SEALab ออกแบบโรงเรียนสำหรับผู้มีปัญหาทางการมองเห็นในประเทศอินเดีย โดยใส่ใจต่อการออกแบบในสิ่งที่ ‘มองไม่เห็น’ เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมที่เอื้อให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้และไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัย
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ในจำนวนเด็ก 10,000 คนของประเทศอินเดีย จะมีเด็กที่เผชิญภาวะตาบอดทั้งแบบบอดสนิทและบางส่วน 8 คน นี่คือตัวเลขที่ National Programme for Control of Blindness and Visual Impairment องค์กรที่ดูแลเรื่องภาวะตาบอดในประเทศอินเดียประมาณค่าไว้ ถ้าจะพูดให้เห็นภาพแบบง่ายๆ ก็คือ จากประชากรเด็กของอินเดียที่มีจำนวนเป็นร้อยล้านคน มีเด็กเป็นแสนๆ คนเลยทีเดียวที่ใช้ชีวิตในความมืดสลัว
สิ่งที่เด็กอินเดียเป็นแสนคนต้องเผชิญ ไม่ใช่เพียงความยากลำบากในการใช้ชีวิตกับความมืดมน แต่ยังรวมถึงความลำบากในการหางาน และการหาโอกาสอื่นๆ ในชีวิต School for Blind and Visually Impaired Children โรงเรียนสำหรับคนตาบอดในเมือง Gandhinagar ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐ Gujarat ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอีกกำลังเล็กๆ ที่ช่วยมอบโอกาสในชีวิตให้เด็กตาบอด ด้วยการมอบการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการให้ที่พักอาศัยชั่วคราวกับเด็กๆ
อาคารหลังสีขาวที่เราเห็นไม่ใช่อาคารหลังแรกของ School for Blind and Visually Impaired Children ก่อนหน้านั้น ตัวโรงเรียนเคยตั้งอยู่ทั้งในบ้านสองห้องนอนเล็กๆ ในอพาร์ตเมนต์สามชั้น และในอาคารโรงเรียนเก่าที่ภาครัฐจัดหาให้ ซึ่งมีการปรับปรุงชั้นล่างให้เป็นบ้านพักนักเรียน และคงชั้นบนเอาไว้เป็นห้องเรียน แต่เมื่อโรงเรียนเปิดทำการไปเรื่อยๆ ตึกนี้ก็เริ่มแออัดคับแคบ จนถึงขั้นนักเรียน 12 คนต้องนอนร่วมกันในห้องพักห้องเดียว โรงเรียนจึงมีแนวคิดที่จะรีโนเวทตึกเดิมให้ทำหน้าที่เป็นบ้านพักทั้งหมด และสร้างตึกเรียนหลังใหม่ นั่นก็คืออาคารสีขาวโพลนหลังนี้นั่นเอง
SEALab สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมในอินเดียคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาคารเรียนหลังใหม่นี้ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอาคารเดิม การวางผังเป็นลักษณะตัวอาคารล้อมรอบคอร์ทกลางโดยมีห้องเรียนและห้องอื่นๆ เช่น ห้องดนตรี ห้องประชุม เกาะเกี่ยวอยู่โดยรอบทางเดิน ห้องเหล่านี้ได้รับการออกแบบให้มีรูปทรง สเปซ รวมถึงคุณภาพแสงที่ต่างกัน ตามแต่ฟังก์ชันของห้องนั้นๆ บางห้องเปิดออกไปสู่คอร์ทต้นไม้เล็กๆ ด้านข้าง เป็นการสร้างบรรยากาศอันร่มรื่น และช่วยให้อากาศและลมไหลเวียนภายในดีขึ้น ตอบรับกับสภาพอากาศของรัฐ Gujarat ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงทะลุถึง 49 องศาเซลเซียสในช่วงกลางวันของหน้าร้อน
เมื่อเป็นโรงเรียนสำหรับคนตาบอด สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงก็คือการออกแบบให้นักเรียนเดินไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัย และรู้ว่ากำลังอยู่ตรงไหน SEAlab จึงออกแบบอาคาร ที่เอื้อให้นักเรียนสามารถใช้ประสาทสัมผัสหลากหลายมาช่วยนำทางตัวเองภายใน ขณะเดียวกัน วิธีที่เลือกใช้ก็ต้องเป็นวิธีที่เรียบง่ายและประหยัดด้วย เพื่อตอบโจทย์งบประมาณอันจำกัดของโครงการ
ประสาทสัมผัสแรกที่สถาปนิกให้ความสำคัญก็คือการสัมผัสผ่านพื้นผิว วัสดุพื้นของอาคารปูด้วยหิน Kota ซึ่งหาได้จากเมือง Kota ที่อยู่ไม่ไกล หินที่ใช้ปูพื้นมีผิวสัมผัสสองแบบด้วยกันก็คือแบบเรียบและแบบหยาบ โดยแบบหยาบจะถูกกรุอยู่หน้าทางเข้าห้องเรียน ส่วนแบบเรียบจะกรุในบริเวณที่เหลือ ผนังของอาคารในบริเวณต่างๆ ก็มีพื้นผิวที่ไม่เหมือนกัน พื้นผิวการปาดปูนแบบครึ่งวงกลมถูกใช้กับผนังคอร์ทด้านใน พื้นผิวแบบแนวตั้งถูกวาดลงผนังทางเดินด้านติดกับคอร์ทกลาง ส่วนผนังฝั่งตรงข้ามใช้เป็นพื้นผิวแบบแนวนอนแทน และสุดท้ายก็คือผนังด้านนอกของโรงเรียนที่สร้างความแตกต่างด้วยพื้นผิวพ่นทราย
เสียงก็มีบทบาทสำคัญในการบอกตำแหน่งแห่งหนกับเด็กๆ พื้นที่ต่างๆ ได้รับการออกแบบให้มีขนาดความกว้างความสูงที่แตกต่าง อย่างเช่น ทางเดินที่มีการลดหลั่นความสูงจาก 3.66 เมตร มาสู่ 2.26 เมตร และการออกแบบให้มีความกว้างไม่เท่ากัน เพื่อสร้างลักษณะเสียงสะท้อนอันเฉพาะตัวให้แต่ละบริเวณ เพียงแค่ใช้หู ก็พอบอกได้คร่าวๆ ว่าตอนนี้เดินมาตรงไหน นอกจากมือ และหูแล้ว สถาปนิกก็อยากให้เด็กๆ สามารถใช้จมูกนำทางตัวเองในอาคารได้ด้วย จากการรับรู้กลิ่นของพันธุ์ไม้ที่ปลูกแซมไว้ในคอร์ทเล็กๆ ซึ่งเชื่อมต่อกับห้องเรียนและทางเดิน
แม้ว่าจะมีเด็กบางส่วนที่ตาบอดสนิท แต่บางส่วนก็พอมองเห็นภาพได้แบบเลือนลาง สถาปนิกช่วยให้เด็กประเภทหลังแยกแยะพื้นที่ในอาคารด้วยการออกแบบสเปซให้มีการตัดกันชัดเจนระหว่างความมืดและความสว่าง และสร้างความเฉพาะตัวให้กับช่องแสงสว่างของแต่ละบริเวณ นอกจากนั้น สถาปนิกยังทาสีลงบนประตู เฟอร์นิเจอร์ เพื่อช่วยให้นักเรียนมองเห็นง่ายขึ้น ป้องกันการเดินชนข้าวของจนเกิดอันตราย ปัญหาเกี่ยวกับสายตาอีกอย่างที่ต้องใส่ใจก็คือ สายตาของนักเรียนเหล่านี้จะไวต่อแสงเป็นพิเศษ สถาปนิกจึงออกแบบช่องรับแสงแบบ indirect light ภายในห้องเรียนแทนการรับแสงเข้ามาตรงๆ เช่น การเจาะ skylight ด้านบน หรือการรับแสงผ่านคอร์ทระหว่างห้องเรียน ทำให้นักเรียนไม่ไขว้เขวในเวลาเรียน
ไอเดียต่างๆ เหล่านี้ที่ SEAlab ออกแบบให้กับอาคารนั้นไม่ได้เกิดจากการนั่งคิดในสตูดิโอเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการศึกษาและทดลองทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นระหว่างสถาปนิกและบุคลากรโรงเรียน ผ่านขั้นตอนอย่างการพิมพ์แบบด้วยเครื่อง 3D print ไปให้นักเรียนที่ตาบอดคลำสัมผัสดูว่าหน้าตาอาคารจะเป็นอย่างไร พื้นผิวภายในจะเป็นแบบไหน เพื่อรับเอาคำติชมไปปรับปรุง (สถาปนิกเล่าว่าเคยทดลองเสนอแบบด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น กระดาษลูกฟูก แต่ว่ามันสื่อสารได้ไม่ดีพอ และไม่ทนทานต่อการสัมผัส) รวมไปถึงมีการ mock-up พื้นผิวกำแพงมาให้นักเรียนทดลองสัมผัสดูด้วยว่าพวกเขาเห็นความแตกต่างระหว่างพื้นผิวหรือเปล่า ไม่เพียงเท่านั้น SEAlab ก็ไปคลุกคลีจริงจังกับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับคนตาบอด ด้วยการสมัครเป็นอาสาใน Perkins School for the Blind โรงเรียนสอนคนตาบอดที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาถึง 4 เดือน
ดูแล้วอาคารหลังนี้ไม่ได้ประกอบด้วยลูกเล่นทางสถาปัตยกรรมที่เอื้อให้เด็กตาบอดเรียนรู้อย่างรื่นรมย์และปลอดภัยเพียงอย่างเดียว เพราะมันยังแทรกซึมด้วยความตั้งใจแน่วแน่จากคนแต่ละฝ่ายที่อยากให้เด็กตาบอดได้เห็นแสงสว่างของชีวิตในอนาคตเหมือนกัน