YUTORIE ATAMI HOUSE

สถาปนิกชาวญี่ปุ่น Naoshi Kondo ทดลองว่าอาคารเก่าและอาคารใหม่ ไม้และคอนกรีต อดีตและปัจจุบัน จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ด้วยการฝังบ้านไม้เก่าลงไปในก้อนคอนกรีต

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: YUJIRO ICHIOKA

(For English, press here)

การเอาคอนกรีตมาเทล้อมบ้านฟังดูเป็นไอเดียที่แสนจะพิสดาร แต่นี่คือสิ่งที่ Naoshi Kondo ทำออกมาจริงๆ กับการรีโนเวท Yutorie Atami House บ้านเก่าในเมือง Atami จังหวัด Shizuoka ประเทศญี่ปุ่น ที่ตอนนี้กลายมาเป็น ‘gasshukujo’ หรือ บ้านพักให้เช่าในภาษาญี่ปุ่น

Atami เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงในฐานะเมืองพักผ่อนริมทะเล และยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูเขาชื่อดังที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นนั่นก็คือ ภูเขาฟูจิ จากบรรยากาศอันงดงามของตัวเมือง ที่นี่จึงเต็มไปด้วยรีสอร์ทและบ้านพักน้อยใหญ่มากมาย คุณตาของภรรยาของผู้ออกแบบก็เป็นคนหนึ่งที่เลือกตั้งบ้านพักที่นี่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950s พอเวลาผ่านไป บ้านพักก็ถูกปล่อยรกร้าง จนกระทั่ง Naoshi Kondo มารีโนเวทให้กลายเป็นบ้านพักเมื่อปี 2021

Yutorie Atami House ประกอบด้วยบ้านสองหลังด้วยกัน หลังหนึ่งเป็นบ้านสองชั้นตั้งอยู่ติดกับถนน อีกหลังเป็นบ้านชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ภายในที่ดิน บ้านหลังแรกได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นที่พักจำนวน 3 ห้องด้วยกัน พร้อมด้วยคาเฟ่ตรงชั้นสองที่เป็นระดับติดกับถนน ส่วนบ้านพักหลังด้านในเป็นบ้านที่มีห้องพักหนึ่งห้อง และพื้นที่อเนกประสงค์ที่สถาปนิกเรียกว่าเป็น ‘studio space’ สำหรับนั่งคิดหรือทำงานศิลปะ

ความน่าสนใจของโครงการนี้อยู่ที่บ้านพักหลังด้านใน สถาปนิกล้อมรอบบ้านไม้เก่าด้วยผนังก่อฉาบปูนที่หนากว่า 1 เมตร ซึ่งสูงแทบจะเท่าครึ่งหนึ่งของตัวบ้าน มองจากภายนอก ตัวบ้านจึงดูเหมือนจมอยู่ในกองปูนอันหนาเตอะ ตัวผนังปูนยังตัดผ่าระนาบผนังเข้ามาถึงข้างในบ้าน เมื่ออยู่ภายใน เราก็สามารถเห็นความแตกต่างระหว่างของใหม่ นั่นก็คือตัวปูน และของเก่า นั่นก็คือโครงสร้างบ้านที่คงไว้อย่างเดิม ได้อย่างชัดเจน เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ด้านในเป็นเฟอร์นิเจอร์รูปแบบสมัยใหม่ที่คุมโทนสีเทา ขาว ให้สอดคล้องไปกับตัวผนังปูนที่บุกรุกเข้ามา การแบ่งกั้นสเปซข้างในก็ใช้ผนังสีขาว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นของใหม่ที่เพิ่มเติม ไม่ใช่โครงสร้างเดิมที่มีอยู่

ส่วนการตกแต่งภายในของบ้านอีกหลัง Naoshi Kondo ก็พยายามสร้างความแตกต่างจากบ้านพักตามแบบฉบับของญี่ปุ่น ด้วยการใส่องค์ประกอบทางกราฟิกอย่างเช่นเส้นโค้ง  ที่ชั้นหนังสือ หัวเตียง หรือการเพิ่มสีสันเข้าไปภายใน

เมื่อถามถึงเหตุผลที่เอาบ้านฝังไว้ในก้อนปูน Naoshi Kondo กลับบอกว่ามันไม่ได้มีเหตุผลอะไรเบื้องหลังเลย แต่เป็นการทดลองตามสัญชาติญาณของเขาเองเสียมากกว่า ดูแล้ว นอกจากการเป็นบ้านพักรองรับคนมาเที่ยวเมือง Atami บ้านหลังนี้ก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ที่เปิดพื้นที่ให้คนได้ตีความว่าความเก่ากับความใหม่มันจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *