหนังเก่า อะไรก็ตามที่เราเดินทางผ่านไป หรือแม้แต่ซากที่เราถือว่ามันเป็นซากของลำน้ำโขง มันจะไม่กลับเป็นเหมือนเดิมแล้ว ผมรู้สึกนะ แล้วก็เรื่องความทรงจำทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย ภาคสองนี่จะไปเน้นที่วัยรุ่นและพลเมือง
art4d: ทำไมถึงทำ installation เป็นจอ 3 จอ และมีฉากหมอลำอยู่ตรงกลาง
AW: มันคือสิ่งที่เราคิดว่ามันสวยงามที่มันเป็นสิ่งที่พิเศษกว่าภาพยนตร์ มันคือ layer ของมิติ และอิสระของคนดูที่จะเลือกดูแต่ละจอ หรือว่าสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของแต่ละจอเหมือนความคิดที่มันฟุ้งขึ้นมาปุ๊ปปุ๊ป แล้วก็หมอลำนี่มันเป็นสิ่งที่เราโตมาด้วย ตั้งแต่การฟังละครวิทยุ การดูหนังในโรงหนัง การดูหมอลำ การได้มารู้จักกับหมอลำแบงค์ที่เคยทำงานด้วย และฉากนี้เป็นฉากของหมอลำแบงค์ที่เราไปถ่ายรูปมา แต่เราจะเห็นว่าการเล่าเรื่องของธรรมดาจะมีอยู่ไม่กี่ฉาก คือที่ราชวัง กระท่อมปลายนา ในป่า จะมีไม่กี่เซตติ้ง แต่เราเอามาแบบไม่มีนักแสดง เป็นฉากว่างเปล่าที่เหมือนคอยเฝ้าดูพื้นที่ที่มัน communicate กันเหมือนวิญญาณที่มา join กันกับ show ที่ hybrid อันนี้
art4d: งานนี้คุณยังทำงานกับคนมิกซ์เสียงคู่ใจอีกเช่นเคย
AW: ใช่ครับ ผมทำงานกับคนอื่นยาก ริศ (อัคริศ กัลยาณมิตร) ทำงานกับผมมา 15 – 20 ปี นี่มันจูนตรงกันแล้วเค้าจะรู้ว่าเราชอบคลื่นตำแหน่ง เสียงสูง เสียงต่ำนี่เค้ารู้หมด ตั้งแต่ทำ Memoria มาเนี่ยคนดูร้อยคนจะบอกทั้งร้อยเลยเกี่ยวกับเรื่องของ sound design พอมาทำงานนี้เราให้อิสระ ให้ริศไปลองหลายอย่าง
art4d: ยังมี เมฆ’ ครึ่งฟ้า อีกคน
AW: เค้าเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นนักกิจกรรม เป็นครูด้วย เป็นกวีที่เราทึ่ง เค้าจะพูดถึงประสบการณ์การตื่นรู้ทางการเมืองของเค้า เหมือนผมที่ดูแม่น้ำโขงกำลังจะตาย แต่เด็กพวกนี้กำลังจะเกิด เป็นเสียงใหม่ที่เกิดขึ้นมา มันเป็นเสียงเกรี้ยวกราดด้วยนะ เมฆ’ครึ่งฟ้า เป็นเสียงเกรี้ยวกราดที่สวยงามมาก เป็นเสียงที่รู้ตัวมากว่าฉันต้องการอะไรในชีวิต จากรัฐบาล จากพื้นที่ที่ไม่เคยให้
art4d: เคยอ่านสัมภาษณ์ว่าเจ้ยนั่งวิปัสสนาด้วย ไม่ทราบว่าจุดเริ่มต้นเริ่มจากอะไร พอจะเล่าให้ฟังคร่าวๆ ได้ไหม
AW: ใช่ครับ เพราะความบ้าของสมอง ผมเป็นคนคิดมาก มันน่าจะหลังพ่อเสียไปประมาณปี 2002 ตอนนั้นกำลังจะเริ่มทำสัตว์ประหลาด มันเป็นช่วงที่เกรี้ยวกราดมาก อาละวาดตลอด 2005-06-07 มาเนี่ยค่อนข้างจะเปลี่ยนเหมือนเราพยายามศึกษาศาสนาพุทธและมันจะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์นะ การนั่งสมาธิกับการมองจิตใจซึ่งเราคิดว่ามันเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ ศิลปะและภาพยนตร์เป็นเรื่องของเวลา กับคำว่า self ตัวเราคืออะไร การนั่งสมาธิมันช่วยได้
art4d: จำได้ว่าคุณเคยพูดถึงเรื่อง awareness of now ด้วย
AW: ใช่ครับ เหมือนเราสร้างโลกขึ้นมาอีกใบนึงและเราเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดที่เราได้จากชีวิต มันคือความเข้าใจ เรื่องการอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งมันทำยากเหลือเกินสำหรับเรา กระทั่งตอนนี้ก็ยังคงยากอยู่ แต่การทำภาพยนตร์หรือการทำอินสตอลเลชั่นนี่มันทำให้เราไปถึงจุดนี้ได้เหมือนกัน เวลาเราออกแบบให้คนดูเข้าใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือการนั่งฟังมัน ไม่ใช่เรื่องพล็อตอย่างเดียว มันคือการนั่งอยู่แล้วฟังสิ่งที่เกิดขึ้น
art4d: เป็นไปได้มั๊ยที่คุณอาจจะพยายามจำลองสภาวะภายในที่รู้สึกสัมผัสผ่าน body sensation ในขอบเขตของร่างกาย คล้ายประสบการณ์ภายในอาจจะเชื่อมโยงกับการนั่งสมาธิ
AW: เป็นไปได้ครับ ในหลายๆ ฉากเราอยากถ่ายทอดความรู้สึกอย่างนั้น แต่ว่าภาพยนตร์ไม่มีทางทำได้ มันเป็นแค่สภาพจำลองเท่านั้น
art4d: เคยอ่านบทสัมภาษณ์คุณกับสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับกิจกรรมที่คุณทำช่วงล็อกดาวน์ คุณบอกว่านั่งดูต้นไม้
AW: ตอนล็อกดาวน์นี่ เรารู้สึกงานก็หยุด งานถูกเลื่อน แต่เรารู้สึกว่ายังโชคดีกว่าคนหลายๆ คน คือเราต้องเรียนรู้ที่จะหยุด มันเป็นเวลาที่มีค่าที่เราจะได้มองว่า เรากำลังอยู่จุดไหนในชีวิต หรือแม้แต่ energy กับบ้าน เราไม่เคยนั่งดูมันทั้งๆ ที่เราสร้างมันขึ้นมา แล้วมันได้เรียนรู้เยอะมากเลยพี่ โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ เรามองหมาที่เลี้ยงแต่ละวัน เวลามันนั่งเฉยๆ มันก็มองอะไรของมันไปเรื่อย บางทีก็นอน ถ้าเราสามารถเรียนรู้ได้ว่า เค้ารู้สึกอะไรได้ก็ดีเลย การนั่งมองสิ่งรอบตัวนี่เรารู้สึกว่ามีค่านะ เวลาเราไม่ทำอะไรเลยใช้โอกาสนี้มองรอบๆ ตัว เพราะช่วงก่อนโควิดนี่เรามัวคิดถึงแต่อนาคต
art4d: คุณเคยร่วมคุยออนไลน์กับหอภาพยนตร์ จำได้ว่าตอนนั้นคุณบอกว่าสนใจวรรณกรรมญี่ปุ่น กำลังอ่านงานของ Mishima Yukio อยู่ อะไรในงานของมิชิม่าที่ดึงดูดความสนใจของคุณ
AW: มันพูดถึงความซับซ้อนในชีวิตมนุษย์ได้อย่างทะลุใจ ทั้งเรื่องของความต้องการทางเพศ ความต้องการอำนาจ แล้วก็เรื่องของมนุษย์เราทุกคนถูกพัดไปกับกระแสความต้องการพวกนี้ นิยายของมิชิม่าทุกเรื่องแม้มันจะเกิดในญี่ปุ่น มันสะท้อนสิ่งเหล่านี้ เหมือนเรานั่งสมาธิเหมือนกัน เรานั่งดูคนพวกนี้เวียนว่ายอยู่ ตอนที่สัมภาษณ์นั้นกำลังอ่านสี่เล่มสุดท้ายของเค้าอยู่พอดี มันพูดถึงเรื่องการเกิดใหม่ของชายคนหนึ่ง จากหนึ่งเป็นสี่ชีวิต
art4d: ถ้างั้นตอนนี้สิ่งที่คุณให้ความสำคัญที่สุดในชีวิด 3 อย่าง คิดว่าคืออะไร
AW: โห … ยาก (คุยเรื่องอื่นกันสักพัก ที่แน่ๆ เจ้ยพยายามจะไม่ตอบว่าภาพยนตร์เพราะมันอันตรายเหมือนกันถ้าเรายึดว่าเราเป็นคนทำหนัง) หนึ่งคือ ชีวิตรอบข้าง ตอนนี้ผมอยู่กับพี่สองคนที่บ้านที่คอยดูแลแล้วก็หมา แค่นี้ก็พอแล้วไม่ต้องพยายามมาก แล้วก็สานต่อจากสิ่งที่โต้งทำ ก็คือเพื่อโต้ง แค่นี้ก็ล้นมือแล้ว แล้วก็อันที่สอง การมองเห็น เพราะสิ่งที่กลัวที่สุดคือการมองไม่เห็น อีกอย่างน่าจะเป็น ต้นไม้ ก็แล้วกัน ทุกปีผมจะพยายามปลูกต้นไม้อย่างน้อย 3 ต้น ที่บ้าน ถ้าได้ 5 ต้น 10 ต้นก็จะดีใจมาก
art4d: แผนการชีวิตจากนี้ไป
AW: ตอนนี้กำลังเขียนเรื่องใหม่ ซึ่งน่าจะทำงานกับ Tilda เหมือนกัน แต่ยังพูดไม่ได้ตอนนี้ มันเป็นเรื่องที่พิเศษมาก เรียกว่าเป็น platform ใหม่เลยก็ว่าได้ แล้วก็มีงานทำ performance อีกชิ้นนึงกับญี่ปุ่นและเกาหลี
art4d: อยากเห็นประเทศไทยดำเนินไปอย่างไรจากนี้
AW: ว๊าว … ขอตามวัยรุ่นได้มั๊ยครับ อยากเห็นการปฏิรูป ง่ายๆ เลย อยากให้ทหารออกไปจากการเมือง อันนี้สำคัญมาก นอกจากออกจากเวทีไปแล้วยังต้องปฏิรูปตัวเองด้วย แล้วก็ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขอแค่นี้แล้วทุกอย่างมันจะตามมาเอง …
ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย A Minor History ภาคแรก จัดแสดงที่มูลนิธิ 100 ต้นสน จนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 และต่อด้วยภาคสองตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2565