วีร์ วีรพร พาเราไปรู้จักกับกระบวนการ ‘ชุบชีวิตแบบอักษร’ เพื่ออนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ซ่อนในตัวอักษรไม่ให้หายไปตามกาลเวลา
TEXT: WEE VIRAPORN
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
เมื่อคุณเดินทางไปถึงประเทศ หรือเมืองแห่งหนึ่ง มีอะไรบ้างที่ทำให้รับรู้ได้ว่าคุณได้มาถึงที่นั่นแล้ว? เราอาจจะถูกต้อนรับด้วยภาพโฆษณาของหน่วยงานผู้ดูแลการท่องเที่ยวที่นำเสนอสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่นั้น มองเห็นหน้าตาและการแต่งกายของผู้คนที่แปลกไปจากบ้านเกิดของเรา ได้ยินข้อความทักทายที่เป็นภาษาหรือสำเนียงที่ไม่คุ้นหู ก่อนจะถูกห้อมล้อมด้วยป้ายข้อความมากมายทั้งจากการโฆษณาสินค้าและบริการ รวมถึงการให้ข้อมูลในพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่ถูกจัดทำโดยองค์กร และผู้คนในพื้นที่
ไม่นานมานี้เราไปเจอโปรเจ็คต์ของ Road Research Society องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในฮ่องกง ที่ทำการชุบชีวิตแบบตัวอักษรบนป้ายจราจรในสมัยก่อนที่ถูกเขียนโดยลายมือของนักโทษ ด้วยการรวบรวมภาพถ่ายแล้ววาดขึ้นใหม่เป็นดิจิทัลไฟล์ และประกอบเป็นฟอนต์ด้วยโปรแกรม Glyphs (หนึ่งในซอฟท์แวร์ออกแบบฟอนต์ที่มืออาชีพนิยมใช้) โดยมีเป้าหมายเพื่อเก็บรักษาลักษณะเฉพาะของแบบตัวอักษรที่เคยเป็นภาพจำของเมืองฮ่องกง ฟอนต์นี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘Prison Gothic’ เพื่อให้เกียรตินักโทษผู้ให้กำเนิดแบบตัวอักษรนั้น
การ ‘revival’ หรือชุบชีวิตแบบตัวอักษร เป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมการออกแบบของตะวันตก หลายฟอนต์ที่เราคุ้นเคยบนคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้ มีอายุหลายร้อยปี และถูกพัฒนาขึ้นหลายรอบ โดยหลายผู้ผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของสื่อและผู้บริโภค เราจึงได้ยินนักออกแบบหลายคนพูดถึงการหาแรงบันดาลใจจากการศึกษาอดีตด้วยหลายวิธีการ ตั้งแต่การดูหนังสือเก่า ไปจนถึงเดินสำรวจป้ายหลุมศพตามสุสาน
ตัวอย่างหนึ่งของแบบตัวอักษรที่มีชีวิตอยู่ข้ามยุคสมัย คือ ‘Johnston’ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในระบบขนส่งมวลชนของลอนดอน ก่อนจะถูกปรับปรุง ดัดแปลง และตีความใหม่โดยหลายผู้พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 100 ปี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในภาพจำของเมืองลอนดอน
ปัจจุบันงานออกแบบฟอนต์จะมีส่วนสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในกระบวนการสร้างแบรนด์ เพราะในโลกทุนนิยมเต็มไปด้วยการสื่อสารผ่านการมองเห็น แบบตัวอักษรก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ผู้่อ่านรับรู้ถึงบุคลิกและน้ำเสียงของแบรนด์ได้ โดยอาจจะยังไม่ต้องเห็นโลโก้ สี หรือหน้าตาของพรีเซ็นเตอร์
สำหรับในประเทศไทย ความสนใจในอักขรศิลป์ (typography) ยังคงเป็นเรื่องที่รับรู้กันค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม การขาดความตระหนักรู้ในระดับสาธารณะ ว่าในแบบตัวอักษรมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความเชื่อมโยงกับยุคสมัยอยู่ด้วย ทำให้บางครั้งเราได้เห็นความผิดที่ผิดทางที่น่าเสียดาย เช่น ป้ายชื่ออาคารไปรษณีย์กลาง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบ art deco สมัยคณะราษฎร ในปัจจุบันใช้แบบตัวอักษร ‘ฟ้าทะลายโจร’ ซึ่งเป็นแบบตัวอักษรที่พัฒนามาเพื่อใช้กับภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 2543 โดยเก็บกลิ่นอายของการเขียนป้ายและโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยย้อนยุค ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคเดียวกัน ทั้งยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายจนช้ำ ในกิจกรรมประเภทตลาดนัดถนนคนเดินภายใต้คอนเซ็ปต์ย้อนยุค ตลอดช่วงทศวรรษ 2540-2550
อาจจะเพราะว่าแบบตัวอักษรที่ดีนั้นเหมือนกับอากาศ ที่ทุกคนหายใจเข้าออกโดยไม่ต้องตระหนักถึงการมีอยู่ การพัฒนาองค์ความรู้ของอุตสาหกรรมออกแบบฟอนต์ในไทยเรื่องการแบ่งหมวดหมู่ของตัวอักษร (classification) ในช่วง 20 กว่าปีหลังจากที่ประชา สุวีรานนท์ นำเสนอ ‘10 ตัวพิมพ์ กับ 10 ยุคของสังคมไทย’ ยังคงไม่มีข้อสรุปเป็นทฤษฎีที่ชัดเจนนัก แบบตัวอักษรมากมายถูกทำลายไปพร้อมกับตัวสถาปัตยกรรมและสถานที่โดยไม่ถูกนำมาแปลงเป็นดิจิทัล
แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการ revival ตัวอักษรไทยเกิดขึ้นเลย กลุ่มนักออกแบบที่ชุบชีวิตให้แบบตัวอักษรไทยที่พบเจอในสถานที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ คือ ‘เซียมไท้’ ซึ่งถ้าเข้าไปดูพอร์ทโฟลิโอบน Behance จะพบแบบตัวอักษรที่อาจจะเคยเห็นบนสะพาน, อนุสาวรีย์ และป้ายชื่ออาคารสถานที่ต่างๆ โดยมีผลงานชิ้นสำคัญคือ ‘ปวนและเสรี’ ฟอนต์ที่พัฒนาจากสไตล์การเขียนป้ายอันเป็นเอกลักษณ์ของ ป.สุวรรณสิงห์ ช่างเขียนยอดฝีมือผู้ฝากผลงานไว้มากมายในพื้นที่จังหวัดลำปาง
แบรนด์ที่ตั้งใจสร้างอัตลักษณ์โดยไม่ทิ้งภาพจำที่เกิดจากแบบตัวอักษรเดิมก็มีให้เห็น เช่น Lido Connect ที่นำตัวอักษรจากป้ายชื่อโรงภาพยนตร์ลิโดเดิม มาใช้เป็นโลโก้ ‘ลิโด้’ และภาพลักษณ์ใหม่ของเวทีมวยราชดำเนินที่นำตัวอักษรสไตล์ art deco จากป้ายชื่อภาษาไทยเดิม มาขัดเกลาให้หมดจด และถอดโครงสร้างมาเป็น logotype ภาษาอังกฤษได้อย่างสวยงามโดยคงเจตนาเดิมไว้ได้ครบถ้วน เพื่อเป็นส่วนสำคัญของระบบอัตลักษณ์ที่สวยงามร่วมสมัย สอดคล้องกับธุรกิจใหม่ๆ ขององค์กร
Video courtesy of Farm Group
ในส่วนของดิจิทัลฟอนต์หลายตัวในยุคแรกๆ ของไทยจากยุค 80s – 90s แม้จะเคยพบช่วงสูญญากาศที่ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์หันมาใช้ฟอนต์ในระบบ unicode ทำให้ฟอนต์เดิมไม่สามารถใช้ได้ แล้วไม่มีการพัฒนาต่อเพราะผู้ผลิตเดิมอาจจะเลิกกิจการไปแล้ว ก็ยังถูกค่าย DB Fonts นำมาปรับปรุงเป็นชุดฟอนต์ตระกูล MN ที่ใช้ได้บนระบบปัจจุบัน
อย่างที่ทราบกันว่าระบบราชการ และระบบการศึกษาของรัฐไทยมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง เราจึงหวังว่านิยามของคำว่า ‘อนุรักษ์’ จะกว้างไปกว่าการดูแลรักษาสิ่งจับต้องได้ที่เป็นโบราณสถานหรือโบราณวัตถุ ถ้าคนไทยต้องภูมิใจในการมีภาษาไทย มีอักขระไทยเป็นของตัวเอง ก็หวังว่าสังคมจะมองเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมในงานออกแบบตัวอักษร และหันมาพัฒนาให้แบบตัวอักษรชุดหนึ่งมีอายุยาวนานข้ามรอยต่อทางเทคโนโลยีได้อีกไกลในอนาคต