FLUGT REFUGEE MUSEUM OF DENMARK

Bjarke Ingels Group ชุบชีวิตอดีตค่ายผู้ลี้ภัยชาวเยอรมันที่ใหญ่ที่สุดในเดนมาร์กในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณอันอ่อนไหวของผู้คนในช่วงสงคราม

TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO: RASMUS HJORTSHOJ

(For English, press here)

อาคารโรงพยาบาลซึ่งก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1945 บนพื้นที่ป่าเขานอกเขต Oksbøl เมืองเล็กๆ ในเขตเดนมาร์กตอนใต้ อดีตเคยเป็นค่ายของผู้ลี้ภัยชาวเยอรมันที่ใหญ่ที่สุดในเดนมาร์ก หลังจากถูกทิ้งร้างว่างเปล่า มาวันนี้ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้งด้วยความระลึกถึงผ่านทางงานรีโนเวตสถาปัตยกรรมจนกลายเป็น FLUGT Refugee Museum of Denmark

แต่เดิมช่วงปี 1945-49 ผืนที่ดินท่ามกลางป่าเขาแห่งนี้เป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยที่รองรับชาวเยอรมันกว่า 35,000 คนในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในบริเวณค่ายเป็นทั้งที่พัก โรงพยาบาล และสุสานเชื่อมต่อด้วยเส้นทางธรรมชาติของป่า แม้ในปัจจุบันค่ายทหารจะถูกรื้อถอนไปนานแล้ว แต่อาคารบางส่วนยังคงเป็นอนุสรณ์ จนนำมาสู่การออกแบบเรื่องเล่าจากสถาปัตยกรรมและนิทรรศการ

BIG – Bjarke Ingels Group คือผู้รับหน้าที่ในการเปลี่ยนโฉมและสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยจุดมุ่งหมายที่ต้องการสะท้อนอารมณ์ และจิตวิญญาณอันอ่อนไหวของผู้คนในช่วงสงคราม จุดเด่นอยู่ที่ส่วนต่อเชื่อมอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่บริเวณมุมระหว่างอาคารโรงพยาบาลเดิม 2 หลัง ด้วยการสร้างพื้นที่ใหม่ที่แม้ยังคงกลิ่นอายของวัสดุจากอาคารดั้งเดิม แต่ทั้งจากผังอาคารรูปโค้งเกือบกลมที่ตัดกับความคุ้นชินของอาคารเดิมโดยสิ้นเชิง และส่วนหลังคาที่แม้จะทำมุมสอดประสานไปกับกลุ่มอาคารเดิม แต่มิติของความโค้งของแผ่นไม้และผนังกระจกก็สร้างความตื่นตา เปิดต้อนรับสู่การเริ่มต้นเดินทางในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างดี

อารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวถูกแปลออกมาเป็นส่วนมุมรูปทรงโค้งไหลเวียนที่เชื่อมอาคารโรงพยาบาลทั้งสองปีกเข้าด้วยกัน ผ่านการใช้วัสดุ Corten Steel ทั้งบนระนาบผนังภายนอกและหลังคา ประกอบขึ้นเป็นโถงทรงโค้งปิดล้อมสวนตรงกลาง ที่ทำหน้าที่เป็นโถงต้อนรับและโถงกลางของพิพิธภัณฑ์ ร่องรอยที่ไม่สมบูรณ์ของผิววัสดุเหล็กและสีสันที่สอดคล้องกับวัสดุผนังและหลังคาของอาคารโรงพยาบาลเดิมเชื่อมต่ออาคารโรงพยาบาลสองปีกเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน โดยปีกอาคารเดิมด้านฝั่งทิศเหนือเป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการขนาดใหญ่ และปีกอาคารฝั่งใต้ถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็นห้องย่อยๆ เป็นส่วนห้องนิทรรศการขนาดเล็ก ห้องประชุม และคาเฟ่

ความทรงจำเดิมของสถานที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านการจงใจเก็บองค์ประกอบของโรงพยาบาลเดิมเอาไว้ ทั้งวัสดุ โครงหลังคาไม้เดิม พื้นอิฐภายใน และหน้าตาอาคารในรูปแบบเดิมทั้งหมด งานออกแบบที่เป็นของใหม่ทำหน้าที่สร้างพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันไปในแต่ละส่วน และทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบของงานนิทรรศการ

ความหมายและความรู้สึกของผู้ลี้ภัยถูกถ่ายทอดในส่วนนิทรรศการ ตั้งแต่เรื่องราวระดับมหภาคที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ ไปจนถึงเรื่องราวส่วนตัว พร้อมกับคำถามใหญ่น้อยที่ผุดขึ้นระหว่างการสำรวจนิทรรศการและสถาปัตยกรรมภายในซึ่งเป็นสถานที่จริงที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางกาลเวลา สิ่งหนึ่งที่ FLUGT ต้องการบอกเล่าผ่านทางพื้นที่แห่งนี้ คือการสร้างความเข้าใจความหมายของการเป็นผู้ลี้ภัย และการยืนอยู่อีกด้านหนึ่งในฐานะประเทศผู้ช่วยเหลือนั้นเป็นอย่างไร ริ้วรอยของอาคารและประสบการณ์ผ่านเรื่องราวจะแสดงให้ผู้ชมได้มองเห็นและสัมผัสได้เอง

big.dk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *