DEPOT BOIJMANS VAN BEUNINGEN

จากเดิมที่คลังเก็บงานเป็นพื้นที่หวงห้าม คลังจัดเก็บงานศิลปะโดย MVRDV สร้างมิติใหม่ด้วยการเปิดให้คนเยี่ยมชมคลังเก็บงานและดำดิ่งสู่โลกงานเบื้องหลังของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ

TEXT: VERASU SAETAE
PHOTO: OSSIP VAN DUIVENBODE EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

พื้นที่เก็บของในงานสถาปัตยกรรมมักถูกซุกซ่อนอยู่ตามซอกมุม บ้างหลบอยู่ใต้บันได บ้างกำลังพรางตัวเป็นผนังตู้ built-in ระหว่างเสาอาคาร บ้างซ่อนตัวอยู่ระหว่างห้องว่างในโครงสร้างของแกนอาคาร บ้างก็ถูกขังลืมอยู่ชั้นใต้ดินของตัวอาคาร มันช่างน่าสงสารเสียจริง แต่ด้วยธรรมชาติของสิ่งของที่มักจะพอกพูนไปตามอายุของการอยู่อาศัย ทำให้ผู้คนมักเลือกที่จะซ่อนความรกเหล่านั้น และจำกัดความมันว่าเป็นส่วนหลังบ้าน (Back of house) ที่ควรถูกซ่อนไว้ ประหนึ่งเขตพื้นที่หวงห้ามในงานสถาปัตยกรรมที่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่มีโอกาสได้เห็นมัน

Depot Boijmans Van Beuningen คลังเก็บงานศิลปะของพิพิธภัณฑ์ Boijmans ในใจกลางเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งออกแบบโดย MVRDV แห่งนี้ เป็นพื้นที่เก็บงานศิลปะที่ถูกออกแบบด้วยแนวคิดที่ตรงกันข้าม เมื่อส่วนหลังบ้านที่ถูกปกปิดกลายมาเป็นส่วนเบื้องหน้าและไฮไลท์ของตัวอาคาร เปลือยให้เราดำดิ่งสู่โลกในงานเบื้องหลังของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ สัมผัสประสบการณ์ การขนส่งงานศิลปะ การดูแลรักษา เรียนรู้กระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟู การจัดเก็บคอลเลกชั่นงานศิลปะอันล้ำค่าได้อย่างอิสระ

Photo: Ossip van Duivenbode

Photo courtesy of MVRDV

ย้อนกลับไปในปี .. 2007-2008 MVRDV นั้นเคยได้รับคอมมิชชั่นโดยตรงจากพิพิธภัณฑ์ Boijmans ให้ออกแบบคลังเก็บศิลปะมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยสถาปนิกเสนออาคารรูปทรงคล้ายโต๊ะที่ถูกขยายสัดส่วนจนทำให้ขาทั้งสี่นั้นถูกยกสูงกว่าระดับพื้นดินถึง 35 เมตร ด้วยเหตุผลในการป้องกันงานศิลปะจากตำแหน่งของระดับน้ำบาดาล ส่วนด้านบนของโต๊ะนั้นมีความหนา 10 เมตร โดยพื้นที่ใช้สอยถูกออกแบ่งเป็น 2 ชั้น พื้นที่ลานใต้โต๊ะด้านล่างจะกลายเป็นจัตุรัสสาธารณะซึ่งสามารถใช้เป็นที่จัดงานนิทรรศการหรือพื้นที่การแสดงต่างได้ๆ โครงการคลังศิลปะเดิมถูกกำหนดให้เริ่มก่อสร้างในปี .. 2010 แต่ปรากฏว่าหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกสภาเทศบาลเมือง โครงนี้ก็ได้ถูกล้มเลิกไปด้วยเหตุผลทางงบประมาณ

โครงการสร้างคลังงานศิลปะมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง ในปี .. 2013 หลังจากปัญหาน้ำบาดาลซึมเข้าไปคลังเก็บงานศิลปะชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์ Boijmans เกิดขึ้นอยู่อย่างซ้ำซาก ในปีเดียวกันนี้ งานประกวดแบบสถาปัตยกรรมของคลังเก็บงานศิลปะได้ถูกจัดขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับปัญหา โดย 5 บริษัทสถาปนิกชื่อดังถูกคัดสรรและส่งผลงานเข้าประกวด และในท้ายที่สุด ในปี .. 2014 ผลงานของ MVRDV ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะอย่างเป็นทาง แม้ขณะนั้นจะมีเรื่องฟ้องร้องกันในเรื่องของความโปร่งใสอันเนื่องมาจากการนัดพูดคุยกันที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นระหว่างนักออกแบบและหนึ่งในผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ในสมัยนั้นก็ตาม

Photo: Ossip van Duivenbode

อาคารหลังนี้ได้รับการอนุมัติการก่อสร้างในปีถัดมาและเปิดประตูต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในช่วงวันที่ 25-27 กันยายน ปี .. 2020 ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นคลังสินค้าที่ว่างเปล่า และหลังจากนั้นปิดให้บริการไปเป็นเวลากว่าหนึ่งปีเพื่อขนย้ายงานศิลปะต่างๆเก็บมาเก็บในอาคาร ก่อนที่จะกลับมาเปิดอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่  5 พฤศจิกายน ในปี .. 2021 

Photo: Verasu Saetae

อาคาร Depot ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของสวนสาธารณะ Musuempark ฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ Boijmans ผังแม่บทของ Musuempark เป็นผลงานการวางผังเมืองของ OMA ที่สร้างขึ้นในปี .. 1994 รายล้อมไปด้วยสวนและต้นไม้ที่เชื่อมอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Khunstal พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมแห่งชาติ Het Nieuwe Instituut และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Boijmans เข้าด้วยกัน แน่นอนว่าการก่อสร้าง Depot ในโลเคชั่นนี้เป็นข้อถกเถียงกันในหมู่เชี่ยวชาญ การออกแบบอาคารให้มีขนาดกระทัดรัดเพื่อลดขนาดฟุตพริ้นท์ของแปลนอาคารกลายเป็นทางออกที่สถาปนิกนำมาใช้ในการออกแบบ

Photo: Ossip van Duivenbode

Photo: Ossip van Duivenbode

เมื่อมองจากภายนอก ตัวอาคารมีรูปทรงคล้ายกระถางต้นไม้หรือชาม ที่หุ้มด้วยกระจกเงาสะท้อนสภาพแวดล้อมโดยรอบ ประกอบทั้งหมด 6 ชั้น สูง 39.5 เมตร ชั้นล่างของอาคารมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร และขยายใหญ่ขึ้นไปจนถึงสวนชั้นดาดฟ้าของอาคารจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 60 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 15,000 ตารางเมตร ซึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดนั้นเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ คลังจัดเก็บแห่งนี้เป็นบ้านของงานศิลปะมากกว่า 151,000 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ Boijmans ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ประติมากรรม และ วัตถุต่างๆ ในคลังจัดเก็บนี้ยังแบ่งพื้นไว้ปล่อยเช่าให้กับองค์กรหรือนักสะสม ที่อยากนำคอลเล็กชันส่วนตัวของตนมาจัดเก็บอีกด้วย

Photo: Ossip van Duivenbode

ส่วน façade กระจก โดยเฉพาะหน้าต่างและประตูของ Depot เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่สร้างความท้าทายในการออกแบบและก่อสร้าง ชิ้นส่วนของช่องหน้าต่างต้องการความโปร่งใส แผ่นกระจกในส่วนหน้าต่างจึงถูกผลิตมาเป็นเป็นพิเศษ โดยค่อยๆ ไล่ระดับความสะท้อนจากส่วนขอบไปถึงส่วนที่โปร่งใส เมื่อเข้าไปมองใกล้ๆ เราจะเห็นรายละเอียดของลายกราฟิกของวงกลมเป็นจุด ๆที่กำลังกระจายตัวออกมา มากไปกว่านั้นโครงเหล็กพิเศษได้ถูกออกแบบขึ้นสำหรับประตูทั้ง 8 บาน การสร้างประตูที่ไร้รอยต่อเพื่อรักษารูปทรงและ façade ของอาคาร ประตูจะเปิดปิดในลักษณะเดียวกับประตูรถบัส โดยเริ่มจากด้านนอกก่อนแล้วจึงค่อยเปิดออกด้านข้าง ทำให้ในขณะที่ประตูปิดอยู่เราจะมองไม่ออกเลยว่าทางเข้าอยู่ตรงไหนถ้าไม่ได้อ่านป้ายเหนือหัวของทางเข้า

Photo: Ossip van Duivenbode

Photo: Ossip van Duivenbode

เมื่อก้าวเข้ามาภายในอาคารจะเข้ามาสู่พื้นที่โถงต้อนรับ ที่โดดเด่นด้วยไฟสีชมพูบนเพดานที่วิ่งไปตามรัศมีของวงกลม อีกด้านหนึ่งของโถงเป็นส่วนหลังบ้านของคลังจัดเก็บซึ่งเป็นพื้นที่ขนถ่ายงานศิลปะ ในจุดนี้ผู้มาเยือนจะสามารถสังเกตขั้นตอนในการแกะและบรรจุงานศิลปะก่อนที่จะถูกนำไปเก็บเข้าคอลเลคชั่นซึ่งปกติถูกซ่อนอยู่ในส่วน back of house ได้อย่างใกล้ชิด และด้วยเหตุผลเกี่ยวกับระดับน้ำบาดาล ทำให้งานศิลปะที่จัดเก็บไว้ทั้งหมดถูกยกสูงขึ้นไป 7 เมตรในชั้นถัดไป ซึ่งทำให้ประสบการณ์ในการเยี่ยมชมมีความพิเศษขึ้นไปอีก

เมื่อเดินขึ้นบันไดหลักขึ้นมาจะมาถึงบริเวณโถง atrium ใหญ่ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางและหัวใจหลักของอาคาร ที่เจาะทะลุจากชั้นหนึ่งไปถึงชั้นหก ด้วยความสูงกว่า 35 เมตร โดยแต่ละชั้นโยงใยเชื่อมถึงกันผ่านบันไดและตู้โชว์จัดแสดงที่ลอยตัวและเรียงตัวซิกแซกกันไปมาเหมือนกันใยแมงมุมที่ทับซ้อนกัน ออกแบบโดย Marieke van Diemen คอลเล็คชั่นของพิพิธภัณฑ์ถูกจัดวางอยู่ในตู้โชว์ที่ออกแบบให้กลมกลืนไปกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ผนังกระจกของลิฟต์แก้ว ราวกันตก บันได และในจุดหนึ่งตู้โชว์กลายเป็นสะพานให้เราเดินข้ามพร้อมกับชมวัตถุ เครื่องปั้นต่างๆ ที่ถูกนำมาจัดแสดง

Photo: Ossip van Duivenbode

Photo: Ossip van Duivenbode

Photo: Ossip van Duivenbode

ตั้งแต่ชั้นหนึ่งถึงชั้นห้าเป็นพื้นที่ของคลังจัดเก็บ ประกอบไปด้วย พื้นที่เวิร์กช็อปการบูรณะงานศิลปะ พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ พื้นที่การเรียนรู้ และ ห้องทำงานปฏิบัติการ พื้นที่จัดเก็บแบ่งออกเป็นห้าเขตภูมิอากาศที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของวัตถุแต่ละประเภท ได้แก่ โลหะ พลาสติก สารอินทรีย์ อนินทรีย์ และภาพถ่าย ตามข้อกำหนดด้านอุณหภูมิและความชื้นเฉพาะ ในขณะที่เดินผ่านพื้นที่เหล่านี้ เราสามารถสังเกตุการณ์การทำงานของผู้เชี่ยวชาญผ่านช่องกระจกในแต่ละห้องที่เผยให้เราเห็นเครื่องมือและพื้นที่ในการทำงานของผู้เชี่ยวชาญได้ ที่ชั้นดาดฟ้าของตัวอาคารมีร้านอาหารและพื้นที่จัดกิจกรรมอยู่ใน pavilion กระจก ล้อมรอบด้วยสวนหย่อมสาธารณะ ต้นไม้และจุดชมวิว ซึ่งผู้เข้าชมสามารถออกมาชมวิวด้านนอก เดินวนไปรอบอาคารเพลิดเพลินไปกับมุมสูงของตึกอาคารและบริบทแวดล้อมของ Musuempark และเมืองร็อตเตอร์ดัมได้อีกด้วย

Photo: Ossip van Duivenbode

หากใครมีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมคลังจัดเก็บศิลปะแห่งนี้ อยากแนะนำให้ใช้ลิฟต์ลงมาจากชั้นบนสุดของอาคาร ไหลผ่านห้องโถง บันไดทางเดินที่เลื้อยพัน และงานศิลปะที่ห้อยโหนอยู่ในตู้จัดแสดงที่ลอยตัวเหนืออากาศ เมื่อเข้าไปอยู่ในตู้ลิฟต์แล้วผู้เข้าชมก็อาจเสมือนกลายเป็นงานศิลปะ กลายเป็นวัตถุที่อยู่ในตู้โชว์ต่อผู้เข้ามาเยี่ยมชมคนอื่นๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

Depot อาจเป็นคลังจัดเก็บศิลปะสาธารณะแห่งแรกของโลก ที่เผยให้เราเห็นถึงมิติใหม่การเยี่ยมชมงานศิลปะโดยไม่ผ่านมือภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ สร้างอิสระที่มากขึ้นในการเลือกที่จะชม เรียนรู้กับโลกในทำงานของพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้ที่จะไม่มองแค่ด้านหน้าที่สวยงามของภาพวาด สอนให้เราหัดมองโครงสร้างและวัสดุของกรอปรูป โน๊ตด้านหลังที่ศิลปินแนบไว้ด้านหลังกรอบรูป สิ่งเหล่าล้วนรายละเอียดที่ควรค่าแก่การค้นหา

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ Boijmans กำลังปิดปรับปรุงครั้งใหญ่โดยมีแผนกำหนดที่จะเปิดทำการอีกครั้งในปี .. 2029 งานศิลปะถูกย้ายออกมาเก็บไว้ที่ Depot และในขณะนี้บริษัท Mecanoo กำลังพัฒนาแบบของส่วนปรับปรุงและส่วนต่อขยายใหม่ของพิพิธภัณฑ์ มาดูกันว่าอีก 7 ปีข้างหน้า การใช้งานร่วมกันระหว่างตัวพิพิธภัณฑ์และคลังจัดเก็บแห่งนี้จะถูกพัฒนาไปอย่างไร 

Photo: Ossip van Duivenbode

bojimans.nl
mvrdv.n

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *