PROMPT DESIGN

ไปร่วมหาคำตอบกันกับ art4d ว่าอะไรที่ทำให้ Prompt Design กลายเป็นแนวหน้าของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในระดับเวทีโลก รวมถึงพูดคุยกับสมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้ง Prompt Design ถึงก้าวย่างการเติบโต วิธีคิดที่แตกต่างในการออกแบบ และเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง 5 ผลงานที่หยิบยกมาพูดคุย

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF PROMPT DESIGN

(For English, press here

สมชนะ กังวารจิตต์ จัดเป็นนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่คว้ารางวัลระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดที่มีความหลากหลาย ตีโจทย์แตก สามารถสื่อสารสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ Prompt Design ของเขาเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังจากก่อตั้งในปี 2009 ในปัจจุบันพวกเขายืนบนแถวหน้าของวงการบรรจุภัณฑ์โลกได้อย่างภาคภูมิใจ art4d ชวนสมชนะมาเล่าถึงก้าวย่างการเติบโต รวมทั้งวิธีคิดที่แตกต่างและแม่นยำของ Prompt Design

art4d: อยากให้เล่าถึงเส้นทางของ Prompt Design จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้

Somchana Kangwarnjit: ต้องเท้าความไป 15 ปีก่อน เริ่มต้นจากความไม่รู้เลยละกัน เน้นความชอบและหลงใหลในงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่สมัยเรียน โดยตอนที่เริ่มตั้งบริษัทก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าจะมีงานทางด้านนี้ไหม ปรากฏว่าก็ไม่มีจริง ๆ (หัวเราะ) สาเหตุในตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเพราะอะไร มารู้ในช่วงหลังๆ ว่า “อ๋อ เมื่อหลายสิบปีก่อนงานออกแบบบรรจุภัณฑ์มันจะอยู่แค่ 2 ที่ คือ ไม่อยู่กับพวกเอเจนซี่โฆษณาก็อยู่กับโรงพิมพ์ ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว มันถือว่าเป็นงานรองของพวกเขาเลย ทำให้การหางานในช่วงนั้นเรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็น อีกอย่างผู้ประกอบการเองก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานตรงจุดนี้ ส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญก็จะเป็นแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากก็จะมี Global Guideline มาอยู่แล้ว คนไทยก็แค่ปรับให้เป็น local ก็เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้านะ

แต่นับเป็นโชคดีของผม ที่ผมชอบทำงานประกวดมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว พอมาเปิดบริษัทก็ยังทำงานประกวดอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นรูปแบบบริษัท ช่วงนั้นว่างมาก งานก็น้อย เลยมีเวลาทำงานประกวด บังเอิญไปชนะรางวัล ในวงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่มาก มันก็เสมือนเราก็ไปเปิดโลกในวงการนี้อย่างแท้จริง พอไปรับรางวัลเราก็ได้เห็นคนเก่งๆของโลก ที่ทำแบรนด์ของโลกจริงๆ มาบรรยายพิเศษให้ฟัง ถือว่าทำให้เราเข้าใจมันมากขึ้น

หลังจากนั้นก็ทำงานประกวดอย่างต่อเนื่องต่อไปจนผ่านมา 3 ปี ก็ได้รางวัลติดต่อกัน ประมาณปี 2013 จนกระทั่งสมาคมที่ใหญ่ที่สุดด้านบรรจุภัณฑ์ของ PENTAWARDS เชิญผมไปเป็นกรรมการตัดสิน นี่ถือว่าผมได้เปิดจักรวาลบรรจุภัณฑ์เลย มันได้ประสบการณ์มากจริงๆ ทำให้ตรงนี้เองชาวต่างชาติเริ่มรู้จักออฟฟิส Prompt Design เริ่มมีโอกาสดีๆ จากสมาคมอื่นๆ ให้ช่วยไปเป็นกรรมการหลังจากนั้น 20 กว่าครั้ง มันทำให้เราพอจะเห็นภาพรวมของตลาดบรรจุภัณฑ์ทั้งโลก

จากเป้าหมายที่ตนเองภูมิใจ ขยายมาเป็นเป้าหมายความภูมิใจในทีมงาน จนเป็นความภาคภูมิใจในประเทศ คล้ายๆ ได้เหรียญทองโอลิมปิค และเราก็ยังไม่หยุดที่จะทำงานประกวดอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด บริษัท Prompt Design ของไทยได้ถูกจัดอันดับเป็นที่ 15 ของโลกในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเราก็ยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ ยังต้องพัฒนาต่อไป

art4d: การเป็นนักออกแบบรรจุภัณฑ์ที่ดีควรจะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

SK: ส่วนตัวผมคิดว่าเสน่ห์ของการออกแบบบรรจุภัณฑ์มันดีตรงที่มันผสานศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น ศาสตร์การสร้างแบรนด์, ศาสตร์การออกแบบหลายแขนง, ศาสตร์การตลาด, ศาสตร์วิศวกรรม, ศาสตร์เรื่องการขนส่ง คือพื้นฐานต้องมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้พอสมควร

art4d: อยากให้ช่วยช่วยเล่ากระบวนการทำงานของคุณตั้งแต่รับบรีฟ วิจัยตลาด กลุ่มเป้าหมาย ไปจนจบงาน 

SK: เป็นการทำงานแบบปกติ แล้วแต่โจทย์ เช่น โจทย์ง่าย เพราะอาจเคยทำมาแล้ว รู้บริบทเดิมๆ ของตลาดที่เคยทำ โจทย์ยาก เช่น เป็น first  mover ในตลาด หรือ อาจจะรวมไปถึงการรีแบรนด์ อันนี้เรียกว่าท้าทายมาก และสุดท้ายคือ ไม่มีโจทย์ ให้ครีเอทอะไรก็ได้ กำหนดกลุ่มเป้าหมายอะไรก็ได้ หรือแม้กระทั่งให้พัฒนาสินค้าอะไรก็ได้ อันนี้ถือว่าหน้ามืดกันไปเลยทีเดียว

Design Thinking จะมีเน้นการไปทำ Survey จริง กับคนที่เลือกซื้อของนั้นจริงๆ พูดให้เห็นภาพชัดคือ เราจะไปถามขณะเค้าจะหยิบสินค้าเลย ถามว่าทำยากมั้ยตรง Survey แบบนี้ ตอบเลยครับว่ายากมาก เราต้องรู้ว่าคนจะซื้อสินค้านั้นช่วงไหน วันเวลาใด ในอดีตบางทีเราไปก็หมดวันยังไม่ได้เลยก็เคยมีครับ แต่เราก็พัฒนาเรื่อยๆ จนพอจะรู้ว่าจะต้องทำ Survey แบบไหน

art4d: คุณมีวิธีทำให้ลูกค้ามั่นใจได้อย่างไรว่าการลงทุนกับงานออกแบบบรรจุภัณฑ์จะส่งผลดีต่อธุรกิจของเขา

SK: ผมว่าวิธีที่สำคัญที่สุด คือให้ผลงานมันบอกเอง ให้มันเป็นตัวโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในตัวมันเอง แต่ช่วงแรกๆ จะยากหน่อย เพราะลูกค้าจะไม่เชื่อเรา และ Supplier ก็ไม่เชื่อเรา เราต้องปักธงว่าเราต้องผลิตผลงานดีๆ และสร้างสรรค์ และยิ่งเป็น ICON ของวงการนี่เรียกว่ายิ่งดีเข้าไปอีก เราต้องทำมันให้ต่อเนื่อง พอเราทำสิ่งเหล่านั้นแล้ว ความมั่นใจในตัวลูกค้ามันจะมาเองโดยอัตโนมัติ คราวนี้เราก็จะทำงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น ลูกค้าก็กล้าที่จะลงทุนมากขึ้น

art4d: อยากให้เล่าถึงโจทย์ในการทำงานที่ยากที่สุดและผลลัพธ์ที่คุณแก้ไขออกมาท้ายที่สุด 

SK: ผมว่าโจทย์เนื้องานไม่ยากเท่าไร ถ้าเราหมกมุ่นทำมัน ยังไงมันก็คิดออก แต่การทำงานที่แตกต่างอย่างเหนือชั้น อันนี้ผมว่ายากสุด มันมีโปรเจ็คต์นึงของน้ำผึ้งสุภา ที่จะทำสินค้าน้ำผึ้งพรีเมี่ยม ขายในช่วงเทศกาล คือพวกเราก็อยากใช้การนำเสนอวัสดุที่มีความคล้ายกับตัว Beehive ความยากอยู่ที่เราจะใช้วัสดุอะไรดีที่ราคาไม่แพง แต่ได้ความเป็น Pattern ถี่ๆ รูปทรงหกเหลี่ยม เราตัดสินใจเลือกใช้กระดาษที่เค้าเรียกว่า Honeycomb Core ลักษณะกระดาษจะเป็นกระดาษสานกันเป็นรังผึ้งเพื่อรับแรง และปิดประกบบนล่างด้วยกระดาษคราฟ เดิมเป็นกระดาษที่เอาไว้ทำพวกพาเลท และพวกรองฐานรถหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่เราอยากให้โรงงานนั้นเอากระดาษประกบบนออก เพื่อโชว์กระดาษสานกันเป็นรังผึ้ง ตรงตามแบบที่เราต้องการ

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือไม่มีโรงงานไหนรับทำเลย (หัวเราะ) เพราะเวลาวิ่งไลน์อุตสาหกรรมใหญ่มันไม่สามารถมาทำอะไรแบบนี้ได้ สรุปเราใช้วิธีการเจรจากับโรงงาน โดยส่งผลงาน Prompt Design ให้เค้าดู ให้เขาเชื่อมั่นเรา มาเป็นทีมเดียวกัน ให้เขากล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่โรงงานผลิตทั่วๆ ไป และเราก็ทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าคุณช่วยพวกเรา และคุณกล้าที่จะทำงานท้าทาย ใครๆ ก็อยากผลิตกับคุณ สรุปก็สามารถผลิตได้จริงๆ และเป็นผลงานบรรจุภัณฑ์น้ำผึ้งที่โลกยอมรับมากๆ ชิ้นนึงเลย

art4d: อยากให้คุณเลือกผลงานที่ภูมิใจที่สุด 5 ชิ้นและเรื่องราวของผลงานเหล่านั้น 

SK: เอาจริงๆ ผมชอบในทุกๆ ชิ้นครับ เพราะมันมีข้อดีแตกต่างกัน มันมีด่านต่างๆ ที่จะต้องแก้แตกต่างกัน ถ้าให้เลือกขอเลือกจากจำนวนรางวัลที่ได้รับมากที่สุด 5 ชิ้น แล้วกัน

1. ข้าวศรีแสงดาว (จำนวน 15 รางวัล)

Srisangdao Rice

ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่แหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดในประเทศไทยซึ่งได้รับการรับรองระดับสากล ซึ่งในทุกๆ ปีข้าวในที่นี้จะผลิตออกมาเป็นจำนวนจำกัด โดยพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะใช้เป็นพื้นที่การปลูกข้าวแบบวิธีธรรมชาติ เพื่อให้ได้ข้าวอินทรีย์ที่ดีที่สุดและปราศจากสารเคมี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ข้าว Srisangdao ที่เกิดขึ้นมาเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม 

Srisangdao Rice

ดังนั้นบรรจุภัณฑ์ของเราจำเป็นต้องถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาให้ได้ เราจึงเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ทำมาจากแกลบที่เหลือใช้จากโรงงานผลิตเพื่อความยั่งยืน มาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ข้าวที่ดู minimal โดยฝากล่องปั๊มรูปเมล็ดข้าวที่เด่นชัดท่ามกลางลายเส้นกราฟิกของทุ่งกุลาร้องไห้ และ burning stamp โลโก้และข้อมูลด้านบนฝาด้านในใช้ผ้ากระสอบที่มีความหนาในการบรรจุข้าว พร้อมกับพิมพ์ข้อมูล Lot number ในการผลิตลงไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืนเราออกแบบให้บรรจุภัณฑ์ข้าวนั้นยังสามารถนำไปใช้เป็นกล่องกระดาษทิชชูได้อีกด้วย

2. น้ำอ้อยไร่ไม่จน – Numaoy raimaijon (จำนวน 12 รางวัล)

Raimaijon Sugarcane Juice

แพ็คเกจเครื่องดื่มที่มีรูปแบบโดดเด่น โดยใช้รูปทรงของอ้อยซึ่งเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม สื่อสารได้ชัดเจนมาก ผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินกับประสบการณ์เช่นการดื่มโดยตรงจากอ้อย ฟังก์ชั่นเสริมของการวางซ้อนนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและอ้อยจริงก็ปรากฏขึ้นเมื่อทำการเรียงซ้อนมันขึ้นไปเรื่อยๆ และยังส่งเสริมการขายอีกด้วย

Raimaijon Sugarcane Juice

3. น้ำแร่ 4Life by Doi Chaang (จำนวน 7 รางวัล)

4LIFE Mineral Water

ผลิตภัณฑ์น้ำแร่จากแหล่งน้ำธรรมชาติจากดอยช้าง ที่อุดมสมบูรณ์ ผลิตขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนัก ถึงความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำจากป่าธรรมชาติ เพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ที่เป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์

ภาพประกอบนั้นสื่อสารผ่านการใช้ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ตรงบริเวณแหล่งน้ำ ลายเส้นแถบขวางเป็นการเล่าเรื่องแหล่งน้ำ กับชีวิตสัตว์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น นกกระเรียน ที่บินมาหาอาหาร เสือที่ลงไปเล่นน้ำ หรือแม้กระทั้งจระเข้ที่ว่ายไปอย่างช้าๆ เพื่อหาเหยื่อ เป็นต้น โดยลักษณะคลื่นน้ำที่แตกต่างกันในแต่ละขวดมันถือเป็นจังหวะความงดงามระหว่างสัตว์ต่างๆ กับแหล่งน้ำ เพราะแหล่งน้ำที่ดีคือแหล่งน้ำที่มีไว้เพื่อชีวิตของสัตว์และคน นี่จึงเป็นที่มาของแบรนด์ 4Life Mineral Water by Doi Chaang Noise

4LIFE Mineral Water

4. น้ำ C2 Drinking Water ไม่มีฉลาก (จำนวน 7 รางวัล)

C2 Water No Label

หลังจากที่พวกเราเก็บข้อมูลในมุม Consumer Insight ของผู้บริโภคมาแล้วพบว่า การทำขวดน้ำดื่มที่ไม่มีฉลากนั้น จะเกิดปัญหาทั้งหมดอยู่ 2 อย่าง ก็คือ ตำแหน่งรายละเอียดข้อมูลทางโภชนาการและส่วนผสมต่างๆ ตามกฎหมาย และรายการบาร์โค้ดที่จะต้องใช้ในระบบพวกห้างต่างๆ อีกปัญหาคือ ผู้บริโภคเห็นว่าการไม่มีฉลากเป็นความคิดที่ดี แต่ดีไซน์ที่ไม่มีฉลากนั้นดูเสมือนว่า มันเป็นเพียงการลดต้นทุนและปลอมตัวมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึงอาจเป้นการได้ไม่คุ้มเสีย 

C2 Water No Label

พอเราเข้าใจถึง Consumer Insight แล้วเราจึงมาใช้ดีไซน์ในการแก้ปมปัญหาของทั้ง 2 เรื่อง คือ เรื่องฉลาก เรานำข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นตามกฎหมายมาใส่บนตัวขวดด้วยวิธีการปั๊มนูน EMBOSS และเรานำบาร์โค้ด มาสกรีนลงบนฝาขวด ส่วนเรื่องแบรนด์ เราเจตนาที่จะสร้างลวดลายให้สวยงามเป็นคอลเล็คชันต่างๆ และเล่าเรื่องถึงผลกระทบที่ได้จากการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาสัตว์ต่างๆ ที่มีความสุขท่ามกลางธรรมชาติที่ดีของพวกเขา ทั้งบนบก, ในทะเล, บนท้องฟ้า และในหิมะ เช่น กวางที่อยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์, หมีขาวที่อยู่ในพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ มาเล่าเรื่องผ่านลวดลายปั๊มนูนบนขวดน้ำ 

C2 Water No Label

บรรจุภัณฑ์นี้ทำจากวัสดุ PET รีไซเคิล 100% การไม่มีฉลากของมันลดความซับซ้อนในการคัดแยก และการรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังจากดื่ม นับเป็นก้าวที่ดีของเรื่องสิ่งแวดล้อม ชื่อของแบรนด์น้ำดื่ม C2 มีที่มาจาก See Through หรือ Circular Economy + Together สะท้อนถึงภารกิจที่ต้องดำเนินการของแบรนด์นี้

5. ข้าวหอมมะลิกะเทาะเปลือกสด Heathy Food Healthy Life (จำนวน 6 รางวัล)

Thai Hommali Brown Rice from HEALTHY FOOD HEALTHY LIFE

ทุกๆ วันนี้เรากำลังได้ทานข้าวที่ผ่านระบบการผลิตแบบ Mass Production พวกเรามีการตั้งคำถามว่าข้าวที่ผ่านกระบวนการนี้ มันดีแล้วจริงหรือไม่ พวกเราเลยทดลองใช้กระบวนการกรรมวิธีโบราณคือไม่ใช้เครื่องจักร หรือ เรียกว่าภูมิปัญญาชาวบ้านแบบวิถีบรรพชน ไม่ว่าจะเป็น การทำนาด้วยคน, ใช้ควายไถนา, การเกี่ยวข้าว, การตีข้าว, นวดข้าว เป็นต้น ผลลัพธ์ที่ได้ปรากฎว่าข้าวหอมมะลินั้นมีคุณประโยชน์มากกว่า ข้าวที่ผลิตในระบบ Mass Production นี่แหละจึงเกิดแบรนด์ Heathy Food Healthy Life ขึ้น

Thai Hommali Brown Rice from HEALTHY FOOD HEALTHY LIFE

พวกเราจึงใช้รูปที่สื่อสารถึงความพิถีพิถันในทุกๆ ขั้นตอนที่กว่าที่จะได้ข้าวหอมมะลิมาในแต่ละเมล็ด เราใช้วิธีการแกะสลักเมล็ดข้าวไม้ขนาดใหญ่ จากนั้นมาทำสีเพื่อให้ได้ความใกล้เคียงกับเมล็ดข้าวจริงที่สุด และให้เห็นรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนแบบครบถ้วนชัดเจน ซึ่งในแต่ละจุดนั้นจะสื่อสารนั้นจะเล่าเรื่องกระบวนการทั้งหมดที่ใช้ เช่นชาวนาใช้ควายไถนา การเกี่ยวข้าว การตีข้าว การตำข้าว ล้วนแล้วเป็นกระบวนการผลิตแบบภูมิปัญญาแบบวิถีแบบบรรพชนที่พิถีพิถันทั้งสิ้น ส่วนปลายด้านบนของเมล็ดข้าวนั้น เป็นจมูกข้าวที่เป็นแหล่งรวมคุณประโยชน์พิเศษไว้

เราทำงานร่วมกับช่างแกะสลักชาวบ้านหลายๆ คน เพื่อจะให้ได้เมล็ดข้าวแกะสลักที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะพวกเราอยากให้รู้ว่ากว่าเราจะได้ข้าวมาในแต่ละเมล็ดนั้น มีความยากลำบากมาก พิถีพิถันมาก เพียงเพื่อให้ผู้บริโภคได้ลิ้มรสชาติของข้าวหอมมะลิไทย ที่เรียกว่าข้าวอย่างแท้จริง

Thai Hommali Brown Rice from HEALTHY FOOD HEALTHY LIFE

art4d: จากการที่คุณได้ไปเป็นกรรมการในรายการประกวดที่สำคัญๆ ของโลก พอจะมองเห็นแนวโน้มหรือทิศทางของงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตว่าจะไปทางไหน

SK: แนวโน้มและทิศทางของบรรจุภัณฑ์ในอนาคตผมคิดว่ามี 3 ทิศทางก็คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มาอย่างเต็มรูปแบบ งานมินิมัลสไตล์ กับงานไอเดียสร้าง Noise หรือสร้างกระแส สิ่งแวดล้อมนี่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่ามันมาอย่างเต็มรูปแบบขึ้นเรื่อยๆ แทบจะเรียกได้ว่าทุกๆ แบรนด์จับกระแสนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Design for the Circular, Design for the Zero, Design for Reuse หรือจะเป็นเรื่อง Edible Packaging เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มกระแสนี้ยังคงจะมีอยู่อย่างน้อยๆ 5-10 ปี อย่างแน่นอน

เรื่องมินิมัลสไตล์ เนื่องจากเมื่อก่อนผู้บริโภคนั้นคุ้นเคยกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีสีสันและเน้นขายของ Hard Sell แต่กลับกันโลกยุคใหม่นั้นคนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Millennials นั้นมีอิทธิพลต่อยุค Internet และ Social Media ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการออกแบบในหลายๆ แขนง ไม่ว่าจะเป็นงาน Product Design ที่ทุกๆ แบรนด์มุ่งเน้นความเรียบง่าย ตัวอย่างชัดๆ คือ Smart Phone และ TV ที่วันนี้ดูแสนที่จะเรียบง่าย จึงเป็นเหตุผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เริ่มปรับตัวตาม จวบจนมาถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เรียบง่าย มันทำให้ดูโดดเด่นและดึงดูดสายตาของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างง่ายดาย

ส่วนงานสร้างกระแส ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลก Social Media นั้นเป็นโลกที่หมุนเร็วมากๆ เมื่อก่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์นั้นใช้เวลานาน กว่าจะประชาสัมพันธ์ทีนึงก็ต้องวางแผนกันยกใหญ่ มาถึงวันนี้สิ่งเหล่านั้นได้เปลี่ยนไป โลกต่างๆ หมุนเร็วจนมีเหตุการณ์กระแสสังคมมากมายนับไม่ถ้วนในทั่วทุกมุมโลก บรรจุภัณฑ์เองเป็นหนึ่งเครื่องมือที่ใกล้ผู้บริโภค และสามารถสร้างกระแสได้โดยง่าย และไม่จำเป็นต้องทำ Mass Production อีกต่อไป จึงเป็นเหตุผลว่า เราจะเห็นบางแบรนด์ทำออกมาเพื่อจับกระแสสังคมตลอด เพราะต้องการสร้าง Noise ให้แบรนด์ในวงกว้างได้มากกว่าที่เคยเป็น 

prompt-design.com

facebook.com/promptdesign

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *