BAAN AKAT YEN

ในย่านใจกลางเมืองอย่างซอยเย็นอากาศ ‘บ้านอากาศเย็น’ คือบ้านจาก Studio Krubka ที่สร้างบทสนทนาระหว่างความเป็นส่วนตัว และส่วนรวม ด้วยการปกปิดตัวอยู่หลังรั้วสูง และห่อหุ้มตัวด้วยเปลือกคอนกรีตแน่นหนา ขณะเดียวกันก็เปิดอาคารโอบล้อมคอร์ท และเจาะช่องโล่งรับธรรมชาติภายใน

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนเสียจริงๆ เพราะในขณะที่เราอยากมีพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถแสดงตัวตนของตัวเองโดยไม่ต้องกังวลสายตาใคร เราก็อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนหรือกับสรรพสิ่งอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่การอยู่อย่างเปลี่ยวเฉาในถ้ำมืด สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม Studio Krubka เสาะหาจุดสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัว กับการเปิดรับโลกภายนอกของบ้านในผลงานบ้านอากาศเย็นบ้านส่วนตัวของ อรรณพ ชั้นไพบูลย์ และ สุชีรา นิมิตราภรณ์ ผู้เป็นเจ้าของบริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ หมงราม่า

ชื่อบ้านอากาศเย็นเป็นชื่อที่อรรณพตั้งขึ้นหยอกล้อกับทำเลของบ้านที่อยู่ในซอยเย็นอากาศ อรรณพเลือกอาศัยในย่านใจกลางเมืองแห่งนี้ เพราะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตัวเอง บวกกับเคยใช้ชีวิตในคอนโดละแวกนี้มานานแล้ว จึงรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันกับย่านนี้ไปโดยปริยาย เมื่อที่ดินที่ตั้งของบ้านในปัจจุบันประกาศขาย อรรณพเลยคว้ามาไว้เป็นของตัวเอง

แม้อรรณพจะมีสัมพันธ์แนบแน่นส่วนตัวกับย่านเย็นอากาศ แต่บ้านอากาศเย็นของเขากลับปลีกตัวสันโดษออกจากซอยอย่างเห็นได้ชัด บ้านซุกตัวอยู่ในรั้วสูงสีเทา มีเพียงระแนงบริเวณประตูรั้วด้านหน้าเท่านั้น ที่พอเปิดให้เห็นร่องรอยของบ้านจากภายนอก จากความรั้วรอบขอบชิด บ้านอากาศเย็นจึงเป็นอาณาจักรส่วนตัวของอรรณพโดยสมบูรณ์ ท่ามกลางย่านซอยอากาศเย็นอันจอแจ

ผ่านพ้นปราการด้านนอกเข้าไปก็จะพบกับตัวบ้านที่เป็นกล่องคอนกรีต 2 ชั้นขนาดใหญ่ สเกลบ้านที่ดูมหึมาที่ประกอบขึ้นด้วยผืนผนังคอนกรีตเปลือยอาจทำให้บ้านดูขึงขัง คล้ายจะปิดกั้นตัวเองก็จริง แต่ตัวบ้านก็มีความพรุนและเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับแลนด์สเคป ผิดกันกับความสัมพันธ์ของบ้านกับซอยที่ดูตัดแยกจากกัน บ้านวางตัวล้อมคอร์ทตรงกลางที่ประกอบด้วยสวนขนาดย่อมและสระว่ายน้ำ พื้นที่ชั้นหนึ่งที่อยู่ล้อมรอบคอร์ทเป็นพื้นที่ส่วนรวมของบ้านที่เปิดต้อนรับแขกเหรื่อหรือเพื่อนฝูงที่แวะเวียนมาหา พื้นที่เหล่านี้กรุโดยรอบด้วยกระจกบานเลื่อน เมื่อเลื่อนกระจกทุกบานเปิดออกหมด ขอบเขตของห้องก็พังทลายลงและสเปซห้องก็ผนวกตัวไปเป็นส่วนหนึ่งกับแลนด์สเคป โครงเหล็กสีดำด้านบนที่เตรียมไว้สำหรับขึงตาข่ายนั่งเล่นและผนังกระจกของห้องนั่งเล่นชั้นสอง ก็ช่วยเสริมให้เปลือกอาคารโดยรวมดูพรุนและบางเบาลง

Photo: Beer Singnoi

พื้นที่ที่มีความส่วนตัวมากขึ้นตั้งอยู่บนชั้นสองและเกาะเกี่ยวอยู่รอบนอกของชั้นหนึ่ง แต่ละห้องเป็นเสมือนโลกส่วนตัวขนาดย่อม และต่างมีคาแรกเตอร์เฉพาะของตัวเอง ห้องอ่านหนังสือของอรรณพโดดเด่นด้วยผืนฝ้าโค้งและแนวช่องแสงที่ยาวต่อเนื่องตั้งแต่ผนังถึงฝ้า ห้องนั่งเล่นส่วนตัวชั้นสองในบริเวณใกล้ๆ ก็มีความเฉพาะตัวด้วยพื้นที่นั่งเล่นแบบหลุม และห้องหนึ่งของบ้านที่ฉีกออกไปจากห้องอื่นๆ เลยก็คือ ห้องครัวชั้นหนึ่งที่สุชีราอยากให้มีความรู้สึกเหมือนเรือนกระจก จึงมีกรอบหน้าต่างหน้าตาเป็นบ้านทรงจั่ว พร้อมด้วยฝ้าห้องที่เฉียงตามแนวบาน จริงๆ แล้ว ถึงจะไม่ได้เหยียบย่างไปในโซนส่วนตัว ใครๆ ก็น่าจะสัมผัสได้ว่าบ้านมีคาแรกเตอร์พิเศษข้างในซ่อนอยู่ จากการบอกใบ้ของทางเดินส่วนต้อนรับ ที่มีฝ้าม้วนตัวโค้งมนและการเจาะช่องแสงจากด้านบน

แม้จะอยู่ในโอบอ้อมของผนังคอนกรีตอันแน่นหนา แต่ละห้องในโซนส่วนตัวก็ไม่ได้ปลีกตัวเองโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก และจากกันและกัน ในบ้านมีการเจาะคอร์ทภายในที่ช่วยให้แต่ละห้องเชื่อมสัมพันธ์กันได้ และยังเปิดรับบรรยากาศธรรมชาติเข้ามา การเจาะคอร์ทก็ช่วยทอนความเทอะทะให้กับก้อนอาคารที่ใหญ่โต และทำให้พื้นที่ข้างในดูปลอดโปร่งขึ้น เช่นเดียวกับช่องแสงเล็กน้อยที่เจาะตามบริเวณต่างๆ ทั้งพื้น ผนัง หรือบนฝ้า ที่ช่วยทลายกรอบของสเปซให้แข็งเกร็งน้อยลง ต้นไม้และสวนหินที่อยู่ในคอร์ทต่างๆ ก็ทำให้ความขึงขังของคอนกรีตเปลือยดูโอนอ่อนลงเช่นกัน 

การผสมผสานตัวตนที่แตกต่าง การมัดรวมหลากดีกรีของความเป็นส่วนตัวและส่วนรวม และความไม่สมบูรณ์ขององค์ประกอบทั้งหลาย ได้กล่อมเกลาให้บ้านหลังนี้มีมิติของความเป็นมนุษย์ และเปิดพื้นที่ของมันให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระ โดยไม่รู้สึกเหมือนกำลังถูกข่มขู่โดยตัวบ้านเอง

fb.com/studiokrubka

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *