HEITO 1909

สตูดิโอ ECG International Landscape Consultants จากไต้หวันพลิกพื้นที่โรงงานน้ำตาลเก่าให้กลายเป็น HEITO 1909 สวนสาธารณะที่แสดงแนวความคิดการพัฒนาเมืองและเก็บรักษาอาคารเก่าไว้พร้อมกัน

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF ECG INTERNATIONAL LANDSCAPE CONSULTANTS

(For English, press here

ในบางครั้ง การพัฒนาเมืองก็หมายถึงการทุบอาคารเก่าทิ้งเพื่อแผ้วทางให้กับอาคารใหม่ๆ แต่ ECG International Landscape Consultants บริษัทออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจากไต้หวันกลับเชื่อว่า การพัฒนาเมือง และการเก็บรักษาอาคารเก่าและเรื่องราวที่มีคุณค่า เป็นสองสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันได้ และแสดงแนวคิดนี้ให้ได้เห็นในผลงาน HEITO 1909 งานออกแบบสวนสาธารณะในเมือง Pingtung ประเทศไต้หวัน

HEITO 1909 คือโปรเจ็คต์การปรับปรุงพื้นที่โรงงานน้ำตาลเก่าใจกลางเมือง Pingtung ที่สาธารณะชนไม่ได้มีโอกาสเข้าไปย่างกรายตั้งแต่ปี 1909  ให้กลายเป็นสวนสาธารณะที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ชาวเมือง

ตลอดแนวทางน้ำที่ทอดตัวยาวตลอดสวน ประกอบด้วยพื้นที่ย่อยที่เกิดจากการปรับปรุงและต่อเติมโครงสร้างของโรงงานน้ำตาลเดิม เพื่อชวนย้อนระลึกถึงบรรยากาศของโรงงานน้ำตาลในอดีต และเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมือง Pingtung โดยชื่อ ‘Heito’ คือชื่อเมือง Pingtung ในยุคที่ไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น

หนึ่งในตัวอย่างของการปัดฝุ่นโครงสร้างเก่าให้มีรูปโฉมใหม่ก็คือ พื้นที่คอร์ทยาร์ดโล่งใต้ดินที่เคยเป็นโครงสร้างของโรงงานน้ำตาลมาก่อน สถาปนิกปรับปรุงพื้นที่นี้โดยการปรับระดับดินเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น เสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างอาคารเดิม พร้อมเพิ่มองค์ประกอบตกแต่งอย่างเช่นซุ้มประตู และโมเดลจำลองโรงงานน้ำตาลที่ทำจากเหล็กขึ้นสนิม

บ่อบำบัดน้ำเสียคอนกรีตรูปวงกลมเดิมก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่รูปแบบต่างๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น บ่อทรายและสนามเด็กเล่นที่มีความลาดเอียง เปิดโอกาสได้เด็กๆ ได้ป่ายปีนกันอย่างสนุกสนาน หรือศาลาวงกลมพร้อมเสาสีขาวในรูปร่างคล้ายไม้ไผ่ และฝ้ากระจกที่สะท้อนระนาบพื้นให้ต่อเนื่องมาด้านบน ซึ่งสถาปนิกออกแบบให้เป็นสัญลักษณ์ของศาลาไม้ไผ่ที่คนงานโรงงานสร้างให้กับจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ในโอกาสที่พระองค์เสด็จเยือนโรงงานน้ำตาลในปี 1932

นอกจากนี้ ยังมีบ่อบำบัดน้ำเสียเดิมที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นบ่อ reflecting pool ที่สะท้อนเงาของภูเขา Da-Wu สัญลักษณ์สำคัญอันหนึ่งของเมือง Pingtung และมีการเจาะทางเดินเข้าไปยังตรงกลางบ่อ เพื่อให้ผู้คนรู้สึกเสมือนได้แหวกว่ายในสายน้ำ นับว่าเป็นการผสมผสานอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างกลมกลืน แถมเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยมลพิษจากโรงงาน ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอีกเช่นกัน

facebook.com/1988ECG

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *