DÉJÀ VU: WHEN THE SUN RISES IN THE WEST

ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก พระพุทธเจ้าปรากฏตัวในวัฒนธรรมกรีกโบราณ นที อุตฤทธิ์ ร้อยเรียงวัฒนธรรมและความทรงจำขึ้นใหม่ในนิทรรศการ Déjà vu: When the Sun Rises in the West ที่ตั้งคำถามสำคัญว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากอารยธรรมและความเจริญของโลกมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เอเชีย แทนที่โลกตะวันตกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

TEXT: VICHAYA MUKDAMANEE
PHOTO COURTESY OF THE ARTIST AND THE ART CENTER, SILPAKORN UNIVERSITY

(For English, press here

ผมเดินเข้าห้องสมุด ตั้งใจค้นหาหนังสือเพื่อใช้เขียนวิทยานิพนธ์ บรรณานุกรมของนักวิชาการชาวอังกฤษที่ผมอ้างอิงอยู่ระบุรายชื่อหนังสือและบทความมากมายที่น่าจะเป็นประโยชน์กับหัวข้อของผม แน่นอนส่วนใหญ่เป็นนักเขียน เป็นศิลปิน เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวต่างประเทศ… ผมนั่งอ่านหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า เปิดเล่มนู้นและข้ามมาอ่านเล่มนี้ เวลาผ่านไปสักพักใหญ่ๆ… อยู่ดีๆ ผมก็หยุด แล้วความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นในหัว… จริงๆหัวข้อที่ผมศึกษาก็เกี่ยวข้องกับสังคมไทย แต่ทำไมข้อมูลที่ผมหาได้ส่วนใหญ่เขียนโดยชาวตะวันตก มีหลายเล่มที่เขียนจากประสบการณ์เมื่อ ‘พวกเขา’ เดินทางมาประเทศไทย ศึกษาจากแหล่งข้อมูล ‘ของเรา’ มีเพียงบางเล่มที่คนไทยเขียนแต่ก็หายากยิ่ง… ผมเหน็ดเหนื่อยกับการแปลความหมายข้ามไปมา ระหว่างวิธีการเขียนแบบตะวันตกกับบริบทและความหมายแบบไทยซึ่งผมเคยมีประสบการณ์ร่วม นึกเสียดายและสงสัยว่าชาวต่างชาติเหล่านี้ทำไมถึงรู้เรื่องประเทศไทยดีกว่าคนไทย หรือว่าจริงๆ แล้วคนไทยเขียนหนังสือกันน้อย หรือผมอาจจะยังค้นหาไม่ดีพอ… หรืออาจเป็นเพราะข้อมูลและวิธีการเขียนของคนไทยยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ แม้ว่าเราจะพยายามพูดเกี่ยวกับตัวเราเองก็ตาม…

ผมเดินเข้าไปชม “Déjà vu: When the Sun Rises in the West” นิทรรศการเดี่ยวของ นที อุตฤทธิ์  ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีผลงานเป็นที่รู้จักมากที่สุดท่านหนึ่งในเวทีการแสดงระดับนานาชาติ จัดโดย หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ในความร่วมมือกับ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์อาร์ต พร้อมกับย้อนนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อครั้งต้องคร่ำเคร่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาพระพุทธศาสนาเมื่อหลายปีก่อน สาเหตุส่วนหนึ่งที่นิทรรศการ Déjà vu พาผมนึกย้อนไปได้ไกลถึงขนาดนั้น อาจจะเป็นเพราะรูปทรงของพระพุทธรูปและพระสงฆ์ที่ปรากฏอยู่ในผลงานแทบจะทุกชิ้นของนิทรรศการ ซึ่งศิลปินใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญสื่อถึงแก่นแท้ในศิลปะและอารยธรรมตะวันออก อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคำถามสำคัญที่ศิลปินสะท้อนผ่านผลงานหลากหลายเทคนิคจำนวนหลายสิบชิ้นในนิทรรศการ ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากอารยธรรมและความเจริญของโลกมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เอเชีย แทนที่ยุโรปและอเมริกาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” และเหตุผลสำคัญที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการถูกสะกิดโดนความรู้สึกน้อยใจลึกๆ ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะคล้ายกับศิลปินและนักวิชาการอีกจำนวนมากในประเทศไทย ที่เฝ้าตั้งคำถามว่าทำไมเสียงของเราดูเหมือนจะดังไม่เท่ากับเสียงของชาวยุโรปและอเมริกันเสียที

“Déjà vu: When the Sun Rises in the West” เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของศิลปิน และเป็นครั้งแรกหลังจากจบการศึกษาที่ศิลปินกลับมาจัดแสดงผลงานเดี่ยวในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นนิทรรศการจำนวนไม่กี่ครั้งของนทีที่จัดขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งยังรวบรวมผลงานหลายสิบชิ้นไว้ในที่เดียวกัน มีภัณฑารักษ์รับเชิญคือ ลอเรดานา ปัซซินี ปารัคชานี  ภัณฑารักษ์ชาวอิตาเลียนผู้หลงใหลในศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิทรรศการมีจุดเริ่มต้นจากความสนใจอย่างลึกซึ้งของศิลปินต่อประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก กระทั่งเชื่อมโยงสู่การตั้งสมมติฐานถึงเงื่อนไขที่อารยธรรมตะวันตกได้รับความสำคัญในบริบทระดับนานาชาติ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์สำคัญคือการล่าอาณานิคมที่ขยายอำนาจการปกครองและการค้าของยุโรปและอเมริกา ควบคูไปกับการเผยแพร่องค์ความรู้ ศิลปะ และวัฒนธรรมไปสู่แทบทุกมุมโลก

Déjà Vu (2019)

นทีสร้างโลกสมมติโดยการนำสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา หลักคำสอนในพระธรรม และภาพแทนเศษเสี้ยวจากเรื่องเล่า ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ของตะวันออกโดยเฉพาะของไทย เข้าไปปะทะ แทรกแซง ผสมปนเปอยู่ในผลงานศิลปะของยุโรป ยกตัวอย่างเช่นผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบขนาดใหญ่มากกว่า 5 เมตร ชื่อ The Dream of Siamese Monks (2020) เป็นภาพพระสงฆ์ยืนชี้ดอกบัวขนาดใหญ่มหึมาซึ่งบานอยู่ท่ามกลางทิวทัศน์ของธรรมชาติและอาคารบ้านเรือนแบบตะวันตก โดยนทีได้รับแรงบันดาลใจสำคัญมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ‘ปริศนาธรรม’ รูปดอกบัวใหญ่บานอยู่กลางสระที่วัดบวรนิเวศฯ ฝีมือขรัวอินโข่ง ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งถือเป็นภาพวาดชิ้นสำคัญที่ปรับเปลี่ยนคติความเชื่อดั้งเดิมในการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง จากจักรวาลไตรภูมิมาเป็นการอุปมาอุปไมยเพื่อสื่อถึงหลักธรรมคำสอน  เหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามในการปฏิรูปพระพุทธศาสนาสู่หลักการเหตุและผล สอดคล้องกับเจตนาในการปฏิรูปประเทศไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ท่ามกลางกระแสการล่าอาณานิคมของยุโรปและฝรั่งเศสในช่วงเวลาดังกล่าว

Left: The Dream of Siamese Monks (2020)

ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมัน The Reclining Buddha with Volcano (2019) เป็นภาพพระพุทธรูปสีทองปางปรินิพพาน ตั้งวางอยู่กลางโถงของอาคาร รายล้อมด้วยเสากรีก ฉากหลังเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปและภูเขาไฟ ซึ่งศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมยุโรป Architectural Veduta (คาดว่าสร้างสรรค์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1490) เชื่อกันว่าเป็นภาพจิตรกรรมที่สะท้อนอุดมคติของเมืองและสังคม สถาปัตยกรรมและผังเมืองถูกจัดวางตามโครงสร้างสังคมอันเป็นระเบียบ อันเกิดจากการปกครองที่สมบูรณ์แบบตามหลักคิดของตะวันตก หรืออีกตัวอย่างคือภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน Temple of the King (2019) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภาพจิตรกรรม The Flagellation of Christ โดย Piero della Francesca (คาดว่าสร้างสรรค์ในช่วงปี ค.ศ. 1468 – 1470) โดยนทีเปลี่ยนตัวละครด้านหลังจากต้นฉบับคือฉากการเฆี่ยนตีพระเยซูคริสต์ กลายเป็นภาพชายหนุ่มผมยาวอยู่ท่ามกลางวงล้อมนักท่องเที่ยว มีฉากหลังเป็นพระพุทธรูปตั้งอยู่บนแท่นสูง ส่วนด้านหน้าที่แต่เดิมเป็นภาพการสนทนาของชายสามคน นทีได้มอบบทบาทใหม่เป็นพระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ราชการ และชายหนุ่มในชุดขุนนางยุโรป ผลงานทั้งสองชิ้นมีสัญลักษณ์มากมายสอดแทรกไว้ให้ผู้ชมได้ตีความ ร้อยเรียงความทรงจำ เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน ตะวันออกและตะวันตก วิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ระหว่างโลกอุดมคติและโลกแห่งความเป็นจริงที่ซ้อนทับกัน

The Reclining Buddha with Volcano (2019)

Left: Temple of the King (2019)

อกจากผลงานจิตรกรรมแล้ว นิทรรศการจัดแสดงผลงานประติมากรรมอีกหลายชิ้น ซึ่งล้วนสอดแทรกนัยยะของการปะทะกันระหว่างตะวันออกและตะวันตก ตั้งคำถามถึงความหมายของรูปเคารพ แง่มุมความคล้ายและความต่างในวัฒนธรรม ทั้งที่มีที่มาจากบริบทเชิงสังคม รากฐานของปรัชญาและการดำเนินชีวิตอันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่นผลงาน Déjà Vu (2019) เป็นประติมากรรมพระพุทธรูปสีขาว ถอดแบบมาจากพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาเลียนผู้เดินทางมาทำงานในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ติดตั้งเผชิญหน้ากับประติมากรรมรูปชายหนุ่มเปลือยในลักษณะประติมากรรมกรีกโบราณสีขาวเช่นเดียวกัน ทำมือเป็นท่าทางเดียวกับพระหัตถ์ของประติมากรรมพระพุทธรูป หรือผลงาน Death of Buddha (2020) เป็นรูปพระพุทธรูปในปางกำลังบรรทม สร้างสรรค์ในลักษณะที่ผสมผสานความเหมือนจริงตามสัดส่วนและสรีระของมนุษย์กับรูปแบบอุดมคติของพระพุทธรูป เช่นเม็ดพระศกบนพระเศียร และพระกรรณที่ยาวมาถึงพระศอ พระอิริยาบถที่นอนแบบราบติดตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสีขาว ปฏิเสธไม่ได้ว่าครั้งแรกที่เห็นทำให้ผมนึกเปรียบเทียบไปถึงประติมากรรมพระเยซูคริสต์ที่ติดตั้งอยู่บนหลุมศพ ความหมายที่สอดคล้องและแตกต่างกันเกี่ยวกับ “ความตาย” ของวัฒนธรรมเอเชียและยุโรป

Déjà Vu (2019)

Death of Buddha (2020)

นอกจากตัวอย่างผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังที่กล่าวไปแล้ว นิทรรศการนี้ยังประกอบด้วยผลงานศิลปะในเทคนิคอื่นๆ เช่น ผลงานเทคนิคกระจกสี งานปักลายผ้า งานภาพพิมพ์แกะไม้ โมเสก เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้างสรรค์ศิลปะของยุโรป นอกจากนี้ ในผลงานบางชิ้น นทียังได้นำลายเส้นตัวอักษรในลักษณะคล้ายภาพพ่นสเปรย์กราฟิตี้บนกำแพง (graffiti) มาวาดและสลักลงบนผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ถ่ายทอดเรื่องราวและเนื้อหา คำพูด และหลักธรรม ตามเจตนาเฉพาะตัวของศิลปิน

“Déjà vu: When the Sun Rises in the West” จัดแสดงจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ วันจันทร์ถึงเสาร์ เวลา 9.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

art-centre.su.ac.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *