WAREHOUSE

นิทรรศการที่พาไปดูเบื้องหลังของแกลเลอรี่ และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างชิ้นงานต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะจัดแสดง พนักงานที่ทำงานอยู่จริงๆ รวมถึงผู้ชมที่เข้ามายังนิทรรศการ

TEXT: WICHIT HORYINGSAWAD
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

ถ้าจะเราจะมองว่า WAREHOUSE คือนิทรรศการตามความหมายปกติก็อาจจะบอกได้ว่านิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการที่อาจจะดูแปลกตาอยู่สักหน่อย 

ถ้ามองโดยรอบห้องจัดแสดงของ BANGKOK CITY CITY GALLERY จะพบว่าพื้นที่จัดแสดงมีสิ่งของต่างๆ วางกระจัดกระจาย และดูหนาแน่นเต็มพื้นที่กว่าการจัดแสดงงานตามปกติ สิ่งของที่ว่าบางชิ้นก็ค่อนข้างคุ้นตา เหมือนเป็นงานศิลปะที่เคยจัดแสดงไปแล้ว แต่อยู่ในกล่องที่ถูกแพ็คไว้อย่างค่อนข้างแน่นหนา บางชิ้นถูกห่อหุ้มอยู่ในสภาพที่ดูแปลกตาจากความคุ้นเคยที่เราเห็นโดยปกติ บางชิ้นก็เหมือนเป็นแท่นสำหรับจัดแสดงอะไรสักอย่างที่เคยผ่านการใช้งานมาแล้ว และบางชิ้นก็เหมือนเป็น banner งานกราฟิกของนิทรรศการเก่าๆ ที่ถูกพับไว้

แสงไฟภายในแกลเลอรี เปิดให้ความสว่างกับพื้นที่โดยรวมๆ เหมือนไฟในงานจัดแสดงสินค้าในงานแฟร์ต่างๆ ที่ไม่ได้เน้นหรือให้ความสำคัญไปที่พื้นที่ใดเป็นพิเศษ มีโต๊ะทำงานของ staff ซึ่งวางอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างเด่น เหมือนเป็นพื้นที่ตอนรับสำหรับผู้มาเยือน วันนั้นเราเห็น กันต์กวี ตรีชิต ผู้ที่ทำหน้าที่ gallery assistant กำลังง่วนอยู่กับการทำ site map แสดงข้อมูลเบื้องต้นของงานศิลปะต่างๆ ที่จัดวางอยู่โดยรอบ กันต์กวีกำลังทำงานประสานกับ ชลพัฒน์ นุชทองม่วง inventory ซึ่งเป็นผู้จัดระบบข้อมูลการเข้าออกของชิ้นงานศิลปะในแต่ละวัน ก่อนที่จะส่งข้อมูลที่รวบรวมได้ให้ทีมกราฟิกทำให้สื่อสารเข้าใจง่าย เพื่อให้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มาเข้าชมในวันต่อๆ ไป

ถ้ามองเข้าไปยังพื้นที่ด้านใน เราจะเห็นประตูขนาดใหญ่ด้านข้างถูกเปิดออกให้พื้นที่แกลเลอรีและพื้นที่ออฟฟิศเชื่อมต่อกัน ทำให้เราสามารถเดินเข้าไปดูพื้นที่จัดเก็บผลงานศิลปะด้านใน ที่โดยปกติแล้วจะเป็นพื้นที่ทำงานของของทีมงานของแกลเลอรีที่ไม่เปิดให้เข้าชม การเปิดให้พื้นที่สองส่วนนี้เชื่อมโยงกันทำให้พื้นที่ที่ใช้จัดนิทรรศการนี้ ดูแปลกตาไปจากนิทรรศการที่จัดที่นี่โดยปกติ

นวิน หนูทอง curator ของงานนี้ เล่าให้ฟังขณะเดินพาชมนิทรรศการว่าในการวางผังตำแหน่งในการวางวัตถุที่นำมาจัดแสดง เขาเริ่มต้นจากการ sketch และคิดว่า sketch ที่วาดนั้นจะสามารถทำงานกับวัตถุที่จะนำมาจัดวางได้ แต่พอพัฒนาไปเรื่อยๆ ค้นพบว่ามันไม่ใช่ แท้จริงแล้วมันทำงานกับเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมากกว่า เขาไม่รู้ว่าชิ้นงานทั้งหมดมีอะไรบ้าง พอค่อยๆ เริ่มจัดระบบของก็ค่อยๆ เข้ามาเพิ่ม แล้วบางทีก็เพิ่งรู้ว่าของบางชิ้นก็ไม่ได้มีตามในรายการ เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพทั้งหมด แต่สิ่งที่เห็นก็คือความเชื่อมโยงของสิ่งที่ถูกนำมาจัดแสดง ระหว่างคนดูกับตัวผลงาน ความเชื่อมโยงบางลักษณะทำให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของศิลปิน สิ่งที่สำคัญในงานจึงเป็นเรื่องความความสัมพันธ์ของสิ่งที่อยู่ระหว่างวัตถุและตัวชิ้นงานที่นำมาจัดแสดง สิ่งที่อยากแสดงให้เห็นอาจจะเป็นเรื่องของแรงงาน ที่เกิดขึ้นใน flow ของกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งโดยผู้คนและวัตถุต่างๆ  ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นกระบวนการที่อยู่เบื้องหลังผลงาน หรือนิทรรศการที่จัดแสดงให้ผู้ชมรับชม

ถ้าลองมองกิจกรรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นิทรรศการตามมุมมองของของชลพัฒน์ ซึ่งมีบทบาทเป็น inventory ที่ทำหน้าที่จัดระบบการเข้า-ออกของงานศิลปะทั้งหมด ดูแลและประสานงานเรื่องการซื้อขาย การเช็คจำนวนศิลปะว่ามีทั้งหมดกี่ชิ้น ถูกยืมไปกี่ชิ้น และจะกลับเข้ามากี่ชิ้น และรับผิดชอบเรื่องการจัดการงานศิลปะรวมถึงสิ่งของต่างๆ ทำให้ต้องมีการประสานงานกับทั้งผู้คนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสิ่งต่างๆ อยู่ตลอด ซึ่งเนื้องานจะแผ่ออกไปสู่เบื้องหลังว่างานหนึ่งชิ้นถูกโยงมาจากอะไรบ้าง ข้อมูลของงานศิลปะจะมีการถูกอัพเดทตลอด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่ทางทีมงานทำกันเป็นเรื่องปกติในช่วงต้นปี เป็นเหมือนการทบทวนใหญ่ เพียงแต่คราวนี้เราลองเปิดให้คนเข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบของนิทรรศการ

มีช่วงหนึ่งขณะเดินดูพื้นที่โดยรอบ นันท์นรี พานิชกุล เล่าให้ฟังจากมุมมองของ gallery manager ว่า “ถ้าพูดถึงความเป็นคลัง เราจะรู้สึกว่ามันมีสิ่งที่จับต้องได้เป็นกายภาพบางอย่างที่รอเวลาที่จะไปที่จุดหมายใหม่ แต่เราไม่ได้คิดว่าของที่รอจะไปที่จุดหมายใหม่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต้องเป็นประติมากรรมหรือเป็นภาพวาดเท่านั้น แต่มองว่าสิ่งที่คนดูไดัสัมผัสได้เรียนรู้ทั้งหมด ก็เป็นเหมือนข้อมูลบางอย่างที่รออยู่ในคลังให้คนที่มาชมรับเอากลับไป หรือว่าในบางครั้งคนดูก็อาจจะเอาอะไรมาเติมให้เราก็อาจะเป็นประโยชน์ในการทำงานต่อไปในอนาคต”

ในระหว่างที่คุยกับกันต์กวีที่ทำงานในตำแหน่ง gallery assistant เรื่อง flow ของกระบวนการในการทำงาน เขาบอกว่าเป็นไปได้ยากที่ผู้มาชมจะเห็น flow ทั้งหมดของงานที่พวกเราทำ เขาชี้ไปที่แล็ปท็อปและยกสมาร์ทโฟนขึ้นมา และเล่าว่ามีงานบางอย่างที่เราทำงานผ่านอีเมล ผ่านการแชท ซึ่งไม่ได้ทำผ่านพื้นที่ทางกายภาพ ทำให้ในนิทรรศการนี้สามารถจัดแสดงกระบวนการทำงานได้แค่บางส่วน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เข้ามาเยี่ยมชมในแต่ละวันก็จะได้เห็นกิจกรรมในการทำงานเคลื่อนย้าย จัดเก็บงานศิลปะวัตถุที่เปลี่ยนเข้ามาจัดแสดงไม่ซ้ำกัน โดยตลอดระยะเวลาของนิทรรศการ staff ทุกคนจะอยู่ในพื้นที่การทำงานของตัวเองจริงๆ และต่างคนก็มีสิ่งที่จะต้องจัดการตามหน้าที่ประจำวันปกติ โดยคนที่มาชมนิทรรศการสามารถแลกเปลี่ยนพูดคุยกับทีมงานของแกลเลอรีรวมถึงผู้ที่มาร่วมชมคนอื่นๆ ได้

WAREHOUSE จัดแสดงระหว่างวันที่ 8- 25 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY

bangkokcitycity.com
facebook.com/bangkokcitycity

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *