โปรเจ็คต์บ้านใต้ดินล้ำจินตนาการจาก Junya Ishigami + Associates ที่ควบรวมสถาปัตยกรรมเข้ากับธรรมชาติด้วยวิธีที่ที่ไม่เหมือนใคร และชวนให้เราสงสัยว่า ‘อาคารนี้สร้างอย่างไร’
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO & VIDEO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
Junya Ishigami + Associates เป็นสตูดิโอญี่ปุ่นที่ขยันเรียกเสียงฮือฮาอยู่ตลอด จากผลงานการออกแบบที่มักผสมผสานธรรมชาติกับสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกันในรูปแบบเหนือจินตนาการ แฝงไปด้วยเทคนิคการก่อสร้างสุดท้าทาย แต่ก็มีตัวตนที่เรียบง่ายอย่างน่าประหลาด House and Restaurant โปรเจ็คต์บ้านใต้ดินที่เพิ่งสร้างเสร็จไป เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็คต์ที่ตอกย้ำเอกลักษณ์ของสตูดิโอได้เป็นอย่างดี
House and Restaurant ตั้งอยู่เมืองอูเบะ จังหวัดยามากุจิ ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ในโครงการประกอบด้วยพื้นที่ร้านอาหารที่และพื้นที่พักอาศัยส่วนตัว เมื่อเดินทางไปถึง สิ่งแรกที่จะพบก็คือความว่างเปล่า มองเห็นเพียงผืนหลังคาคอนกรีตทาสีขาวในรูปทรงยึกยือซึ่งวางตัวในระดับเรียบเสมอกับผืนดินเท่านั้น เพราะพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดนั้นซ่อนตัวอยู่ในผืนดิน เรื่องทั้งหมดเกิดจากความต้องการของเจ้าของที่อยากได้บ้านที่ให้ความรู้สึกหนักและหยาบตามแบบธรรมชาติ เพื่อช่วยขับกล่อมรสชาติอาหารที่เขาทำให้เลิศรส รวมถึงอยากได้บ้านที่เหมือนว่ามันอยู่ที่นี่มานานแล้ว และจะอยู่ที่นี่ไปอีกนานในอนาคต Junya Ishigami + Associates จึงจัดให้ด้วยการออกแบบโพรง ’ถ้ำ’ ใต้ดินที่เหมือนอยู่ท้าทายเวลามานาน แต่จริงๆ คือบ้านที่สร้างใหม่หมดจด
ที่ว่างของถ้ำเคี้ยวคดเกิดจากกระบวนการทดลองหาผ่านการทำโมเดลจำนวนมาก เมื่อได้พื้นที่ใช้สอยที่เป็นที่พอใจแล้ว โมเดลนั้นถูกมาจัดทำเป็นข้อมูลดิจิตอลสามมิติ และส่งต่อให้วิศวกรกำหนดเป็นพิกัดใน site สำหรับการขุดดินเป็นหลุมตามแบบ หลุมเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นแม่แบบหล่อเสาและหลังคา จากนั้นช่างก่อสร้างก็วางเหล็กเสริม และเทคอนกรีตลงไปในหลุม เมื่อคอนกรีตเซ็ตตัว ช่างก่อสร้างจึงขุดเอาดินระหว่างมวลคอนกรีตเหล่านั้นออก และเทพื้นคอนกรีตบริเวณพื้นที่ใช้สอยข้างใน
พื้นที่ใช้สอยทั้งสองพื้นที่ต่างมีทางเข้าแยกของตัวเอง แต่ละส่วนแบ่งส่วนออกจากกันโดยชัดเจนด้วยคอร์ทเล็กๆ สามคอร์ท คอร์ทตรงกลางมีทางเดินที่เชื่อมสองพื้นที่เข้าด้วยกัน พื้นที่ส่วนพักอาศัยประกอบด้วยห้องนอนสองห้องที่อยู่สุดปลายทางเดินแต่ละฝั่ง ตรงกลางเป็นห้องนั่งเล่นที่มีหลุมที่นั่งกดต่ำลงไป ฝั่งร้านอาหารมีที่นั่งรับประทานอาหารสองแบบ คือที่นั่งเคาน์เตอร์ที่อยู่ติดกับครัว และที่นั่งกับโต๊ะเล็กๆ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในโถงอีกฝั่ง พื้นที่ภายนอกและภายในอาคารถูกกั้นออกจากกันด้วยกระจกเปลือยที่ตัดเข้าพอดีกับช่องว่างผนังแต่ละจุด ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายเช่นกันของโปรเจ็คต์นี้ สำหรับพื้นผิวของผนังและเพดาน เดิมทีสถาปนิกตั้งใจจะโชว์ผิวคอนกรีตหล่อแบบเปลือย แต่เมื่อเห็นความงามของดินที่เกาะบนผิวคอนกรีตระหว่างก่อสร้าง สถาปนิกจึงตัดสินใจเก็บรักษาผิวดินเกรอะกรังตามธรรมชาติไว้ พร้อมนำดินมาโปะตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้พื้นผิวแต่ละส่วนดูสวยงามสม่ำเสมอกัน
ระบบโครงสร้างและการก่อสร้างดูเหมือนเป็นสิ่งที่ Junya Ishigami + Associates ให้ความสำคัญจนถึงขั้นหมกมุ่น ผลงานของพวกเขาหลายชิ้นท้าทายการสร้างสถาปัตยกรรมในรูปแบบเดิมๆ และยังตั้งคำถามถึงการออกแบบโครงสร้างและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการก่อสร้าง แน่นอนว่าโปรเจ็คต์ถ้ำใต้ดินแห่งนี้ก็เป็นโปรเจ็คต์อันท้าทายโปรเจ็คต์หนึ่งของ Junya Ishigami + Associates มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่สตูดิโอจะใช้เวลาออกแบบโปรเจ็คต์นี้ 3 ปี และก่อสร้างอีก 6 ปี รวมเป็น 9 ปี