art4d พูดคุยกับ Satoshi Konagai ลีดเดอร์ LIXIL Water Technology APAC และ Audrey Yeo ลีดเดอร์ บริษัท ลิกซิล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ
TEXT: KARJVIT RIRERMVANICH
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
LIXIL ได้ต่อสัญญาการเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับรายการ Asia Pacific Property Awards และ International Property Awards ต่อไปอีกสามปี ก่อนพิธีมอบรางวัลในปี 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรม Waldorf Astoria กรุงเทพฯ art4d ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Satoshi Konagai ลีดเดอร์ LIXIL Water Technology APAC และ Audrey Yeo ลีดเดอร์ บริษัท ลิกซิล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำเอเชียแปซิฟิก (LWT APAC) ถึงการร่วมเป็นพันธมิตรในระยะยาวของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้
art4d: ปัจจุบันนี้มีงานมอบรางวัลภายในอุตสาหกรรมการออกแบบ สถาปัตยกรรม และอสังหาริมทรัพย์มากมายหลายรายการ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก คุณคิดว่าอะไรทำให้รายการ Asia Pacific Property Awards และ IPA (International Property Awards) มีความโดดเด่น คุณเห็นว่ารายการนี้สร้างผลกระทบอะไรต่อโลกที่มีงานประกาศรางวัลอยู่ค่อนข้างดาษดื่น
Satoshi Konagai: International Property Awards เป็นหนึ่งในรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระดับโลก มีคณะผู้ตัดสินที่มีชื่อเสียงมากกว่า 100 คน ทำการประเมินผู้สมัครจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่แค่จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้นแต่จากทั่วโลก เมื่อมองจากมุมนี้ผมคิดว่า LIXIL มองเห็นความสำคัญที่รางวัลนี้มีต่อนักออกแบบ สถาปนิก และผู้พัฒนาโครงการของเราในภูมิภาคเอเชียอยู่สามประการ ประการแรกก็คือ ‘Reward’ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ชนะรายการ IPA จะได้รับรางวัล ได้รับชื่อเสียงในระดับโลก ประการต่อมาคือ ‘Promotion’ ที่ผู้ชนะจะได้รับการโปรโมตไปทั่วทั้งโซเชียลมีเดียหรือสื่อรูปแบบอื่นๆ ในระดับโลก และประการสุดท้ายคือ ‘Credibility’ ซึ่ง IPA ไม่ได้โด่งดังแค่ในวงการอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ข้ามไปถึงแวดวงการลงทุน และนักลงทุนหลายเจ้าจะพิจารณาว่าโครงการหรือผู้พัฒนาโครงการรายนี้หรือนักออกแบบรายนี้เคยได้รับรางวัล IPA มาก่อนหรือไม่ นี่เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือสำหรับผู้พัฒนาโครงการ นักออกแบบ และสถาปนิกฝั่งเอเชีย เพราะถ้าชนะรางวัล IPA แล้ว ก็หมายความว่าคนเหล่านี้เป็นผู้นำของวงการอสังหาริมทรัพย์ นี่คือเหตุผลที่เราเลือก IPA เป็นหุ้นส่วนทางกลยุทธ์ในระดับนานาชาติ
Audrey Yeo: ขอเสริมที่คุณ Satoshi ได้พูดไป รายการ IPA มีรางวัลย่อยระดับภูมิภาคมากมาย ตั้งแต่ในแอฟริกา ไปจนถึงแคนาดา อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ร่วมสิบภูมิภาค โดยถ้ามองแค่ในเอเชียแปซิฟิกภูมิภาคเดียวเรามีผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 1,200 ผลงาน ฉันปลื้มใจมากที่จะบอกว่าประเทศไทยส่งผลงานเข้าประกวดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของผู้ส่งผลงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่รองจากจีนประเทศเดียวเท่านั้น และก็มีจำนวนผู้ชนะรางวัลมากที่สุดจากกลุ่มนี้เป็นรองแค่จากจีนเท่านั้นเช่นกัน ผู้เข้าร่วมจำนวนมากนี้แสดงถึงการรับรู้ในคุณค่าของการประกวด ผู้คนในวงการมองเห็นถึงโอกาสที่พวกเขาจะได้รับ ซึ่งแน่นอนไม่ใช่แค่ในประเทศไทยหรือระดับภูมิภาค แต่เป็นในระดับนานาชาติด้วยเช่นกัน
เราจะประกาศผลผู้ชนะรางวัล Asia Pacific Property Awards ในแต่ละหมวดภายในงานคืนนี้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ชนะอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อหรือ ‘The Nominees’ ซึ่งจะไปร่วมประชันผลงานในระดับนานาชาติบนรายการ International Property Awards ต่อไป นี่คือเหตุผลที่เราให้คุณค่ากับการเป็นผู้สนับสนุนหลักของรางวัลนี้ เพราะเป็นการสร้างประโยชน์นานัปการให้กับผู้นำในวงการได้ออกไปโลดแล่นในระดับนานาชาติ
art4d: ปีนี้ประเทศไทยมีจำนวนรางวัลที่ได้รับมากเป็นลำดับที่สองตามที่คุณได้กล่าวมา รองจากจีนที่จำนวนผลงานคงมีเยอะกว่านี้มากแน่ๆ คุณคิดว่าความแตกต่างจากผลงานของประเทศอื่นๆ หรือลักษณะสำคัญที่ทำให้ผลงานจากไทยมีความโดดเด่นคืออะไร
SK: ต้องบอกว่าไทยเป็นประเทศที่มีการออกแบบที่เป็นเลิศในหลายระดับ เป็นจุดศูนย์กลางของไอเดียที่ยอดเยี่ยม สร้างสรรค์ และมีนวัตกรรมที่ล้ำสมัย โดยเฉพาะในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ อย่างที่รู้กันว่าไทยมีสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบที่ดีอยู่มากมาย ซึ่งเป็นเหตุผลที่นักออกแบบที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาตั้งสาขากันที่นี่เพื่อหาคนเก่งจากประเทศไทย นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าไทยคือหนึ่งในตลาดที่ขับเคลื่อนเทรนด์ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบในวงการอสังหาริมทรัพย์
AY: ขอเสริมจากมุมมองของคนในพื้นที่ สิ่งที่เราพบเห็นในไทยเช่นกันก็คือนักออกแบบ มัณฑนากร และผู้พัฒนาโครงการรายสำคัญเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจำนวนมาก เพราะถ้าคุณดูที่โครงการจำนวนมากในไทย โครงการเหล่านี้ผ่านกระบวนการคิดอย่างพิถีพิถัน ขอยกตัวอย่างกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ MQDC ที่พุ่งเป้าไปในเรื่องของความยั่งยืนและดำเนินโครงการด้วยนโยบายที่ให้ความมั่นใจได้จริงๆ ว่าทั้งโครงการจะดำเนินการไปตามทิศทางนั้น ซึ่งตามมาด้วยชื่อเสียงในระดับนานาชาติ
ที่สำคัญที่สุดคือไม่นานมานี้ Ameircan Standard ได้จัดงานประกวดออกแบบระดับนิสิตนักศึกษาในชื่อ ‘American Standard Design Awards’ หรือ ASDA โดยพุ่งเป้าไปที่นิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาและเชิญชวนให้มาร่วมออกแบบห้องน้ำภายในโครงการประเภทโรงแรมและที่พักอาศัย รางวัลนี้จัดขึ้นในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น และต้องย้ำอีกครั้งว่าเราได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญ เพราะว่าคุณธีรเกียรติ สุขอยู่ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผู้ชนะจากประเทศไทย ได้ชนะรางวัลในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีรากฐานที่แข็งแรงมากมายที่ก่อตัวขึ้นเพื่อพัฒนาวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบ นี่คือเหตุผลว่าในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากที่จะพัฒนาไปในระดับนานาชาติ
art4d: หวังว่าปีหน้าเราจะโค่นจีนได้ (หัวเราะ)
AY: อะไรก็เกิดขึ้นได้ จริงไหม? ไทยเป็นแหล่งรวมคนเก่งอยู่แล้ว ทำไมจะไม่ได้ล่ะ
art4d: LIXIL จะร่วมมือกับ IPA อีกหลายปีต่อจากนี้ LIXIL ตั้งเป้าที่จะโปรโมท กระตุ้น หรือยกประเด็นอะไรผ่านบทบาทความร่วมมือนี้บ้าง
SK: LIXIL เป็น purposeful-driven company เราขับเคลื่อนด้วยความมุ่งหมายที่มีคุณค่า แน่นอนว่ากำไรเชิงธุรกิจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่คุณค่านั้นคือสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ ดังนั้นเราจึงมองว่ารายการ IPA เป็นเสมือนโอกาสในการเพิ่มคุณค่าให้กับเหล่านักออกแบบ สถาปนิก และผู้พัฒนาโครงการในเอเชีย อย่างที่ผมได้กล่าวไปในเรื่อง Reward, Promotion และ Credibility นอกจากนี้ LIXIL ยังเป็นองค์กรที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเราได้เผยแพร่ความต้องการของลูกค้าผ่านเวที IPA ด้วยเช่นกัน คืนวันนี้เรายินดีที่จะได้แบ่งปันเรื่องราวของเทรนด์การออกแบบในภาพใหญ่ ซึ่งอย่างแรกก็คือ ‘Health and Well-being’ อย่างที่สองคือ ‘Sustainability’ และอย่างที่สามคือ ‘Urbanization’ เราเฝ้าสังเกตเทรนด์ทั้งสามอย่างนี้ในหลายๆ อุตสาหกรรมทั่วโลกและในเอเชียด้วยเช่นกัน ผมขอยกตัวอย่าง Health and Well-being หรือเรื่องสุขภาพและสุขภาวะที่ดี ผู้คนอยู่บ้านกันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างภรรยาของผมใช้เวลาเกือบชั่วโมงทุกคืนในห้องน้ำเพื่อผ่อนคลายจากความเครียดในแต่ละวัน ห้องน้ำไม่ใช่แค่พื้นที่ที่รองรับการใช้งานพื้นฐานอีกต่อไป แต่เป็นสถานที่ที่มอบความผ่อนคลายและความสบายเหมือนโฮมสปา เธอได้ขอให้ผมเปลี่ยนฝักบัวให้ดีกว่าเดิมเพราะอยากให้รู้สึกสบายกว่านี้ (หัวเราะ) องค์กรของเรามีหน้าที่เฝ้าสังเกตเทรนด์เหล่านี้พร้อมทั้งประกาศเผยแพร่และทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างผู้พัฒนาโครงการหรือนักออกแบบ
AY: เรามองเห็นโอกาสจากการที่การออกแบบถูกขับเคลื่อนด้วยเทรนด์สามอย่างนี้ ซึ่งส่วนสำคัญของรายการ IPA นั้นคือการได้สร้างเครือข่ายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม อสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐ ให้เข้าใจตรงกันว่าเรามองอนาคตอย่างไร เราไม่พูดถึงแผนงานอีกปีหรือสองปี แต่เรามีแนวโน้มที่จะคิดไปไกลถึงห้าปีด้วยคำถามว่าเทรนด์ในอีกห้าปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองไปที่การเติบโตของเมืองหรือ Urbanization ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมมีขนาดเล็กลง ในประเด็นนี้เราได้มีโอกาสทำงานกับพันธมิตรในสาขาเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีออกแบบบ้าน จะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนจะมีผนังกั้นระหว่างห้องครัวและห้องนั่งเล่นเสมอ และระหว่างห้องนอนกับห้องน้ำด้วยเช่นกัน พื้นที่เหล่านี้แยกออกเป็นสัดส่วน แต่ตอนนี้ผนังเหล่านี้เริ่มจะหายไปจากการออกแบบแล้ว ห้องครัวกลายเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งมีสองสาเหตุด้วยกัน หนึ่งคือมีที่ไม่พอ (หัวเราะ) ดังนั้นสถาปนิกต้องคิดหาวิธีสร้างพื้นที่ให้มากขึ้นและสาเหตุที่สองคือมันได้กลายเป็นที่พบปะสังสรรค์ผู้คนเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างห้องทานข้าวและห้องครัวดังนั้นพื้นที่ที่เหมาะสมจึงเป็นพื้นที่เปิดโล่งแทนที่จะเป็นพื้นที่ที่ปิดแยกจากกันได้สมบูรณ์
เมื่อเราพูดเรื่องการเติบโตของเมือง ตรงนี้เองที่เรามองไปที่ห้องน้ำและห้องนอน และคิดหาวิธีทำให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าสนใจเพื่อให้ผู้คนรู้สึกภูมิใจที่จะโชว์ห้องน้ำของพวกเขา เช่นเดียวกันกับการหาคำตอบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทใดที่จะเข้ากันกับเทรนด์การออกแบบต่างๆ นี่เป็นโอกาสที่เรามองเห็นในฐานะของแบรนด์และ LIXIL ทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้เพื่อสร้างคุณค่าที่มากยิ่งขึ้นให้กับทุกฝ่ายในแง่ของการเฝ้าติดตามเทรนด์ในอนาคต
SK: เรื่องสำคัญอีกอย่างก็คือ Sustainability หรือความยั่งยืนในปัจจุบันไม่ใช่แค่คำที่ใช้ไปตามกระแส แต่เป็นประเด็นที่เราต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจริงๆ ในปัจจุบันสมาคมโรงแรมสิงคโปร์ได้ประกาศว่าโรงแรมทุกแห่งในประเทศต้องลดการใช้น้ำลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 โดยปกติแล้วห้องพักหนึ่งห้องในโรงแรม สมมติว่าผู้เข้าพักเป็นพ่อแม่กับลูกสองคน จะใช้น้ำ 700 ลิตรต่อวัน ครึ่งหนึ่งในนั้นใช้ไปกับการอาบน้ำ วิธีแก้ปัญหาที่เห็นผลทันทีก็คงเป็นการขอให้แขกงดอาบน้ำ (หัวเราะ) ซึ่งเราทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราและแขกจำเป็นต้องได้รับความผ่อนคลาย ตอนนี้ทางสมาคมฯ กำลังพิจารณาหาวิธีจัดการกับนโยบายนี้โดยที่ลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบ สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นแล้ว และเรากำลังทำงานร่วมกันกับผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาลเพื่อหาวิธีลดการใช้น้ำ นั่นคือตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบสำหรับความยั่งยืน
AY: Sustainability เป็นประเด็นที่ใหญ่มาก โรงแรมเป็นพื้นที่หนึ่ง แต่ถ้าดูที่อาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน คุณอาจเคยได้ยินเรื่องข้อกำหนดของอาคารประหยัดพลังงานหรือ LEED ที่มีหลายระดับแตกต่างกัน โดยหลักการมันคือการทำคะแนนผ่านการออกแบบเพื่อให้ได้ใบรับรองว่าเป็นอาคาร LEED สิ่งนี้สร้างทั้งอุปสงค์และอุปทาน LIXIL ใช้จุดแข็งของตัวเองในด้าน R&D (Research and Development) ในการสร้างจุดยืนในระดับโลก เพื่อให้เราเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างถ่องแท้และทำงานร่วมกันกับพวกเขา ค้นหาวิธีที่ช่วยให้พวกเขาบรรลุมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่ต้องการได้ สำหรับอาคารพาณิชย์ เมื่อเราได้พูดคุยกับเจ้าของอาคารรายใหม่ๆ ทุกวันนี้เราไม่ได้คุยกันแค่เรื่องผลิตภัณฑ์ เราปรึกษากันว่าเรื่องเราจะช่วยให้พวกเขาได้รับมาตรฐานอาคาร LEED ด้วยพื้นที่ห้องน้ำทั้งหมดได้อย่างไร และคิดว่าผลิตภัณฑ์ประเภทใดที่เราสามารถนำมาช่วยให้พวกเขาก้าวข้ามมาตรฐานเหล่านี้ได้ นี่คือจุดที่เราเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งปัจจุบันนี้หน้าที่ของเราไม่ใช่แค่ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอย่างเดียวอีกต่อไป