เซ็นทรัลจันทบุรี โครงการมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุดแห่งใหม่ในภาคตะวันออกที่ได้รับการออกแบบโดยความร่วมมือของ M.A.A.R, PHTAA และ Landscape Collaboration ที่หยิบเอาความหลากหลายทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวเมืองจันท์มาถ่ายทอดในรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Charming Chanthaburi’
TEXT : PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO : KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ใครหลายคนที่ได้ใช้เส้นทางสัญจรบนถนนตรีรัตน์ ย่าน CBD ของเมืองจันทบุรี คงจะได้พบกับเซ็นทรัลจันทบุรี โครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่ ครบครันฟังก์ชันด้วยศูนย์การค้ารูปแบบ Semi-outdoor, คอนเวนชั่นฮอลล์, คอนโดมิเนียม โรงแรม และพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ 4 ไร่ ที่ตอบโจทย์สารพัดกิจกรรม การพักผ่อน และ sport destination โดยได้ทีมสถาปนิกจาก M.A.A.R ผู้เคยสร้างผลงานออกแบบศูนย์การค้ามาแล้วหลายแห่งทั่วประเทศ และศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลพัฒนามาแล้วกว่า 7 แห่ง มาเป็นผู้ออกแบบศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี สาขาที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก อีกครั้ง
บนพื้นที่กว่า 46 ไร่ และเนื้อที่ปลูกสร้างอาคารกว่า 75,953 ตารางเมตร จักราวุธ โต๊ะบู สถาปนิกจาก M.A.A.R ได้ถ่ายทอดแรงบันดาลใจในการออกแบบครั้งนี้ ด้วยแนวคิดการออกแบบที่เรียบเรียงจากการศึกษาบริบทของเมืองจันทบุรี ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและวิถีชีวิต ตลอดจนบริบทของไซต์ที่อยู่ติดกับคลองภักดีรำไพ และแนวเขายาวเลียบไปกับถนน สถาปนิกจึงวางมาสเตอร์แปลนและออกแบบอาคารให้เป็นศูนย์การค้ารูปแบบ semi-outdoor โดยแบ่งออกเป็นโซนติดเครื่องปรับอากาศ และโซนไม่ติดเครื่องปรับอากาศอย่างชัดเจน เพื่อเปิดรับแสง ลม และสอดแทรกพื้นที่บางส่วนของอาคารให้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ รวมถึงซ่อนเรื่องราววิถีชีวิตของชาวเมืองจันท์ให้สะท้อนผ่านเส้นสายลายโค้งของสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอก
โดยการให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่เพื่อต้อนรับและสิ่งยึดโยงกับชาวเมืองจันท์ในครั้งนี้ M.A.A.R ยังได้ผนึกความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับ PHTAA สถาปนิกออกแบบภายใน และ Landscape Collaboration ภูมิสถาปนิก เพื่อให้ทุกฟังก์ชันสามารถถ่ายทอดและเข้าถึงความเป็นเมืองจันทบุรีได้อย่างน่าสนใจ
หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ สถาปนิกออกแบบภายในจาก PHTAA ได้อธิบายแนวคิดการออกแบบโซนต่างๆ ภายในอาคาร โดยเป็นแนวคิดที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่กลมกลืนไปกับบริบทของชุมชนมากกว่าการสร้างความแตกต่างออกไป จึงหยิบยกเสน่ห์ของบ้านริมน้ำจันทบูร และวัสดุโทนไม้ มาใช้ร่วมกับการออกแบบเป็นหลัก ซึ่งการออกแบบบรรยากาศเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ในหลายๆ โซนภายในอาคาร เช่น โซนบ้านชานจันท์ Co-working Space โซนพลอยจันท์ โซนตลาดจันท์เจ้า โซนศูนย์อาหาร (Food Patio) และโซน semi-outdoor ที่ผสมผสานการใช้วัสดุกึ่งปูนกึ่งไม้ จึงให้กลิ่นอายของบ้านเรือนในชุมชนริมน้ำจันทบูรได้เป็นอย่างดี
สำหรับพื้นที่ของแลนด์สเคปที่สามารถไหลเข้ามาเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายในส่วน semi-outdoor ของอาคาร ภูมิสถาปนิกได้ยึดการออกแบบผ่านการศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชน ที่แต่เดิมมักจะใช้ถนนริมคลองภักดีรำไพ เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมและออกกำลังกายเป็นประจำ การออกแบบสวนรอบโครงการหรือในชื่อ ‘สวนเพลิน’ จึงมีจุดมุ่งเน้นให้พื้นที่ส่วนนี้กลายเป็น sport destination ของคนเมืองจันท์ เพื่อคืนกำไรให้กับชุมชน และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถมาใช้งานร่วมกันได้
การออกแบบส่วนสุดท้ายที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด และสามารถมองเห็นได้จากภายนอกของฝั่งถนนตรีรันต์ คือ ฟาซาดอลูมิเนียมคอมโพสิตลายเกล็ดปลาพลวง พันธุ์ปลาน้ำจืดที่พบได้มากในน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี และถัดจากเส้นถนนหลักฝั่งทางเข้าจากถนนสายยย่อย จะพบกับฟาดซาดที่เรียงตัวกันเป็นเพิร์ทเทิร์นลายเสื่อจันทบูร สินค้า OTOP ประจำจังหวัด โดยฟาซาดส่วนนี้สถาปนิกเลือกใช้อิฐมอญสีส้ม ซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่นที่สามารถพบได้ทั่วไปในตัวจังหวัดมาใช้เป็นวัสดุหลัก เพื่อบอกเล่าภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างภาพจำให้กับอาคาร รวมถึงสื่อสารความเป็นไทยร่วมสมัยในอีกรูปแบบหนึ่ง
นอกจากโจทย์หลักของการออกแบบแล้ว สิ่งที่ท้าทายสำหรับสถาปนิก คือการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดภาพจำที่แปลกใหม่ไปจากผลงานที่เคยฝากไว้ รวมถึงการไม่เพิ่มรายละเอียดที่มากจนเกินไป หรือการไม่ลดทอนรายละเอียดจนเกลี้ยงเกลา เพราะอาจทำให้ความเป็นไทยร่วมสมัยถูกสื่อความหมายกลายเป็นอื่น ถึงแม้ว่าผิวอาคารโดยรวมจะถูกสื่อสารด้วยเส้นสายที่ตรงไปตรงมาแบบสมัยใหม่ แต่รายละเอียดในแต่ละวัสดุที่เลือกใช้มีการดัดโครงหรือลบเหลี่ยมมุมเพื่อล้อเลียนไปกับวิถีชีวิตและสินค้าท้องถิ่นของเมืองจันทรบุรี ก็ยังสามารสร้างภาพจำรูปแบบใหม่ให้กับอาคารประเภทศูนย์การค้าแห่งนี้ เกิดเป็นอีก destination แห่งใหม่ ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดจันทบุรีได้ในอีกแง่มุมหนึ่ง