THE HARUKI MURAKAMI LIBRARY

DESIGNED BY KENGO KUMA AND NAMED AFTER HARUKI MURAKAMI, THE NEWLY OPENED LIBRARY AT THE FACULTY OF LETTERS, ARTS, AND SCIENCES, WASEDA UNIVERSITY LEADS THE READERS INTO ANOTHER SPHERE, AKIN TO READING MURAKAMI’S HYPNOTIC NOVEL WHERE ONE JOURNEY INTO ANOTHER WORLD

TEXT: CHAIYOSH ISAVORAPANT
PHOTO COURTESY OF WASEDA UNIVERSITY

(For English, press here)

เป็นข่าวตื่นเต้นสำหรับครูบาอาจารย์นักศึกษาและผู้เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยวาเซดะ เมื่อคณะอักษรศาสตร์ตัดสินใจสร้างห้องสมุดฮะรุคิ มุระคะมิ ที่ตั้งชื่อตามนักเขียนญี่ปุ่นร่วมสมัย กล่าวกันว่านักเขียนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติคนนี้เข้าไปอยู่ใน Shortlist ของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมาหลายครั้ง แม้จะไม่มีใครทราบความเป็นจริงของเรื่องนี้เนื่องจากลิสต์เป็นความลับสุดยอด แต่ก็แน่นอนว่าทำให้ยอดขายหนังสือของนักเขียนเจ้าของข่าวลือเพิ่มขึ้นไปอีกและทำให้เนื้อหาของหนังสือของนักเขียนผู้นี้น่าสนใจเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย การตัดสินใจก่อสร้างห้องสมุดลงไปในผืนที่ดินของมหาวิทยาลัยที่หาได้ยากยิ่งย่อมก่อประกายในหลายๆ ด้าน

มุระคะมิศึกษาที่มหาวิทยาลัยวาเซดะยาวนานกว่านักศึกษาปกติเนื่องจากเข้ามหาวิทยาลัยในยุคที่การประท้วงใหญ่ของนักศึกษาที่มีผลกระทบต่อวิธีคิดของคนรุ่นนั้นอย่างมาก โดยเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์และให้ความสนใจไปเกี่ยวกับภาพยนตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์อเมริกัน จบการศึกษาด้วยวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับภาพยนตร์แนวเดินทางเช่น Easy Rider 

แม้จะถูกค่อนขอดจากวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยว่าในงานเขียนไม่ค่อยมีความเป็นญี่ปุ่นเท่าใดนัก แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามุระคะมิมีประสบการณ์การอ่านที่กว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมศตวรรษที่ 20 ของทั้งยุโรป อเมริกาและของญี่ปุ่นเอง ประเด็นนี้นำมาซึ่งข้อถกเถียงและนักเขียนเองก็เคยกล่าวว่าตัวเองเป็นแกะดำในหมู่แกะขาวของวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม สำหรับรุ่นน้องวาเซดะชาวไทยอย่างผู้เขียนบทความนี้ที่อ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อกล่าวหาดังกล่าวพอสมควร 

ก่อนจบและหลังจบการศึกษามุระคะมิเปิดคาเฟ่และบาร์แจ๊ซชื่อ Peter Cat ในย่านที่เรียกว่าโคะคุบุนจิ โตเกียว ย่านนี้เป็นชื่อสถานีรถไฟที่เป็นชุมทางอยู่ห่างจากใจกลางเมืองไปพอสมควร ย่านในยุคนั้นมีร้านอาหาร ร้านค้าและคาเฟ่จำนวนมากทำให้สภาพโดยรวมจะคึกคักทั้งวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเย็นไปจนกลางคืนที่คนทำงานจะแวะดื่มสักแก้วสองแก้วก่อนกลับบ้าน บาร์ที่เปิดอยู่หลายปีค่อนข้างไปได้ดีตามคำกล่าวของตัวนักเขียนเอง แม้ภายหลังจะย้ายร้านไปอีกย่านก็ตาม แต่เมื่อลองเขียนนิยายตามที่ตัวเองสนใจกลับประสบความสำเร็จทั้งได้รางวัลและมียอดขายที่ดีทำให้เจ้าตัวหันมายึดอาชีพนักเขียนอย่างเต็มตัวตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว โดยทำงานควบคู่กันทั้งงานแปล การเป็นบรรณาธิการหลากหลายประเภท งานเขียนเองก็มีทั้งที่เป็นนวนิยายเต็มตัวหรืองานสารคดี ทั้งที่เกี่ยวกับการวิ่งที่ตัวเองสนใจ (มุระคะมิเป็นนักวิ่งระดับอัลตร้ามาราธอนอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง) หรืองานรวบรวมบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับคนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีการโจมตีผู้คนในรถไฟใต้ดินด้วยก๊าซซารินที่โตเกียวโดยกลุ่มโอมชินริเคียวอันเป็นงานสารคดีคุณภาพสูง

นอกเหนือจากการอ่านงานวรรณกรรมตะวันตกจำนวนมาก นักเขียนผู้นี้เป็นนักฟังเพลงแจ๊ซรวมถึงเพลงป๊อบบางกลุ่มตัวยง และมีผลทำให้ตัวละครเอกในนิยายหลายเล่มที่มักจะเล่าเรื่องด้วยมุมมองตัวละครที่หนึ่งมีความสนใจในเรื่องนี้ตามไปด้วย ลิสต์รายชื่อแผ่นเสียงเพลงแจ๊ซของมุระคะมิพลอยได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์ในปัจจุบันด้วย หลังจากมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติและสถานะคนนอกในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นทำให้เจ้าตัวย้ายไปอยู่ต่างประเทศ โดยอยู่ในอเมริกายาวนาน ในยุโรปด้วย เพิ่งย้ายกลับมาอาศัยในญี่ปุ่นในช่วงไม่นานมานี้ การติดต่อกับสำนักพิมพ์และระบบการพิมพ์ในอเมริกาอย่างใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานเขียนมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ได้รับเชิญไปสอนในหลายมหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากหลายแห่ง เช่น ที่พรินซ์ตันเมื่อค.ศ. 2008 นอกจากนี้ก็ได้รับรางวัลจากหลากหลายสถาบันที่บางครั้งก็นำมาซึ่งการถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมก็มี 

ในแง่ที่ตั้งของโครงการห้องสมุดนี้ มหาวิทยาลัยวาเซดะเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ก่อตั้งมายาวนานเกือบ 140 ปีและมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงจากคุณภาพการศึกษาหลายท่าน ที่ตั้งของวิทยาเขตหลักอยู่แทบจะใจกลางของโตเกียว มีสถาปัตยกรรมจากยุคก่อตั้งมาจนร่วมสมัยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วิทยาเขตหลักหรือวิทยาเขตเก่าแก่ที่สุดอันเป็นที่ตั้งของหอสมุดกลาง โครงการห้องสมุดมุระคะมิจึงมีบริบทที่น่าสนใจเพราะหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในอัญมณีที่ฉายแสงแห่งความรู้ของประเทศญี่ปุ่นประชันกับห้องสมุดที่ทรงคุณภาพของอีกหลายสถาบันได้เป็นอย่างดี ข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่ามีหนังสือมากกว่าสี่ล้านห้าแสนเล่มและเพิ่งขยายอาคารห้องสมุดใหม่ไปเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ในฐานะผู้ใช้ห้องสมุดที่เพิ่งขยายไปตอนนั้น เคยคาดคะเนด้วยสายตาว่าห้องสมุดใหม่นี้น่าจะรองรับหนังสือที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาไปได้อีกหลายสิบปีเลยทีเดียว

มุระคะมิเป็นคนเลือกสถาปนิกด้วยตัวเองโดยระบุว่าเป็นเค็นโกะ คุมะ โครงการเริ่มต้นด้วยการคิดว่าทำอย่างไร

จึงจะสามารถสร้างโลกใหม่ขึ้นมาอีกใบหนึ่งบนพื้นที่จำกัดนี้ได้ ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ TBS ของญี่ปุ่น สถาปนิกกล่าวว่าอยากให้ห้องสมุดนี้เป็นพื้นที่ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในมหาวิทยาลัยที่ต้องเน้นเรื่องการเรียน การสอน การทำวิจัย ฯลฯ อันเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดเมื่อสร้างอาคารนี้จึงอยากให้ผู้ใช้เหมือนกับได้วาร์ปเข้ารูไปโผล่ยังพื้นที่อื่น คุมะบอกว่าในงานเขียนของมุระคะมินั้นชอบสร้างโลกที่เหมือนกับชวนผู้อ่านให้เข้าอุโมงค์เพื่อโผล่ไปยังโลกอีกใบหนึ่ง ในแง่นี้อาจจะเปรียบเปรยกับการอ่านนิยายของมุระคะมิที่มักจะมีบรรยากาศแปลกๆ ชวนให้ผู้อ่านเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่งเสมอ 

ภายใต้โครงสร้างคอนกรีตที่จริงจัง โฉมหน้าของห้องสมุดนี้เป็นสีขาวและมีแนวของอุโมงค์เส้นไม้ดัดสีอ่อนเป็นทางต้อนรับหรือซุ้มประตูทางเข้า ทั้งนี้โตเกียวเป็นเมืองที่สร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเป็นหลัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องเมืองอุตสาหกรรมหรือการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่หลังสงครามก็ตาม เมืองแบบอุตสาหกรรมมีแต่ความตึงเครียด สถาปัตยกรรมจึงทำหน้าที่ชักชวนผู้ใช้ห้องสมุดเข้าสู่โลกที่มีแต่ความอ่อนโยนของไม้ มีการเลือกใช้ไม้ที่มีคุณภาพแตกต่างกันมาใช้ในหลายจุดของตัวอาคาร เช่น ไม้ดัดมุโมงค์ทางเข้าเป็นไม้สนจากนิวซีแลนด์ที่ทนแรงดัดโค้งได้ดี 

สถาปนิกให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเพราะคนในอดีตอาศัยอยู่ในป่ามาก่อน ต้นไม้และไม้ในงานก่อสร้างจึงน่าจะเป็นวัสดุที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยได้ดีที่สุด เหมือนได้อยู่กับเพื่อน การสร้างพื้นที่ที่ภายนอกต้อนรับด้วยไม้เพื่อปลอบความรู้สึกของคนเมืองคอนกรีตเข้าสู่พื้นที่ภายในที่เป็นห้องสมุดที่ก็เป็นไม้เช่นกัน 

เมื่อเข้าไปด้านใน อุโมงค์จริงๆ ที่เป็นเหมือนอัฒจันทร์นำสายตาขึ้นสู่ด้านบนโดยมีชั้นหนังสือไม้โอ๊กขาวจากอเมริกาเหนือผลิตที่ฮอกไกโด โดยที่หนังสือในห้องสมุดนี้ไม่ได้จัดเรียงตามระบบการจัดหนังสือทั่วไป จึงสามารถสร้างชั้นหนังสือตั้งแต่พื้นจนชนฝ้าเพดาน แม้จะหยิบยากไปมั่งก็ตาม (ตามคำกล่าวปนหัวเราะของสถาปนิก) อุโมงค์หนังสือที่เน้นหนังสือจริงๆ ถึงแม้จะเลือกใช้วัสดุไม้โอ๊กขาวที่สวยงามมากมาทำตัวชั้น แต่ก็พยายามออกแบบให้แสดงตัวตนของความเป็นชั้นให้น้อยที่สุด การลบหน้าตัดที่แสดงความหนาของไม้ออกเป็นหนึ่งในวิธีที่เลือกใช้ รายละเอียดของงานไม้ เช่น แนวบันไดกับอัฒจันทร์ที่ชวนตกถ้าเดินไม่ระวังนี้แนบราวจับไว้ด้านหนึ่งอย่างเนียนตา 

แม้กระทั่งป้ายห้องน้ำที่ติดตั้งลอยออกมาจากผนัง ขนาดที่ค่อนข้างเล็กสีพาสเทลเพียงจางๆ ต่างจากสีของผนังออกมาเพียงเล็กน้อย เพื่อสร้างความรู้สึกของการค้นหา การค้นพบ โลกใบเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกใบใหญ่กว่า

เปรียบเปรยกับการอ่านหนังสือดีๆ ที่เรามักค้นพบโลกอีกใบหนึ่งซ่อนตัวอยู่ โลกใบนั้นมีโครงสร้าง มีตัวละคร มีความรู้สึก มีรายละเอียดปลีกย่อยของตัวเอง ห้องสมุดฮะรุคิ มุระคะมิก็หวังว่าจะสร้างโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมา ชักชวนให้ผู้คนเข้าไปค้นหาความหมายของหนังสือด้วยตัวเอง

waseda.jp
kkaa.co.jp

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *