427 HOUSE

บ้านสำหรับผู้ใช้งานที่รักงานศิลปะและของสะสมโดย Maincourse ที่เต็มไปด้วยพื้นที่คล้ายแกลเลอรี่เพื่อให้ของสะสมและงานศิลปะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคาร

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: BEER SINGNOI

(For English, press here

จะมีบ้านสักกี่หลังกันเชียวที่เจ้าของบ้านจะยอมปันพื้นที่ขนาดใหญ่บริเวณชั้น 2 ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงคอลเลคชันผลงานศิลปะของตนเอง หากไม่ได้หลงใหลจริงๆ เจ้าของบ้านก็คงเป็นศิลปินท่านหนึ่ง นี่คือเสียงบอกเล่าที่ดังขึ้นในใจเราก่อนที่จะติดต่อ เอ็ม-ปวินท์ ศุภศรี สถาปนิกจาก Maincourse เพื่อขอพูดคุยถึงแนวคิดและโจทย์ในการออกแบบครั้งนี้

สถาปนิกเริ่มเล่าและเฉลยตั้งแต่ต้นประโยคว่าเจ้าของบ้านไม่ใช่ศิลปิน เพียงแต่เป็นคนที่รักในงานศิลปะและการสะสม ซึ่งคาแร็คเตอร์ของบ้าน 2 ชั้น ขนาด 670 ตร.ม.ในชื่อ 427 House หลังนี้ ที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายแกลเลอรี เกิดจากการที่สถาปนิกได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจบ้านไม้หลังเก่าที่ถูกรื้อถอนออกไป จนได้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วครอบครัวของเจ้าของบ้านนั้นเป็นนักสะสมตัวยง ด้วยบรรยากาศภายในบ้านหลังเก่าที่เต็มไปด้วยผลงานศิลปะ เฟอร์นิเจอร์เก่า และของสะสมจำนวนมากที่จัดวางอยู่ในบ้านอย่างแน่นขนัด คาแร็คเตอร์ที่น่าสนใจนี้จึงถูกหยิบมานำเสนอผ่านการออกแบบพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะและของสะสมให้อยู่ในแต่ละจุดภายในบ้านหลังใหม่ ตั้งแต่ตู้โชว์ ไปจนถึงส่วนแกลเลอรีที่เป็นหัวใจหลักบริเวณชั้น 2


 

สถาปนิกได้ออกแบบช่องโล่งขนาดใหญ่จากหลังคา เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติให้ขับเน้นผลงานศิลปะได้อย่างโดดเด่นในช่วงกลางวัน นำเฟอร์นิเจอร์เก่ามาใช้ตกแต่งบ้านในบางส่วน และนำบานไม้ฝังหยกจากตู้เสื้อผ้าเก่าที่ได้จากการรื้อถอนกลับมาดัดแปลงเป็นประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่บริเวณโถงลิฟท์ รวมถึงการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากการใช้วัสดุของบ้านหลังเก่า เช่น อิฐและไม้ มาใช้กับบ้านหลังใหม่ในภาษาที่แตกต่างจากเดิม เพื่อสร้างกลิ่นอายและบรรยากาศที่คุ้นเคยให้กับเจ้าของบ้าน โดยอิฐที่สถาปนิกเลือกใช้ไม่ใช้อิฐทั่วไปที่หาได้ตามท้องถิ่น แต่เป็นอิฐสั่งผลิตพิเศษโดยได้ โม-โม จิรชัยสกุล ศิลปินเซรามิกคนสนิทมาเป็นผู้ผลิตอิฐชนิดพิเศษนี้ให้ด้วยตนเอง

ความพิเศษของอิฐชนิดดังกล่าว คืออิฐที่มีความยั่งยืนในแง่ของการบำรุงรักษากว่าอิฐทั่วๆ ไป สถาปนิกเล่าว่าปกติกระเบื้องดินเผาจะต้องเผาไฟที่ 800 องศา ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก จึงทำให้อิฐเกิดรูพรุน กลายเป็นคราบดำและตะไคร่ได้ง่าย วิธีการทั่วไปจึงเป็นการเคลือบป้องกันเอาไว้ แต่เมื่อโดนแดดโดนฝนไปเรื่อยๆ สารเคลือบก็จะค่อยๆ หลุดออก ซึ่งอิฐที่ต้องการเลือกนำมาใช้กับบ้านหลังนี้คืออิฐที่มีผิวสัมผัสแบบไม่ผ่านการเคลือบและอยากให้เกิดความยั่งยืนจริงๆ จึงได้นำอิฐไปเผาไฟที่ 1,200 องศาขึ้นไป เพื่อให้โมเลกุลของอิฐถูกบีบอัดแน่นขึ้น เกิดเป็นรูพรุนน้อยลง มีผิวสัมผัสที่ละเอียด และไม่ต้องบำรุงรักษาเท่าอิฐชนิดทั่วไป สำหรับการนำมาใช้กับตัวบ้าน จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่การนำมาใช้ปิดผิวผนังภายนอกตัวบ้าน และผนังภายในบ้านส่วนของโถงบันได ด้วยรูปแบบการตีซ้อนเกล็ด เพื่อให้มีลักษณะคล้ายกับรูปแบบบ้านไม้หลังเก่า

หากไล่ดูอีกหลายๆ จุดภายในบ้านจะพบว่ามีรายละเอียดในการออกแบบจุดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่อีกหลายจุดที่มีการใส่ใจมากกว่าโจทย์ที่เจ้าของบ้านได้ให้ไว้ เช่น การออกแบบลูกฟักที่ผนังบริเวณแกลเลอรีเพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษาและเก็บสีในอนาคต และการศึกษาตำแหน่งไม้ยืนต้นในที่ดิน เพื่อเก็บรักษาและวางผังบ้านให้สอดรับกับทิวทัศน์ ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่ Maincourse พยายามจัดสมดุลสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ แบ่งสัดส่วนของสิ่งที่ชอบและการใช้ชีวิตให้ลงตัวกันในบ้านหลังนี้ได้อย่างพอดิบพอดีในทุกๆ มิติ

fb.com/maincoursearchitect

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *