ความหรูหรามีหน้าตาเป็นอย่างไร? ชวนไปตอบคำถามนี้กับ Balenciaga สาขาใหม่ใน New Bond Street กรุงลอนดอน ที่นำเสนออัตลักษณ์ของแบรนด์ผ่านอาคารที่เต็มไปด้วยความหยาบ ร้อยแตก และคราบไคล ภายใต้คำจำกัดความว่า ‘Raw Architecture’
TEXT : PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF BALENCIAGA
(For English, press here)
คงจะเชื่ออยู่ ถ้าบอกว่า ร้าน Balenciaga สาขา New Bond Street ในกรุงลอนดอน เป็นร้านที่รีบเปิดทำการไปก่อนทั้งๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะหน้าตาของร้านตั้งแต่ภายนอกไปจนถึงภายในมันช่างดิบ หยาบ ฉีกจากหลายร้านแบรนด์หรูบน New Bond Street อย่างเห็นๆ แต่ว่าโฉมหน้าอันสุดโต่งนี่แหละ คือโฉมหน้าอย่างที่ร้านตั้งใจจะเป็นจริงๆ
Balenciaga สาขานี้มีเนื้อที่ประมาณ 710 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตึก 3 ชั้น ภายในเป็นพื้นที่ขายเสื้อผ้า ready-to-wear รวมไปถึงเครื่องประดับต่างๆ ของ Balenciaga ร้านนี้เป็นผลงานการออกแบบของอาร์ตไดเรกเตอร์ Niklas Bildstein Zaar และ Andrea Faraguna สถาปนิกจากสตูดิโอ Sub ในกรุงเบอร์ลิน โดยมี Demna ครีเอทีฟไดเรกเตอร์หัวหอกของ Balenciaga เป็นคนกำกับไอเดียภาพรวมอีกทีหนึ่ง
หน้าตาของร้านที่เผยร่องรอยปริแตก คราบไคล เหมือนยังไม่เสร็จดี เกิดจากคอนเซปต์ ‘Raw Architecture’ ของแบรนด์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากสถานที่ที่ถูกทิ้งร้าง เช่น ลานจอดรถเก่า โรงงานเก่า เป็นการเสนอสเปซที่อยู่ในชั่วขณะการเปลี่ยนแปลง แสดงภาพความชั่วคราว แทนที่จะโชว์ตัวตนสุดท้ายอันสมบูรณ์ ร้าน Balenciaga สาขานี้เป็นร้านสาขาที่ 4 ของ Balenciaga ที่เดินตามรอยคอนเซปต์ ‘Raw Architecture’ ต่อจากร้านสาขา Sloane Street ในลอนดอน สาขาเบอร์ลิน และสาขาเซี่ยงไฮ้
อาคารด้านนอกห่อหุ้มด้วยผิวคอนกรีตเปลือยที่โชว์คราบดำด่างออกมาอย่างไม่เหนียมอาย โดยรอบชั้นหนึ่งกรุด้วยบานหน้าต่างที่ยาวตั้งแต่พื้นจรดฝ้า เปิดให้เห็นตัวตนข้างในแบบจะๆ ตัดกันกับประตูสแตนเลสบานเงาอันทึบตันที่ตั้งอยู่หัวมุมอาคาร
ข้างในก็ให้อารมณ์ไม่ต่างกับข้างนอกเท่าไหร่ รอยเปรอะเปื้อนและร่องแตกเผยตัวบนผิวผนังคอนกรีตเปลือยอย่างภาคภูมิ ที่เฟอร์นิเจอร์เหล็กก็มีคราบสนิมปรากฎให้เห็น แถมที่พื้นก็มีโคลนเปรอะเปื้อนอยู่ในบางบริเวณ เมื่อแหงนหน้าไปด้านบนก็เจอฝ้าที่โชว์งานระบบหรา หลอดไฟที่เหมือนหลอดไฟในโรงงานอุตสาหกรรมก็ยิ่งขับเน้นให้สเปซดูดิบขึ้นไปอีก แต่ถึงอย่างนั้น สเปซร้านก็ไม่ได้หยาบกร้านไปเสียอย่างเดียว เพราะยังมีความเงาความคมจากวัสดุเช่นอลูมิเนียมขัดเงาหรือกระจกมาลดทอน
แต่มีเรื่องให้เซอร์ไพรส์หน่อยก็คือ ร่องรอยที่เห็น จริงๆ ไม่ได้เป็นร่องรอยที่เกิดขึ้นเองทั้งหมด แต่เป็นร่องรอยที่ถูกแต่งเติมขึ้นใหม่อย่างบรรจงโดยช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ โคลนที่กระจัดกระจายตามพื้นก็เป็นโคลนสังเคราะห์ เสาคอนกรีตที่ดูหนาทึบบางต้น จริงๆ ก็เป็นเสากรุด้วยแผ่นคอนกรีตหล่อขนาดบางเหมือนกัน ความสับสนปนเปว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ก็ดูสอดคล้องกับแฟชั่นไอเทมของ Balenciaga ช่วงที่ผ่านมา ที่ชวนให้สงสัยเหลือเกินว่าตกลงแล้วความหรูหราคืออะไรกันแน่ อย่างเช่นถุงใส่ของทรงเหมือนถุงขยะ กระโปรงที่เหมือนยางรองพื้นรถ หรือรองเท้าอันยับเยินในราคาหลายหมื่นกว่าบาท จะว่าไปมันก็ตอบรับยุคจักรวาลนฤมิตในตอนนี้ ที่พรมแดนของโลกจริง โลกเสมือนความจริง ความไม่จริง พร่าเลือนลงไปทุกที แล้วรูปที่เราเห็นในบทความเนี่ยเป็นรูปจริงๆ ใช่ไหมไม่ใช่รูปเรนเดอร์?