CLOUD 11

ผลงานจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ MQDC, Snøhetta สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากนอร์เวย์ และ A49 สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากไทย ที่หมายมั่นเป็น hub ฟูมฟักความคิดสร้างสรรค์ของ creator ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF CLOUD 11 EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

“creator คนไทยเก่งมาก แต่เมืองไทยยังไม่มี hub ให้ creator มารวมตัวและร่วมมือกัน ทำให้คอนเทนต์เติบโตสู่ระดับสากล”

องศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 เกริ่นให้เราฟังถึงไอเดียของโครงการ Cloud 11 ก่อนที่จะเปลี่ยนสไลด์ไปโชว์รูปอาคารโครงการอันใหญ่โต ดูเหมือนกรอบประตูบานเบ้อเริ่มที่ดึงดูดนักสร้างสรรค์และผู้คนโดยรอบให้เข้าไปใช้งาน

องศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 | Photo: Worapas Dusadeewijai

คงไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เช่น หนัง เกม ดนตรี ศิลปะ มีพลังทางเศรษฐกิจมากขนาดไหน ในปี 2020 กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีใต้ เผยรายงานออกมาว่า แค่เพลงดังทะลุโลก ‘Dynamite’ ของวง BTS เพลงเดียว ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาลถึง 1.7 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 26,000 ล้านบาท) 

ประเทศไทย เป็นประเทศที่เปี่ยมด้วยคนมากความสามารถและศักยภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เห็นได้จากบุคลากรในประเทศที่ออกไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติมากมาย แต่เนื่องจากนักสร้างสรรค์และทรัพยากรเครื่องมือต่างๆ อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย เมื่อมองในภาพรวม อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยเลยขับเคลื่อนไปได้อย่างไม่ต่อเนื่อง เป็นเหมือนกระแสลมที่เดี๋ยวแรง เดี๋ยวแผ่วเบา 

MQDC บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงผุดโครงการ Cloud 11 เพื่อเป็นแหล่งผนึกพลังสร้างสรรค์ของ creator ผ่านการสร้างแหล่งเรียนรู้ การสนับสนุนด้านเงินทุน พื้นที่ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และโอกาสต่างๆ เพื่อติดปีก creator ให้ไปได้ไกลอย่างฝัน

และที่นี่ไม่ได้วาดหวังเป็นแค่พื้นที่สำหรับ creator ในประเทศไทยเท่านั้น 

เพราะจุดหมายของ Cloud 11 คือการเป็น hub ของ creator ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย 

On Cloud 11 

นักอุตุนิยมวิทยาจำแนกก้อนเมฆบนท้องฟ้าไว้ 10 ประเภทด้วยกัน โดยใช้ตัวเลข 0 ถึง 9 บ่งบอกถึงเมฆแต่ละประเภท 0 คือเมฆที่อยู่ระดับต่ำสุด ไล่ไปจนถึง 9 ซึ่งก็คือเมฆที่อยู่ระดับสูงสุด ในภาษาอังกฤษเลยมีสำนวนว่า on cloud 9 ที่แปลว่ามีความสุขมากๆ เหมือนได้ลอยบนเมฆที่สูงสุดในท้องฟ้า

แต่โครงการ Cloud 11 มีเลข 11 ห้อยท้ายชื่อแทนที่จะเป็นเลข 9 ตามสำนวน เพราะโครงการอยากเป็นพื้นที่ให้ creator ได้มีความสุข และเติบโตได้ไกลกว่าที่เคยเป็น

Cloud 11 ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 27 ไร่ ติดกับถนนสุขุมวิทและอยู่ระหว่าง BTS ปุณณวิถีและ BTS อุดมสุข โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพลิกย่านสุขุมวิทใต้ ให้เป็นย่านนวัตกรรม 

พื้นที่ใช้สอยโครงการที่มากถึง 254,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ 7 ส่วนด้วยกันคือ

Creative Office & Studio Space พื้นที่สำนักงานและสตูดิโอเปิดทำการ 24 ชั่วโมง ที่ออกแบบมาเพื่อเหล่า creator โดยเฉพาะ ที่นี่มีระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบทำความเย็นแบบเงียบและยืดหยุ่น เอื้อให้ creator ปลดปล่อยพลังความสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ 

Hybrid Retail ศูนย์การค้าเพื่อส่งเสริมสินค้าและธุรกิจของนักสร้างสรรค์ หากนักสร้างสรรค์อยากต่อยอดทำธุรกิจก็สามารถนำสินค้ามาวางจำหน่ายได้ รวมถึงยังมีศูนย์สต็อก แพ็ก ส่งสินค้า และ cloud kitchen ที่สนับสนุนครีเอเตอร์สายอาหาร ที่อยากขายของแต่ยังไม่พร้อมลงทุนทำหน้าร้าน 

Hotel โรงแรมสองรูปแบบทั้ง Smart Hotel และ Lifestyle Hotel จากเครือโรงแรมระดับโลกที่จะเปิดตัวในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เพื่อรองรับการสร้างย่านนวัตกรรมในอนาคต 

Education ส่วนการศึกษาไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยต่างๆ สำหรับสร้างบุคลากร creator ให้แข็งแกร่ง 

Cultural พื้นที่รองรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม อย่างเช่น โรงละคร ฮอลล์จัดงานคอนเสิร์ต 

และไฮไลท์สำคัญก็คือ พื้นที่สีเขียวลอยฟ้าขนาดใหญ่ของโครงการ ที่เปิดให้คนในตึก รวมถึงสาธารณชนคนทั่วไปได้เข้ามาพักผ่อน และปะทะพลังความสร้างสรรค์ 

หัวหอกที่อยู่เบื้องหลังงานดีไซน์ของ Cloud 11 คือ Snøhetta สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมจากนอร์เวย์ ที่เคยฝากผลงานน่าสนใจเช่น Oslo Opera House หรือการปรับปรุงพื้นที่ Times Square ในเมือง New York ร่วมกับ A49 บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมเจ้าใหญ่ของเมืองไทย ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบ True Digital Park ซึ่งรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการออกแบบและวางผังงานสถาปัตยกรรม

“เรารู้สึกยินดีมากที่ได้เข้าร่วมโปรเจ็คต์นี้ เราชอบแนวคิดอันท้าทายที่จะเชื่อมต่อโลกดิจิตัลและโลกแอนาล็อกเข้าด้วยกัน รวมถึงการนำเสนอต้นแบบอาคารใหม่ๆ” Kjetil Thorsen สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งออฟฟิศ Snøhetta กล่าว

Kjetil Thorsen, architect and co-founder of Snøhetta

“โครงการนี้เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่แตกต่าง และมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่าง ซับซ้อน ผสมผสานอยู่ข้างใน ทำให้เป็นโครงการหนึ่งที่เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่ง” นิธิศ สถาปิตานนท์ สถาปนิกจาก A49 ร่วมยืนยันถึงความท้าทายของโครงการ Cloud 11

นิธิศ สถาปิตานนท์ สถาปนิกจาก A49

อาคาร Cloud 11 ได้รับการเนรมิตเป็นกลุ่มอาคารที่ยืนรายล้อมคอร์ทพื้นที่สีเขียวตรงกลาง คนที่เดินเข้าอาคารมาจาก skywalk จะประจันหน้ากับจอ LED ขนาดใหญ่และกรอบอาคารที่ดูไม่ต่างกับประตูเมืองขนาดยักษ์ ซึ่งแสนจะล่อตาล่อใจให้เดินเข้าไปค้นหาว่ามีอะไรอยู่ข้างใน 

“ช่องโล่งด้านหน้าที่เปิดออกไปสู่สวนตรงกลาง มีความกว้าง 40 กว่าเมตร อาคารด้านบนตั้งอยู่บนโครงสร้าง truss ที่พาดช่วงขนาดยาว ทำให้อาคารมีภาพเป็นเหมือนกรอบประตูขนาดใหญ่ข้างหน้า”  นิธิศ พูดถึงหน้าตาอาคารด้านหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ 

ตัวอาคารวางผังล้อมรอบสวนลอยฟ้าตรงกลาง ผลจากการวางอาคารเป็นคอร์ทคือร่มเงาที่ตกทอดลงมาที่สวน ทำให้คนสามารถใช้สวนได้อย่างสบายๆ แม้จะเป็นช่วงเวลาบ่ายที่แดดจัด ถึงอาคารจะวางล้อมสวนตรงกลาง แต่อาคารก็ไม่ได้ล้อมกรอบทึบจนอุดอู้ โดยรอบมีการเว้นช่องว่าง เพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามา และช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ไหลเวียน 

เมื่อมองในภาพรวม ภาพกลุ่มอาคารที่ถูกแบ่งเป็นก้อนๆ ก็สะท้อนความครึกครื้น และหลากหลายของกิจกรรมที่บรรจุในอาคารได้จากไกลๆ หากมองรูปลักษณ์อาคารจากรูปด้าน อาคารจะถูกแบ่งสัดส่วนออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ street level พื้นที่ส่วนฐานอาคารที่ได้แรงบันดาลใจการดีไซน์จากตึกแถว garden level พื้นที่ระดับสวน พร้อมเส้นแนวอาคารหยึกหยักรอบๆ ที่เชื่อมต่อเส้นสายจาก skywalk ด้านหน้า และสุดท้ายคือตัวอาคารด้านบนที่เรียกว่าระดับ skyline 

“เลเยอร์ที่หลากหลายของพื้นที่ใช้สอยของโครงการนี้ สะท้อนออกมาผ่านรูปทรงอาคาร ผู้คนสามารถมองเห็นได้จากหน้าตาอาคารข้างนอกเลยว่าอาคารหลังนี้เต็มไปด้วยการใช้งานที่หลากหลาย มันเหมือนกับเมืองกรุงเทพฯ ขนาดย่อ” Kjetil Thorsen เล่าถึงที่มาของหน้าตาอาคาร “และช่องว่างตามจุดต่างๆ ของตึกก็สะท้อนถึงต้นไม้เดิมที่อยู่ใน site ด้วย เพราะงานนี้ต้องออกแบบโดยไม่ตัดต้นไม้ที่มีอยู่เดิม” 

Beyond Cloud 11  

โครงการอสังหาริมทรัพย์บางโครงการอาจเน้นการสร้างพื้นที่ขายให้มากๆ เพื่อให้ได้เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำที่สุด แต่เหมือนว่า Cloud 11 จะไม่ได้เดินตามเส้นทางนั้น เพราะกลางอาคารคือพื้นที่สวนลอยฟ้าอันใหญ่โต คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมถึงยอมแลกพื้นที่ตึกไปกับสวน ?

Cloud 11 มองว่า สิ่งที่โครงการได้กลับมาจากพื้นที่ขายที่หายไป คือคนจำนวนมากที่จะเข้ามาใช้งานสวนกลางอาคาร ไม่ว่าจะเป็นคนในตึกเองหรือคนในละแวกโดยรอบ และนอกจากโครงการจะได้ประโยชน์แล้ว ชุมชนรอบข้างก็ได้พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่มาใช้งานด้วย ซึ่งพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าตรงนี้ ก็จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ อีกด้วย

“ตอนเริ่มทำโครงการ เราเดินลงไปถามคนในชุมชนรอบข้างว่าเขาต้องการอะไรบ้าง หรือเราจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ก็พบคนบ่นว่าไม่มีสวนสาธารณะดีๆ หรือไม่มีพื้นที่ออกกำลังกาย เราเลยตั้งใจสร้างสวนออกมา เพื่อให้คนมาใช้งาน” องศา จรรยาประเสริฐ เผย

นอกจากนั้น Cloud 11 ยังจับมือกับกทม. ปรับปรุงคุณภาพคลองด้านข้างโครงการ และพลิกโฉมให้กลายเป็น canal walk อำนวยความสะดวกการสัญจรของผู้คน และเชื่อมถนนสุขุมวิทด้านหน้าโครงการ กับซอยสุขุมวิท 66 ที่อยู่ข้างหลังเข้าด้วยกัน เป็นอีกผลลัพธ์ที่เกิดจากความตั้งใจของ MQDC รวมถึง Snøhetta และ A49 ที่อยากสร้างสรรค์โครงการให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและคนนอกตึก ไม่ใช่แค่คนในตึกเพียงอย่างเดียว

ในวันนี้ โครงการ Cloud 11 ก็เริ่มลงหลักปักเสาเข็มและเดินหน้าก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะพร้อมเปิดบริการในช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 หวังว่าเจ้าก้อนเมฆก้อนสูงสุดบนท้องฟ้านี้ จะหอบหิ้วความฝันของ creator และนำความสุขมาสู่ชุมชนรอบข้างได้อย่างที่ใจหวัง  

facebook.com/cloud11bangkok

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *