RADICAL ROOM: POWER OF THE PLAN

RIBA (Royal Institute of British Architects) เสนอนิทรรศการที่ชวนเราค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในแปลนของอาคารผ่านการสำรวจ ‘บ้าน’ ในหลายช่วงเวลาในประเทศอังกฤษ และพาเราขุดลึกไปยังอิทธิพลของผู้หญิงต่อการพัฒนาสถาปัตยกรรม

TEXT: PARK LERTCHANYAKUL
PHOTO: GARETH GARDNER EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

แบบแปลนนั้นไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เป็นแบบที่เขียนขึ้นมาเพื่อใช้ในการสร้างอาคารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะสะท้อนถึงตัวตนของเจ้าของบ้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นลำดับการเข้าถึงของแต่ละห้อง ทำไมห้องนี้ถึงวางไว้ที่จุดนี้ หรือเข้าถึงยากกว่าห้องอื่นๆ รวมไปถึงการสร้างห้องที่มีการใช้งานที่เฉพาะเจาะจงไปกับความต้องการของผู้ใช้งาน ทุกรายละเอียดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงจากผู้อยู่อาศัย ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาร่วมกันกับผู้ออกแบบซึ่งคาดหวังให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับการจัดวางให้สอดคล้องอย่างพิถีพิถันกับการดำรงชีวิตของผู้ใช้งานมากที่สุด การที่จะได้แบบแปลนที่สมบูรณ์ออกมานั้นเกิดขึ้นจากการศึกษาและพัฒนาแบบหลายขั้นตอน และมักมีผู้คนที่อยู่เบื้องหลังเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้ร่วมอยู่อาศัยในบ้าน ผู้ก่อสร้าง นายช่างหน้างาน ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่คนเหล่านั้นไม่ได้รับการพูดถึงเมื่อการก่อสร้างสำเร็จ และบ่อยครั้งที่บทบาทของ ‘ผู้หญิง’ ที่มีต่อสถาปัตยกรรมนั้นถูกมองข้ามไป

Photo: Gareth Gardner

นิทรรศการ Radical Room: Power of the Plan โดย RIBA (Royal Institute of British Architects) เชื้อชวนทุกคนมาสำรวจและค้นหา ความหมายที่ลึกซึ้งของแบบแปลนที่เป็นมากกว่าแบบก่อสร้าง ผ่านแบบบ้านในหลายยุคสมัยของประเทศอังกฤษในช่วงเวลากว่าเกือบ 500 ปี ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 18 19 และ 20 เพราะบ้านเป็นสถาปัตยกรรมที่ใกล้ชิดกับคนอย่างแท้จริง บ้านสามารถสะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน

Photo: Gareth Gardner

ชนชั้น วรรณะ อายุ เพศ และอาชีพ ของเจ้าบ้านล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อการออกแบบ ยิ่งไปกว่านั้น นิทรรศการนี้ยังเลือกนำเสนอเฉพาะสถาปัตยกรรมที่เกิดโดยมี ‘อิทธิพล’ ของ ‘ผู้หญิง’ เมื่อผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทเจ้าของบ้าน หรือสถาปนิก ซึ่งแม้บทบาทของผู้หญิงเหล่านี้จะไม่ได้รับการพูดถึง หรือมองเห็นได้อย่างง่ายดายผ่านแบบแปลน แต่ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน และมีความสำคัญในการพัฒนาให้เกิดสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ และล้ำสมัยในประวัติศาสตร์ของประเทศอ้งกฤษ

Photo: Gareth Gardner

นิทรรศการนี้ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิก Charles Holland และศิลปิน Di Mainstone ทั้งคู่ร่วมกันถ่ายทอดพลังของผู้หญิง เปลี่ยนห้องนิทรรศการธรรมดาๆให้กลายเป็นห้องที่สนุกสนาน ด้วยพรมและผ้าม่านสีสันสดใส มีการใช้กราฟิกที่โดดเด่น สนุกสนาน ซึ่งเกิดขึ้นโดยแรงบันดาลใจจากจุดเด่นของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค ออกแบบให้มีรูปแบบแตกต่างกัน แบ่งห้องออกเป็นสามส่วนตามยุคสมัย เมื่อผู้เข้าชมนิทรรศการเข้าไปในงาน จะรู้สึกราวกับว่าห้องนี้เป็นห้องเปล่าที่มีแต่สีและลวดลายตกแต่ง แต่หากเปิดผ้าม่านของแต่ละส่วนนั้นออกดู ก็จะเห็นเนื้อหาที่สะท้อนถึงผลกระทบของผู้หญิงต่อสถาปัตยกรรมในยุคนั้นๆที่ ‘ซ่อน’ อยู่หลังผ้าม่าน ราวกับว่าผู้ออกแบบจงใจให้ผู้ร่วมงานได้มีส่วนร่วมในการ ‘ค้นพบ’ บทบาทของผู้หญิงต่อสถาปัตยกรรมเหล่านั้น

Photo: Gareth Gardner

Photo: Gareth Gardner

บ้านหลังแรกคือ Hardwick Hall ซึ่งเป็นอาคารในยุค Elizabethan ที่เจ้าของบ้าน Bess of Hardwick มีความต้องการให้บ้านได้รับแสงธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อที่เธอจะได้สามารถแสดงผลงานผ้าถักทอได้ในทุกๆห้อง ส่งผลให้มีหน้าต่างกระจกบานใหญ่ไปทั้งตัวอาคาร ทำให้บ้านโปร่งและสว่างตลอดทั้งวัน ต่างกับบ้านในยุคสมัยเดียวกันที่มักจะทึบตัน และดูขึงขัง หลังต่อมาเป็นอาคารในยุคศตวรรษที่ 18 A la Ronde ซึ่งถูกออกแบบตามการใช้งานของ Jane และ Mary Parminter ลูกพี่ลูกน้องที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เนื่องจากทั้งคู่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในบ้าน ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันตลอดทั้งวัน อาคารจึงถูกออกแบบให้มีแปลนเป็นวงกลม มีทางเข้าบ้านมาสู่โถงกลมตรงกลาง และวางห้องที่เหลือทั้งหมดล้อมรอบโถงนั้น ทำให้แต่ละห้องนั้นได้รับแสงจากภายนอกไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา เจ้าของบ้านสามารถแบ่งการใช้งานให้สอดคล้องตามลำดับของกิจวัตรประจำวัน กับแสงธรรมชาติที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้น และได้เปลี่ยนห้องใช้งานหมุนไปตามเวลาของวัน เกิดการใช้งานที่น่าสนใจ และไม่น่าเบื่อ บ้านหลังสุดท้าย Hopkins House เป็นบ้านที่สถาปนิกคู่สามีภรรยา Patty and Michael Hopkins ออกแบบให้กับตัวเองในปี 1970 โดยที่ตัวอาคารสะท้อนรูปแบบของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเหล็ก และกระจกอย่างชัดเจน แต่การออกแบบนั้นไม่ได้เน้นไปที่การใช้งานซึ่งเป็นหลักการของยุคนั้นเพียงอย่างเดียว แต่มีการเพิ่มรายละเอียดของรูปทรงต่างๆ สีสันที่สนุกสนาน และการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างกับสถาปัตยกรรมในยุคเดียวกัน และยังสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านออกมาทางสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันกับเนื้อหาของนิทรรศการ คือการออกแบบภาพ วิดีโอและเสียงภายในงานโดยที่ได้สร้างสรรค์ออกมาผ่าน ‘เครื่องแต่งกาย’ ซึ่งถูกสวมใส่โดยนักแสดงหญิงและ ‘แสดง’ เป็นสถาปัตยกรรมนั้นๆ ร่วมกันกับ ‘บทประพันธ์’  ถ่ายทอดอารมณ์ของสถาปัตยกรรมออกมาผ่านกลอน การ Rap หรือแม้กระทั่งเพลง Punk และ Electronics โดยที่องค์ประกอบทั้งหมดนี้ถูกออกแบบใหม่ด้วยแรงบันดาลใจจากบทบาทของผู้หญิงที่มีผลต่อแบบแปลน วัสดุก่อสร้าง รูปร่างของอาคาร และเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของแต่ละยุค การที่เนื้อหาของงานทั้งหมดถูกซ่อนอยู่หลังผ้าม่านนั้นกลับยิ่งทำให้ผู้ร่วมงานสามารถให้ความสนใจกับการแสดงได้เต็มที่ เกิดอารมณ์และความรู้สึกร่วมจากภาพและเสียงจากการแสดงทั้งหมดนี้ได้โดยตรง เป็นการนำเสนอมุมมองที่แปลกใหม่ให้กับสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เน้นไปที่เนื้อหารูปร่างของตัวสถาปัตยกรรม และการออกแบบ แต่เป็นการสร้างความประสบการณ์ให้ผู้เข้าชมเกิดความรู้สึก ‘ร่วม’ ไปกับสถาปัตยกรรมนั้น โดยแม้ไม่อ่านเนื้อหาใดๆเลยก็สามารถทำให้รับรู้ถึงอิทธิพลของผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างมีพลัง หนักแน่น และน่าจดจำ

Photo: Gareth Gardner

Photo: Heiko Prigge

สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างมากของนิทรรศการนี้ ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์สุดท้ายที่เป็นตัวนิทรรศการที่น่าสนใจ แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงผลผลิตที่เกิดจากความร่วมมือของผู้คนจำนวนมากที่ล้วนมาจากสาขาวิชาชีพที่แตกต่างกัน ซึ่งนอกจากสถาปนิกที่เป็นส่วนน้อยแล้ว ยังมีทีมค้นคว้าวิจัย ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ผู้แต่งเพลง นักร้อง นักแสดง นักออกแบบเสื้อผ้า และอื่นๆอีกมากมาย ร่วมกันสร้างนิทรรศการที่สามารถเข้าถึงคนได้อย่างกว้างขวางหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงไปที่สถาปนิกเพียงอย่างเดียว ผู้เข้าชมสามารถที่จะรับรู้ถึงสิ่งที่นิทรรศการต้องการจะสื่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะในที่สุดแล้วสถาปัตยกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตของ ‘ทุกคน’ และจากนิทรรศการนี้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ยิ่งทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์นั้น เกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้คนมากมาย และเป็นเรื่องของ ‘ทุกคน’ อย่างแท้จริง

Photo: Gareth Gardner

architecture.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *