KENSINGTON LEARNING SPACE

Photo courtesy of Plan Architect

Plan Architect ออกแบบโรงเรียนที่เต็มไปด้วย space ที่เสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

หากนึกภาพของ “โรงเรียนสอนพิเศษ โดยทั่วไปเรา มักจะนึกถึงห้องเรียนต่าง ๆ ที่ถูกแบ่งเพื่อให้นักเรียน ได้จดจ่ออยู่กับบทเรียนเพื่อเน้นผลลัพธ์ปลายทางในหนังสือเพียงอย่างเดียว อันทำให้การเรียนรู้ในมิติอื่น ๆ และการบูรณาการความรู้ถูกลดทอนความสำคัญลงไป โครงการ Kensington Learning Space นั้นมองไปยัง การส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนที่มี ความสนใจแตกต่างกัน บนความเชื่อว่าคุณค่าของการ ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ดนตรีหรือกีฬา นั้นมิได้มีความสำคัญยิ่งหย่อนไปว่าการเรียนรู้ในห้องเรียน Plan Architect นำเสนอสถาปัตยกรรมที่มุ่งเน้นไปยังปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พื้นที่เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เกิดจินตนาการและเลือกที่จะ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

เมื่อเราพิจารณาถึงโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่าง โรงเรียน Kensington International Kindergarten ซึ่ง Plan Architect เป็นผู้ออกแบบเช่นกัน ที่มุ่งเน้นไปยัง การเชื่อมต่อภายในและภายนอกอาคารเพื่อสร้างพื้นที่ pocket space ให้เด็ก ๆ วัยอนุบาลได้มีสมาธิและจดจ่อ อยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ โครงการ Kensington Learning Space นั้นกลับมีการจัดสรรพื้นที่ที่แตกต่างออกไป โดยมุ่งเน้นไปยังการเชื่อมต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในอาคารของกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งกิจกรรมในอาคารถูกประกอบสร้างจากหลักสูตรเรียนรู้สำหรับเด็กแบบ play-based learning เช่นเดียวกับโรงเรียน Kensington International Kindergarten ที่มุ่งเน้นไปยังการเล่นเพื่อการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่ง ถูกต่อยอดความหลากหลายและความล้ำลึกให้มากขึ้น ทำให้การใช้งานหลักของอาคารนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนเสริมทักษะทางร่างกายที่มีความ active และส่วนห้องเรียนที่มีความ passive

Concept Diagram

อาคารส่วนกีฬานั้นประกอบด้วยการใช้งานที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่และมีการเคลื่อนไหวมาก เช่น โรงยิม ห้องซ้อมเต้น และสระว่ายน้ำ ซึ่งจะถูกจัดวางไว้ส่วนด้านหน้าของพื้นที่โครงการ ส่วนห้องเรียนที่ต้องการพื้นที่ขนาดเล็ก ถูกแบ่งออกเป็นห้องเล็ก ๆ ที่สามารถเชื่อมถึงกันได้ และจัดวางไว้ด้านหลังอาคารเพื่อความสงบ เอื้อให้เกิดสมาธิในการเรียน อีกทั้งการวางผังที่มีลักษณะเป็นวงกลมที่มีคอร์ทตรงกลาง dHยังช่วยด้านความปลอดภัย เนื่องจากสามารถเห็นผู้ใช้งานได้จากทุกพื้นที่โดยรอบ พร้อมกับสร้างการเชื่อมต่อทางสายตาระหว่างกิจกรรม ในส่วนต่างๆ ทําให้เด็ก ๆ สามารถเห็นกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของห้องเรียนอื่น พร้อมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์ ให้เด็กๆ ได้เกิดความใคร่รู้ในพื้นที่นอกห้องเรียน อันก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจของนักเรียนเอง

หากพิจารณาจากผังอาคาร การจัดวางห้องต่าง ๆ จาก เล็กไปใหญ่ ในลักษณะวงกลมที่เชื่อมต่อเป็นเกลียวทุกชั้นนั้น ส่งผลให้รูปทรงของอาคารมีลักษณะคล้ายก้นหอย ที่สามารถเชื่อมต่อทุกกิจกรรมเข้าด้วยกัน ประกอบกับ ทางสัญจรหลักที่เป็น single corridor ภายในคอร์ทนั้น ก็ได้ช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะอยู่ด้านใน หรือด้านนอกห้องเรียน การออกแบบอาคารด้วยรูปทรง freeform ยังช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้เด็กๆ ลองเข้าไปค้นหาความพิเศษของพื้นที่แต่ละแง่มุม อีกทั้งขอบอาคารที่ยื่นออกมายังช่วยป้องกันแสงแดดที่ตก กระทบทั้งพื้นที่ใช้งานและพื้นที่ทางเดิน ทำให้พื้นที่ ส่วนต่าง ๆ มีร่มเงาตลอดเวลา นอกจากนี้ลักษณะของพื้นที่ semi-outdoor ยังถูกนำมาใช้ในพื้นที่สระว่ายน้ำแบบเปิดของโครงการ ที่นอกจากจะสร้างการไหลเวียนของอากาศเข้าสู่คอร์ทอาคารแล้ว ยังทำให้ผู้ใช้งานไม่รู้สึกว่าอยู่ในพื้นที่ปิดและสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับพื้นที่สีเขียวภายนอกได้ด้วย

การออกแบบโครงการ Kensington Learning Space ชี้ให้เราเห็นถึงความสำคัญของ “ปฏิสัมพันธ์” ที่เกิดขึ้น ในสนามของการเรียนรู้ ลบภาพจำของการเรียนแบบเดิมที่ตัดขาดผู้เรียนออกจากโลกภายนอก เป้าประสงค์ ของการออกแบบที่เชื่อมโยงพื้นที่เข้าด้วยกันทำให้ ผู้เรียนได้เรียน ได้เล่น ได้พูดคุยกับเพื่อน และเป็นการเน้นย้ำถึงการเรียนรู้ที่มิใช่การตัดขาดจากโลกภายนอกเพื่ออยู่กับตัวเอง หากแต่เป็นการทำความเข้าใจ เชื่อมโยง และร้อยเรียงสิ่งที่อยู่รอบตัวทุกอย่าง จนเกิดเป็นความรู้ และประสบการณ์อันเป็นของผู้เรียนเอง

fb.com/planarchitect

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *