Plan architect นำเสนอพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน แต่เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้
TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: DOF SKY | GROUND
(For English, press here)
การออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง (common area) และพื้นที่กิจกรรมกลางแจ้งท่ามกลางพื้นที่สีเขียว กลายเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบโรงเรียนในปัจจุบัน ด้วยแนวทางที่ไม่ได้ต้องการให้เด็กมุ่งเน้นเพียงศาสตร์การเรียนรู้ตามตำราในห้องเรียนเท่านั้น แต่ต้องควบคู่ไปกับการบูรณาการ และสร้างประสบการณ์ต่างๆ ผ่านพื้นที่เหล่านี้ในคราวเดียวกัน ขณะที่ปัญหาการใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกจำกัดมากขึ้นด้วยสภาพอากาศร้อนขึ้นอย่างรุนแรง และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีคูณอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทางโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ธนบุรี (SISB Thonburi) ส่งไม้ต่อให้ทีมสถาปนิก Plan Architect ที่ตั้งใจให้เด็กสามารถเรียนรู้ไปกับสเปซของสถาปัตยกรรม ผ่านการออกแบบและแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ร่วมกับการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ให้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกอาคารได้อย่างสร้างสรรค์
การออกแบบอาคารเรียนของโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ธนบุรีในครั้งนี้ เป็นการออกแบบอาคารเฟส 2 อยู่ในตำแหน่งด้านในสุดของที่ดิน โดยมีอาคารเฟส 1 หรืออาคารเดิมตั้งอยู่ส่วนด้านหน้า แนวคิดหลักในการวางผังอาคารจึงเป็นการสร้างและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับไซต์แห่งนี้ สถาปนิกวางอาคารเป็นแนวยาวชิดริมด้านหลังที่ดิน เพื่อเปิดให้เกิดพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ระหว่างอาคารใหม่และอาคารเดิมสำหรับพื้นที่สวน outdoor ที่เด็กๆ จากทุกอาคารสามารถมาใช้งานร่วมกันได้ ส่วนการออกแบบตัวอาคารเริ่มต้นจากการอิงตามเงื่อนไขที่กฎหมายผังเมืองในโซนนี้กำหนด อาคารจึงถูกออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น ด้วยความสูงไม่เกิน 12 เมตร และต้องแยกเป็น 2 อาคาร และด้วยวิธีการเรียงพื้นที่การใช้งานภายในอาคารอย่างเรียบง่าย ประกอบด้วยฟังก์ชันพื้นฐานที่โรงเรียนจำเป็นต้องมี ได้แก่ ห้องเรียน ห้องสมุด สำนักงาน โรงอาหาร โรงยิม และ auditorium สถาปนิกจึงจัดวางให้พื้นที่ห้องเรียนอยู่ช่วงกลางอาคาร และให้ปลายอาคารทั้ง 2 ฝั่งเป็นพื้นที่พิเศษ อย่าง โรงยิม โรงอาหาร และ auditorium โดยพื้นที่ทั้งหมดจะเชื่อมโยงการใช้งานให้เกิดการต่อเนื่อง ลื่นไหล เหมือนเป็นอาคารเดียวกัน
ลักษณะพิเศษของอาคารนี้ คือการสร้างพื้นที่ common ไว้ส่วนด้านหน้าตลอดความยาวอาคาร ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ transition space เชื่อมต่อพื้นที่อาคารไปหาสวนด้านนอก ขณะที่การสร้างความเชื่อมโยงกับอาคารเดิม สถาปนิกยังได้ทำการฉีก mass อาคารให้ลดหลั่นเป็น step ไหลเข้ามาเชื่อมต่อกัน โดยพื้นที่ที่เป็น step ดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นอัฒจันทร์สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง และสร้างความต่อเนื่องให้กับพื้นที่สีเขียวจากระดับพื้นดินให้ไหลขึ้นมาที่สวนบนดาดฟ้า ส่วนภายใต้หลังคา step roof ที่ไหลต่อเนื่องขึ้นไป ถูกออกแบบให้เป็นช่องแสงเพื่อรับ indirect light ลงมายังพื้นที่ common area ด้านล่าง ซึ่งออกแบบให้สอดรับกับพื้นที่หลังคาด้านบน มีลักษณะเป็น step ที่นั่งที่ซ่อนพื้นที่ของห้องสมุดและโรงอาหารเอาไว้ด้านล่าง และยังสามารถเป็นทางสัญจรไปที่ห้อง auditorium ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้เชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลายมาไว้ด้วยกัน และส่งเสริมให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ ขึ้นในโรงเรียน
สำหรับ common space ในร่ม สถาปนิกได้คำนึงถึงเรื่องของการถ่ายเทอากาศโดยยึดหลักการหมุนเวียนของลมตามธรรมชาติเป็นพื้นฐาน จึงได้แบ่งเว้นเป็นอาคารออกเป็นช่วงๆ เพื่อสร้างช่องลมให้ลมจากทิศใต้สามารถผ่านได้อย่างเต็มที่ เกิดเป็นภาวะน่าสบายที่เด็กๆ สามารถนั่งทำกิจกรรมในร่มได้โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน อีกโจทย์สำคัญที่สถาปนิกได้รับ คือเรื่องของวิกฤตปัญหาฝน PM 2.5 สถาปนิกได้วางแผนและออกแบบโถงด้านหน้าอาคารให้มีลักษณะเป็นพื้นที่ semi-outdoor คล้ายกับสนามกลางแจ้ง ที่มีสถาปัตยกรรมโอบล้อมเพื่อให้สามารถกันแดด กันฝน และ มลภาวะต่างๆ โดยมีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศเข้าที่ส่วนด้านบนของโถง ผ่านฟิลเตอร์กรองฝุ่น PM 2.5 แล้วใช้พัดลมขนาดใหญ่ (Big fan) อัดอากาศลงมาและระบายออกผ่านเกล็ดระบายอากาศออกที่ส่วนล่างของโถง เป็นการควบคุมทิศทางของกระแสลมโดยใช้ความดันอากาศ เพื่อไม่ให้อากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 ย้อนกลับมาในโถงได้ และเพื่อสร้าง common area ที่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะทดลองหาทางแก้ปัญหาเรื่องของฝุ่นอย่างยั่งยืน ทั้งช่วยประหยัดพลังงาน และให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่ต้องอยู่เพียงแต่ในห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ
นอกเหนือจากการสร้างสรรค์พื้นที่ว่างส่วนต่างๆ ในโรงเรียน และการแก้ปัญหาการอยู่อาศัยร่วมกับวิกฤตมลภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน คุณค่าจากงานออกแบบยังส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งช่วยกระตุ้นจินตนาการ สร้างความสงสัยใคร่รู้ และความเข้าใจถึงเหตุและผลของการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการบูรณาการความรู้ที่หลากหลายผ่านงานสถาปัตยกรรม
planarchitect.com
facebook.com/planarchitect