แทนที่จะถอดจิต นั่งกรรมฐาน เข้าฌาน ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์เลือกสำรวจความว่างเปล่าในร่างกายตัวเองผ่านกลวิธีทางคณิตศาสตร์ และบันทึกออกมาเป็นภาพวาดและงานประติมากรรม
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ลบมายาคติอย่าง ‘ศิลปินมักไม่เก่งคำนวน’ ไปหมดจด เพราะในแทบจะทุกๆ ผลงานศิลปะของเขาล้วนมีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ (อย่างแม่นยำ) เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานเสมอ ไม่น่าแปลกใจที่ Existence of Void นิทรรศการเดี่ยวที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) เราจึงได้เห็นร่องรอย ‘การทด’ อยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ที่พิเศษก็คือ ครั้งนี้ธวัชชัยทำงานกับภายในร่างกายตนเอง ไม่ได้ลงน้ำหนักไปที่การเล่นกับ perspective หรือมุมมองบิดเบี้ยวของวัตถุเหมือนงานก่อนๆ
วิดีโอในนิทรรศการเกริ่นว่าต้นทางของนิทรรศการนี้อยู่ที่สถานปฏิบัติธรรม ณ จังหวะที่ร่างกายของธวัชชัย (ที่กำลังปฏิบัติธรรม) เริ่มลืมความเจ็บปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ ตอนนั้นเองที่เขาพบกับ ‘ความว่างเปล่า’ ในตัวเอง
อย่างไรก็ดี การสำรวจความว่างเปล่าในร่างกายของศิลปินคนนี้ก็ไม่ได้มาในแนวถอดจิต พลังเหนือธรรมชาติ นั่งกรรมฐาน เข้าฌาน ฯลฯ ธวัชชัย วัดปริมาตรของร่างกายตัวเองด้วยวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดนั่นคือ การสร้างกล่องขึ้นมาใบหนึ่ง ตีตางรางถี่ๆ ที่พื้นผิวทั้ง 5 ด้าน เจาะรูเล็กๆ สำหรับสอดแท่งเหล็ก ก่อนจะเข้าไปนั่งในกล่องที่ว่าและค่อยๆ (ให้ผู้ช่วย?) สอดแท่งเหล็กเข้าไปในกล่องทีละแท่งๆ แท่งเหล็กที่มีความยาวเท่ากันจะถูกมาร์คจุดเพื่อบันทึกระยะของความลึกที่แท่งเหล็กชนสัมผัสของผิวกายของศิลปินแต่ละจุดๆ เป็นนับร้อยจุด
ที่กล่าวถึงนี้คือผลงาน Border of Void บนห้องโถงชั้นสองของหอศิลป์ ศิลปินใช้ห้องโถงและผลงานศิลปะดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นการเล่าเรื่องกระบวนการค้นหา ‘ช่องว่าง’ (หรือ ‘ความว่างเปล่า’ ตามชื่อนิทรรศการ) ลึกเข้าไปในพื้นที่นิทรรศการ ในห้องเล็กขวามือ เป็นที่ตั้งของ A Scanner Device for 3D ผลงานประติมากรรมจากวัสดุไม้ในกล่องอะคริลิค ที่ศิลปินขึ้นภาพสามมิติร่างกายตัวเองอันเป็นผลลัพธ์จากการวัดปริมาตร ศิลปินเคลื่อนไปยังขั้นต่อไปของกระบวนการด้วยการหาความลาดเอียงระหว่าง section ของร่างกายกายตัวเอง (ที่ถูกกำหนดจากระยะห่างของรูแต่ละรู) Top View & Pattern of Face ชุดผลงาน drawing บนฝาผนังทั่วพื้นที่นิทรรศการแต่ละภาพบันทึกขั้นตอนดังกล่าวไว้ทั้งหมด
ฟังเหมือนว่าถ้าคนดูพิจารณาร่องรอยการทดทั้งหมดนี้ไปเรื่อยๆ เราจะเข้าใจผลงานประติมากรรมชิ้นอื่นๆ ในนิทรรศการ ที่ร่างกายของมันถูกทำขึ้นด้วยวัสดุแตกต่างกัน (ทองเหลือง, อลูมิเนียม, ไม้) ในลักษณะที่ว่าศิลปินค่อยๆ จับมือจูงเราเดินไปทีละผลงาน แต่เปล่าเลย พอเพ่งพิจารณากระบวนการที่ว่าไปเรื่อยๆ ถึงจุดๆ หนึ่งคนดู (ตัวผู้เขียนเอง) จะตามตรรกะของศิลปินไม่ทัน เรามั่นใจว่าทุกๆ ขั้นตอนการพัฒนารูปทรงผลงานคงมีตรรกะในการค่อยๆ บิด ดัด รวมและผสมหลายๆ มุมมองหลายๆ มุม เข้าด้วยกันจนเกิดเป็น form ใหม่ แต่เป็นเราเองที่เข้าไม่ถึงหลักการดังกล่าว หรือว่านี่เองก็คือ ‘ความว่างเปล่า’ ที่ศิลปินพูดถึงแต่แรก?
Existence of Void เป็นนิทรรศการที่ดูสนุก งานศิลปะแต่ละชิ้นมีเรื่องเล่าของตัวเอง สังเกตดีๆ เราจะเห็นรอยขีดฆ่าเส้นบางเส้นที่ศิลปินปล่อยทิ้งไว้ให้ปรากฏบนผลงาน หรือถ้าอ่านอีกแบบจะพบว่าวิธีการที่ศิลปินวัดปริมาตรร่างกายตัวเองนั้น ไม่ต่างไปจากเทคโนโลยี LiDAR ที่ติดอยู่หลังกล้อง iPhone 13 Pro เลยแม้แต่น้อย ภัณฑารักษ์ กฤษฎา ดุษฎีวนิช เขียนบทเปิดนิทรรศการในมุมของภัณฑารักษ์ และตัวบทนั้นเองก็เปิดประเด็นใหม่ๆ ให้เราได้ขบคิดกับคำว่า ‘เหนือตรรกะ’ กันต่อหลังดูงานจบ
นิทรรศการ Existence of Void โดย ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 17 กันยายน 2565 ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ยังพอมีเวลาให้ไปดูสเก็ตช์สวยๆ เส้นคมๆ และทำความเข้าใจตรรกะของความว่างเปล่าในแบบฉบับของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์