CITIZEN TEA CANTEEN OF NOWHERE

Citizen Tea Canteen of nowhere โชว์รูมสินค้าหัตถกรรมกึ่งโรงน้ำชาสไตล์โกปิ๊โดย ศรัณย์ เย็นปัญญา ที่เป็นดั่งตัวกลางเชื่อมงานออกแบบและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมหยิบยืมวัฒนธรรมไทย-จีนเก่าแก่มาปัดฝุ่นอีกครั้ง

TEXT: RATCHADAPORN HEMJINDA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

เป็นที่รู้กันว่าตลาดน้อยจะมีคาเฟ่และสเปซใหม่ๆ เปิดขึ้นมาทุกเดือน ครั้งนี้เรียกได้ว่าเกิดขึ้นประชิดรั้วศาลเจ้ากันเลยทีเดียว Citizen Tea Canteen of nowhere แอบอยู่ในซอยดวงตะวัน ทางไปศาลเจ้าโจวซือกง 

ศรัณย์ เย็นปัญญา (ขวา), เบญจภัค เพชรคล้าย (ซ้าย)

จะว่าไปแล้ว ขอเปลี่ยนใจไม่ใช้คำว่า “แอบ” ละกัน เพราะการตัดสินใจจะ “ฉูดฉาด” ด้วยกระเบื้องสีส้มสลับดำ ตั้งแต่พื้นยันเพดาน มันคือการตะโกนบอกให้คนที่เดินผ่านไปมาต้องเหลียวมองชัดๆ โอ – ศรัณย์ เย็นปัญญา ศิลปินและนักออกแบบผู้ก่อตั้ง 56th Studio หยิบเอาคาแร็คเตอร์ความเป็นจีน – ไทย ของตลาดน้อยมากระเทาะเปลือกออก โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการลงสำรวจ tea culture ในเยาวราช “ในเยาวราชมีร้านเจ๋งๆ เยอะมาก เค้าจะมีวิช่วลบางอย่าง เช่น กล่องชาโบราณ หรือแม้การทำช่องเก็บของเป็นโปสเตอร์ เอาลายมาแปะเป็นลายดอกเหมย ดอกบ๋วย ซึ่งมัน (โคตร) คูล เราก็เลยเอา element พวกนั้นมา silk screen ด้วยมือ แล้วก็ทำเป็นวอลเปเปอร์ลงบนไม้เหลือใช้ พวก element ความเป็นเสือ มังกร สิริมงคล ถ้ำชา มันอยู่ในวัฒนธรรมชาอยู่แล้ว เราก็เลยหยิบมาใช้”

แต่ Citizen Tea Canteen of nowhere ไม่ใช่ร้านชาซะทีเดียว เพราะเจ้าของห้องแถว โอ๊ะ – เบญจภัค เพชรคล้าย (ที่ครั้งนี้กลายมาเป็นหุ้นส่วนร้านด้วย) บอกกับศรัณย์ว่าร้าน F&B ในย่านมีเยอะแล้ว โดยเนื้อแท้แล้วที่นี่คือโชว์รูมสินค้าหัตถกรรมที่เป็นพื้นที่ให้คนซื้อได้มาเจอกับสินค้า “เรารู้สึกว่าให้ตายยังไง หัตถกรรมมันก็ยังเป็น underdog culture มันคือความน้อยเนื้อต่ำใจของชาวบ้านว่าทอเสื้อเท่าไหร่ก็ไม่รวยสักที แล้วพอเราลงพื้นที่บ่อยๆ เราก็รู้เลยว่าจริงๆ แล้วการที่ของมันจะขายได้เนี่ย ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มันต้องเชื่อมต่อกัน มันถึงจะสามารถรักษาความพิเศษของงานหัตถกรรมให้คงอยู่จนกระทั่งถึงมือของผู้ซื้อได้” ศรัณย์ บอกกับ art4d

Photo courtesy of Citizen Tea Canteen of nowhere

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมในร้านจึงอัดแน่นไปด้วยงานหัตถกรรม ไม่ว่าจะเสื้อผ้าแบรนด์ citizen of nowhere กระเป๋า เครื่องประดับ หรืองานศิลปะ / งานออกแบบที่มีกลิ่นอายแบบ “ทำมือ” เต็มไปหมด “ผมมองว่าชามันเป็น service และประสบการณ์ที่มา add-on งานหัตถกรรมของเรา” ศรัณย์ อธิบายต่อว่า สิ่งเหล่านี้ มันคือสิ่งที่การซื้อผ่านออนไลน์ช็อปให้ไม่ได้ “แถมกระบวนการทำชาที่นี่ก็ “มือ” มากๆ ตั้งแต่การชง การเบลนด์ หรือกระทั่งแก้วเสิร์ฟ” อธิบายง่ายๆ จากประสบการณ์ที่เราไปมาก็คือแต่ละแก้วที่เสิร์ฟนั้นพิถีพิถันจริงๆ หรือพูดอีกแบบก็คือใช้เวลาเสิร์ฟต่อแก้วค่อนข้างนานนั่นเอง 

Photo courtesy of Citizen Tea Canteen of nowhere

ด้านหลังเคาน์เตอร์บาร์น้ำชาของ Citizen Tea Canteen of nowhere เรียงรายไปด้วยขวดชา กาน้ำชา แก้วชาและเครื่องพวง จากไอเดียเครื่องพวงที่เห็นได้ตามร้านอาหารสมัยก่อนที่ดูเชย แต่ศรัณย์เลือกที่จะหยิบมาปัดฝุ่นใหม่ด้วยลวดลายกราฟิกและชิ้นส่วนงานหัตถกรรมที่พอนำมา match กันมันกลับกลายเป็นงานออกแบบที่ดูใหม่และมีรสชาติเฉพาะตัว นอกจากแพกเกจจิ้งแล้ว เครื่องดื่มชาทั้งชานม ชาดำ และกาแฟโกปิ๊ โดยเฉพาะ Signature tea เบลนด์หมายเลขที่ 13 Duck Noodle ที่ได้แรงบันดาลใจจากก๋วยเตี๋ยวเป็ดกรมเจ้าท่าเจ้าดังในตลาดน้อย จากการทำงานร่วมกับ tea master จึงได้ส่วนผสมที่ให้เซนส์ woody ค่อนข้างสูง เป็นกลิ่นที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศในร้านก๋วยเตี๋ยว และนั่นคือสิ่งที่ศรัณย์ตั้งใจคือการเบลนด์สองสิ่งคือชุมชนและธุรกิจของเขาเข้าด้วยกัน

พอขึ้นไปบนชั้นสองของร้านจะเจอกับบานหน้าต่างที่อยู่ในระดับเดียวกับหลังคาของศาลเจ้า และตอนนั้นเองที่เราเข้าใจว่า ทั้งหมดทั้งมวลในร้านมันไม่ได้ contrast กับบริบทแต่อย่างใดเพราะสีสันของหลังคาศาลเจ้านั้นจัดจ้านสูสีกับของในร้าน และมันสะท้อนไปความจัดจ้านของตัวผู้ออกแบบที่พยายามผสมผสานสูตรใหม่ๆ อยู่เสมอ “สิ่งที่เราทำมันอาจจะดูไม่เป็นผู้ใหญ่เท่าไหร่นะ แต่เรารู้สึกว่ามันจะ trigger ให้คนรุ่นใหม่เห็นว่ามันยังมีทางใหม่ๆ คือเรามองว่าถางหญ้าเพื่อหาหนทางใหม่ๆ ไว้มาสักพักแล้วล่ะ ในยุคที่มันยังไม่มีพื้นที่สำหรับคนทำงานออกแบบ เราโยนหินก้อนแรกไปแล้ว ทีเหลือก็โยนต่อเองแล้วกัน” ศรัณย์ ทิ้งท้าย 

Citizen Tea Canteen of nowhere เปิดบริการวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-19.00 น. 

facebook.com/citizenteacanteen 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *