มารู้จักกับอาคารหลังใหม่ของ ‘หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน’ ที่ออกแบบโดย design qua ซึ่งเชื่อมโยงตัวตนในอดีตและปัจจุบันของหอศิลป์ พร้อมต้อนรับผู้คนด้วยท่าทีอันเป็นมิตร
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมไทย ชื่อ ‘หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน’ (Jim Thompson Art Center) น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นเคยกันมานาน เพราะหอศิลป์แห่งนี้มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมสิ่งทอ และฟูมฟักศิลปินร่วมสมัยไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2003 แต่สำหรับคนในวงกว้าง หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูเสียเท่าไหร่ แม้หลายคนจะรู้จักกับชื่อ ‘จิม ทอมป์สัน’ จากผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยหรือพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สันก็ตาม แต่ก็ไม่รู้ว่ามี ‘หอศิลป์’ อยู่ข้างใน สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะหอศิลป์ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ บนชั้นสองของเรือนไทยในพิพิธภัณฑ์บ้านไทยฯ บวกกับการที่หอศิลป์จัดนิทรรศการแบบ invitation only อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดเพียง 175 ตารางเมตร (ประมาณห้องแถวเล็กๆ หนึ่งชั้น 5 ห้องติดกัน) ผู้คนจึงไม่รับรู้ถึงตัวตนของหอศิลป์เท่าที่ควร
ด้วยความที่พื้นที่หอศิลป์เดิมเต็มไปด้วยข้อจำกัดและไม่ตอบโจทย์ในระยะยาวนี้เอง หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน จึงขยับขยายมาอยู่ในอาคารหลังใหม่ที่สร้างบนลานจอดรถเดิมขนาดไร่เศษๆ ของพิพิธภัณฑ์บ้านไทยฯ โดยอาคารหลังนี้ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 3,000 ตารางเมตร และได้รับการออกแบบโดย design qua นำโดย มาลินา ปาลเสถียร
ไอเดียการสร้างหอศิลป์ที่เป็นมิตรกับผู้คนนั้นแสดงออกให้เห็นตั้งแต่หน้าตาของอาคาร แม้อาคารแสดงตัวออกมาพร้อมผิวคอนกรีตเปลือยที่ดูดิบ หยาบ แต่ริ้ว façade เหล็กฉีกไล่สีที่เล่นเส้นสายคล้ายการทักทอเส้นไหมในกี่ พร้อมด้วยซุ้มประตูทางเข้าอิฐแดงที่ยื่นตัวออกมาด้านหน้าคล้ายกับการยื่นมือออกมาทักทาย ก็ทำให้อาคารดูเป็นกันเอง และเชื้อเชิญให้ขาจรทั้งหลายได้เข้ามาค้นหาว่ามีอะไรซ่อนอยู่ภายใน
เมื่อลอดผ่านซุ้มประตู ก็จะได้รับการต้อนรับจากกำแพงอิฐแดงอ่างทองที่เรียงตัวเป็นลวดลายผ้ามัดหมี่ ที่ย้ำเตือนให้เรารู้ว่าตึกนี้สัมพันธ์กับ จิม ทอมป์สัน ชายชาวอเมริกันผู้เผยแพร่ผ้าไทยสู่ชาวโลก เช่นเดียวกับ façade เหล็กฉีกด้านหน้าอาคารที่สะท้อนตัวตนของนักธุรกิจผ้าไทยผู้นี้เช่นกัน และหากได้มาเยี่ยมเยือนศูนย์แห่งนี้ในเวลาที่แดดยังไม่ร่ม ลมยังไม่ตก ก็จะได้รับอีกคำทักทายจากแพทเทิร์นแสงเงาอันสวยงามบนพื้นบริเวณโถงทางเข้า ที่เกิดจากการตกกระทบของแสงกับ façade อิฐด้านบน
ทางเดินของอาคารที่เปิดโล่งรับอากาศภายนอก ค่อยๆ พาเราเคลื่อนจากชั้นล่าง ผ่านพื้นที่ต่างๆ ที่จัดสรรมาให้ผู้คนสามารถนั่งเล่นอย่างสบายอารมณ์ เช่น ARTZY CAFE คาเฟ่ประจำตึกกับที่นั่งทั้งภายในและภายนอกที่เปิดมุมมองให้เห็นผู้คนที่เดินไปมาบนตึก ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ที่มาพร้อมเก้าอี้นั่งตัวใหญ่ชวนให้อ่านหนังสือไปพลาง เอกเขนกไปพลาง และดาดฟ้าอเนกประสงค์กรุพื้นอิฐแบบบ้านๆ ที่เปิดให้เห็นวิวมุมสูงของหมู่อาคารในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย เสมือนเป็นการทอดสายตารำลึกไปที่จุดเริ่มต้นของหอศิลป์
เมื่อเดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ ก็จะพบกับแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะสองห้องในขนาดพื้นที่รวมกันกว่า 300 ตารางเมตร ที่ดีไซน์ออกมาเป็นกล่องสี่เหลียมสีขาว เพื่อให้ง่ายต่อการออกแบบและจัดนิทรรศการ ซึ่งในวันที่เราได้มาเยือนกำลังจัดแสดงนิทรรศการ ‘Future Tense: Imagining the Unknown Future, Contemplating the Cold War Past’ ที่พาไปดูผลกระทบของสงครามเย็นในประเทศต่างๆ รอบโลก ที่เปิดประตูสู่อนาคตอันไม่แน่นอน ส่วนด้านบนสุดของอาคารเป็นชั้นดาดฟ้าที่ตระเตรียมไว้เพื่อจัดกิจกรรมหลากหลาย และเปิดโอกาสให้ผู้คนได้พบปะพูดคุยพร้อมรับลมชมวิวของกรุงเทพฯ
ระหว่างที่เดินตามทางเดินเพื่อสำรวจส่วนต่างๆ ของอาคาร บางทีก็จะมีสายลมเอื่อยๆ พัดโชยมาปะทะตัว เป็นผลมาจากตัวอาคารที่ได้รับการออกแบบให้อากาศธรรมชาติถ่ายเทได้ ถึงลมธรรมชาติจะไม่ได้เย็นยะเยือกเหมือนลมจากเครื่องปรับอากาศ แต่ก็เพียงพอที่จะบรรเทาอากาศร้อนของกรุงเทพฯ และช่วยยึดโยงตัวเราให้รู้สึกถึงโลกภายนอก แม้จะอยู่ภายในอาคารก็ตาม
นอกเหนือจากลมแล้ว อาคารก็ได้รับการออกแบบให้โอบรับองค์ประกอบอื่นๆ ของธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร อย่างเช่นรางน้ำยื่นตัวออกมาอย่างโดดเด่นที่ดาดฟ้าชั้นสาม เมื่อฝนตกลงมา รางน้ำก็จะช่วยให้สายฝนกลายเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของอาคารโดยปริยาย และที่สำคัญยังมีการเพิ่มช่องแสงในพื้นที่ที่ปกติมักจะปิดทึบอย่างส่วนจัดแสดงงานศิลปะหรือห้องเก็บเอกสาร เพื่อให้ผู้คนพอได้สัมผัสแสงธรรมชาติหรือรับรู้กาลเวลาภายนอกบ้าง ขณะเดียวกัน สถาปนิกก็ออกแบบให้ช่องแสงยื่นออกมาจากตัวอาคาร เพื่อเป็นการรับแสงแบบ indirect light และติดตั้งม่าน เพื่อให้แกลเลอรีเลือกปรับได้ว่าจะปิดหรือเปิดรับแสง “เราไม่ชอบตึกหลายตึกในกรุงเทพฯ ที่ทุกอย่างอยู่ในกล่องติดแอร์ แต่เข้าไปแล้วไม่รู้ว่าตรงไหนคือซ้ายขวาหน้าหลัง ไม่รู้ว่าแสงมาจากไหน หรือว่าเป็นกลางวัน กลางคืน” มาลินา ปาลเสถียร สถาปนิกจาก design qua กล่าว
จากการดีไซน์ที่พยายามเป็นมิตรกับทั้งผู้คนและธรรมชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารจะเป็นพื้นที่กึ่งภายในกึ่งภายนอกที่ช่วยให้ผู้คนสัมผัสได้ถึงธรรมชาติ และเป็นการสัมผัสที่สบายตัว ไม่โดนแดดหรือฝนโดยตรง และสำหรับมาลินา พื้นที่แบบกึ่งภายในภายนอกของหอศิลป์ ยังเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างอาคารหอศิลป์หลังใหม่ กับหมู่เรือนไทยในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย โดยไม่จำเป็นต้องถอดรูปหน้าจั่วจากเรือนไทยมาแปะที่อาคารใหม่
“เราสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาคารนี้กับบ้านเรือนไทยด้วยการสร้างสเปซแบบกึ่งภายในและภายนอกเหมือนกัน” มาลินากล่าว “เราไม่อยากก็อปปี้บ้านเรือนไทยเก่ามาใส่ มันเป็น expression ของยุคสมัยก่อน เราไม่เชื่อว่าเราควรจะเอารูปแบบตึกในร้อยปีก่อนมาสร้างวันนี้ สถาปัตยกรรมก็ควรจะสะท้อนเทคโนโลยี สังคม ของช่วงเวลาปัจจุบัน”
นอกจากอาคารหลังใหม่ของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน จะเป็นตัวแทนการย่างก้าวสู่ยุคใหม่ของหอศิลป์ แล้ว ดีไซน์ของอาคารที่ยึดมั่นในบริบทที่ตั้งและมีท่าทีอันเป็นมิตร ก็บอกเราเป็นนัยว่าหอศิลป์แห่งนี้จะย่างก้าวไปในอนาคต โดยตระหนักรู้ถึงกาล สถาน และเพื่อนร่วมทางของตน