สำรวจเรื่องราวของ Abie Abdillah นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชาวอินโดนีเซียจาก Studio Hiji ที่ผสมผสานงานหัตถกรรมอินโดนีเซียเข้ากับไม้เนื้อแข็งอเมริกันเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของงานออกแบบและรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นพื้นถิ่นไปพร้อมๆ กัน
TEXT: AHEC
PHOTO COURTESY OF STUDIO PERIPHERY
(For English, press here)
จากคุณลักษณะแบบอเมริกันสู่หัตถศิลป์แห่งอินโดนีเซีย
Abie Abdillah แห่ง Studio Hiji ผสานหัตถกรรมอินโดนีเซียเข้ากับวัสดุยั่งยืนคุณภาพพรีเมียม
นักออกแบบชาวอินโดนีเซีย Abie Abdillah ผู้ก่อตั้งสตูดิโอที่มีชื่อเสียงมายาวนานอย่าง Studio Hiji นั้นมีความเชื่อมั่นในศาสตร์และศิลป์แห่งหัตถกรรมตลอดมา เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการทำงานร่วมกับช่างแกะสลักมากฝีมือและประสบการณ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์อันโดดเด่นของผลงานเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นที่เขาออกแบบ
Abdillah อธิบายว่า “หัตถศิลป์คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นชาวอินโดนีเซียน เพราะเรามีผู้คนที่เชี่ยวชาญงานหัตถกรรมแขนงต่างๆมากมากมาย ไปจนถึงวัตถุดิบหลากหลายให้เลือกใช้ การสร้างอะไรขึ้นมาด้วยมือนั้นนำมาซึ่งรายละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากงานเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตขึ้นโดยเครื่องจักรในปริมาณคราวละมากๆ”
การทำงานในฟากฝั่งของหัตถกรรมของ Abie คือการยืนกรานในการร่วมสร้างสรรค์กับกลุ่มคนทำงานขนาดเล็กไปถึงกลาง ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างงานด้วยมือ มากกว่าการใช้เครื่องจักรที่มีระบบการทำงานที่ซับซ้อน นอกเหนือไปจากการสร้างเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพดีแล้ว เขายังมองการทำงานในทิศทางนี้เป็นเหมือนมาตรฐานของการสนับสนุนและสร้างประโยชน์ให้ชุมชนหัตถกรรมผ่านการทำงานร่วมกับเวิร์คช็อปท้องถิ่นต่างๆ
ในขณะที่ Abdillah ชอบทำงานกับไม้ท้องถิ่นของอินโดนีเซีย เขาเพิ่งเริ่มที่จะทำการทดลองสร้างงานที่หลากหลายขึ้นกับการใช้งานไม้เนื้อแข็งอเมริกาหลากสายพันธ์ุ รวมไปถึงไม้อย่างไวท์โอ๊คและวอลนัท เขาพบว่าไม้เหล่านี้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับความสนใจทางหัตถกรรมของเขา “ไม้เนื้อแข็งอเมริกันนั้นเหมาะสำหรับการนำไปแกะสลัก เพราะเนื้อของมันมีความแข็งหากแต่ก็ยังทำงานด้วยได้ง่าย ทำให้ช่างสามารถแกะสลักลวดลายได้โดยไม่ยากเย็นอะไร พวกเขาค้นพบว่ามันทำงานด้วยง่าย ทำให้เราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์โดยใช้หลักการเทคนิคดั้งเดิมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่มีความร่วมสมัย”
ยิ่งเขาทำงานกับไม้เนื้อแข็งพันธุ์อเมริกันมากเท่าไหร่ Abdillah ก็เรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมของวัสดุเหล่านี้มากขึ้นเท่านั้น ต้นไม้เป็นเสมือนดั่งที่กักเก็บคาร์บอนขนาดมหึมา และยิ่งด้วยการบริหารจัดการที่มีความล้ำสมัย และความสามารถในการดำเนินการต่างๆที่เกิดขึ้นทางฝั่งอเมริกา ที่เมื่อแม้จะทำการขนส่งไปสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม้ที่เดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางต่างๆก็ยังคงความติดลบทางคาร์บอนได้อยู่ ด้วยการบริหารจัดการด้วยวิธีการยั่งยืนและการเก็บเกี่ยวที่เป็นกระบวนการคัดสรรแบบคัดเลือก หมายความว่าต้นไม้ทุกๆ ต้นที่ถูกตัดลงจะถูกแทนที่ด้วยต้นไม้มากกว่าหนึ่งต้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับหนึ่งในความกังวลของ Abdillah กับการใช้งานไม้ท้องถิ่น นั่นคือในขณะที่เขาชอบที่จะทำงานกับพันธุ์ไม้ท้องถิ่น เขาก็ยังมีความไม่สบายใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรป่าอย่างเกินที่ควรจะเป็นอันนำไปสู่ความทรุดโทรมของป่าในที่สุด
นอกจากนี้ Abdillah ยังค้นพบประโยชน์ที่เป็นดังจุดแข็งในเชิงพาณิชย์ในการใช้พันธ์ุไม้เนื้อแข็งของอเมริกากับงานของเขา “เราใช้ไม้ท้องถิ่นของอินโดนีเซียหลายชนิดแต่ไม้ชนิดที่มีคุณภาพสูงจริงๆก็มีน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้มันมีราคาแพงมาก ไม้เนื้อแข็งอเมริกันนั้นไม่เพียงแต่หาง่ายหากแต่ยังมีราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ สำหรับผมแล้ว ถ้าคำนึงถึงความแน่นอนของมาตรฐานการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมของไม้เนื้อแข็งจากอเมริกา มันก็เป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับผมในการที่จะได้มาซึ่งใบอนุญาตในการส่งออก โดยเฉพาะเมื่อเทียบความต่างระหว่างไม้เนื้อแข็งอเมริกากับไม้ท้องถิ่น”
เมื่อไม่นานมานี้ Abdillah ได้แสดงผลงานคอลเลคชั่นแรกของเขาที่เป็นการใช้งานไม้เนื้อแข็งอเมริกัน ที่งาน FIND – Design Fair Asia อันเป็นการแสดงสินค้าที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าอันโด่งดังอย่าง Marina Bay Sands Expo & Convention Centre ในสิงคโปร์ โดยคอลเล็คชั่นดังกล่าวมีผลงานเด่นคือโต๊ะ Clover Table ที่ผสมผสานเอาความแตกต่างของท็อปไม้ที่ทำมาจากไม้โอ๊คขาวจากอเมริกากับขาที่ทำจากไม้ที่มีความแข็งแรงมากอย่างไม้วอลนัทอเมริกัน
เมื่อพูดถึงมุมมองต่ออนาคต Abdillah กล่าวว่า “ผมอยากจะทำให้จุดยืนที่ทางของเราในตลาดพรีเมียมมีความแข็งแกร่งกว่าเดิม ผมจึงได้เริ่มการเดินทางใหม่กับไม้เนื้อแข็งอเมริกัน ในอนาคตผมอยากจะทดลองอะไรใหม่ๆในการผสมผสานไม้เนื้อแข็งอเมริกันเข้ากับวัสดุท้องถิ่น การใช้วัสดุคุณภาพดีจากที่ต่างๆ ทั่วโลกควบคู่กับหัตถศิลป์ของอินโดนีเซียเพื่อยังคงสเน่ห์ของความเป็นพื้นถิ่นเอาไว้”