โครงการศาสนสถานโดย Adjaye Associates ที่เชื่อมโยงคนจากสามศาสนา ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนายิว เพื่อร้อยเรียงความแตกต่างของความเชื่อเข้าไว้ด้วยกัน
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ตามปกติศาสนสถานของแต่ละศาสนาก็จะอยู่ในอาณาบริเวณของตัวเอง ยากนักที่เราจะเห็นอาคารเช่น โบสถ์คริสต์ วัดพุทธ มัสยิดอิสลาม ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่สำหรับ Abrahamic Family House ที่นี่มีทั้งโบสถ์คริสต์ โบสถ์ยิว และมัสยิด อยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียว
ในปี 2019 มีเหตุการณ์สำคัญของศาสนาคริสต์และอิสลามเกิดขึ้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำสูงสุดของศาสนาคริสต์เสด็จเยือนประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และได้พบกับท่านแกรนด์อิหม่าม อะห์เหม็ด อัล-ดาเยบ (Ahmed el-Tayeb) ผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญ เพื่อลงนามในแถลงการณ์ว่าด้วยภราดรภาพมนุษย์ (Document of Human Fraternity) ที่ส่งเสริมให้มนุษย์จากต่างความเชื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
การลงนามครั้งนั้นทำให้เกิดโครงการต่างๆ ตามมา หนึ่งในนั้นคือ Abrahamic Family House โครงการศาสนสถานที่เชื่อมโยงคนจากสามศาสนาเข้าด้วยกัน ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนายิว ซึ่งเป็น 3 ศาสนาสำคัญในกลุ่มศาสนาอับราฮัม ที่เชื่อร่วมกันว่ามีพระเจ้าองค์เดียว และมี ‘อับราฮัม’ เป็นบุคคลหนึ่งในประวัติศาสตร์ศาสนาตน Adjaye Associates คือสตูดิโอสถาปัตยกรรมที่คว้าชัยชนะการประกวดแบบโครงการนี้ และได้เป็นสถาปนิกของโครงการ
Abrahamic Family House ตั้งอยู่ใน Saadiyat Island พื้นที่ระดับหรูและย่านวัฒนธรรมที่สำคัญของเมือง Abu Dhabi ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต โครงการมีพื้นที่กว่า 6,500 ตารางเมตร ภายในโครงการมีอาคารกล่องสี่เหลี่ยมสามหลังขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนฐานสูงหนึ่งชั้น ก้อนสี่เหลี่ยมทั้งสามคือโบสถ์คริสต์ His Holiness Francis Church โบสถ์ยิว Moses Maimon Synagogue และมัสยิด Imam Al-Tayeb
ศาสนสถานแต่ละหลังเชื่อมโยงกันด้วยฟอร์มกล่องสี่เหลี่ยมขนาด 30x30x30 เมตร และวัสดุกรุสีขาวนวลด้านนอก เช่น คอนกรีต และหินอ่อน ขณะเดียวกัน อาคารแต่ละหลังก็วางผังพื้นด้วยการหมุนองศาที่ต่างกัน รวมถึงมีหน้าตาตามแบบฉบับของตัวเอง
โบสถ์คริสต์ His Holiness Francis Church วางผังตามแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อขับเน้น ‘แสง’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาคริสต์ ด้านนอกโบสถ์เต็มไปด้วยทิวเสาเล็กๆ ที่ช่วยกรองแสงอาทิตย์อันเจิดจ้าให้กับโบสถ์
ด้านในประดับประดาด้วยแท่งไม้จำนวนมหาศาลที่ให้ความรู้สึกเหมือนสายฝนกำลังตกลงมา เป็นการออกแบบตามแนวคิด ‘สายน้ำของการชำระล้างอันปลื้มปิติ’ ที่สถาปนิกตั้งไว้ เก้าอี้นั่งจากไม้โอ๊คมีดีไซน์ที่เรียบเกลี้ยง และใช้เส้นสายที่หยอกล้อไปกับทิวเสาและแท่งไม้ด้านบน
Moses Maimon Synagogue หรือโบสถ์ยิว หันตัวไปหากรุง Jerusalem ที่ตั้งของพระวิหาร ซึ่งเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวยิว อาคารล้อมรอบด้วยเสารูปตัว V สามชั้น รูปทรงเสาได้แรงบันดาลใจจากใบปาล์ม ใน sukkah หรือเพิงที่ชาวยิวสร้างสำหรับเทศกาล Sukkot เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวยิวที่ระหกระเหินกลางทะเลทรายหลังอพยพออกจากอียิปต์
ม่านทองแดงพริ้วไหวและสยายตัวลงมาจากฝ้าภายในโบสถ์ เอฟเฟ็กต์ของแสงที่สอดส่องผ่านทิวเสาและม่านทองแดง ชวนให้นึกถึงการนั่งอยู่ใต้ใบปาล์มที่ห่อหุ้มเพิง sukkah ดีไซน์ที่สวยงามนี้ก็เป็นการอ้างอิงโครงสร้าง tabernacle หรือเต้นท์ศาสนสถานชั่วคราวที่ชาวยิวสร้างขึ้น เพื่อทำศาสนพิธีระหว่างอพยพตามตำนานด้วย
มัสยิด Imam Al-Tayeb มีหน้าตาที่ต่างออกไปด้วยซุ้มโค้งสูงชลูดด้านละ 7 ซุ้ม ที่ใช้เลข 7 ก็เพราะเลขนี้มีความสำคัญหลายอย่างในศาสนาอิสลาม เช่น เป็นจำนวนรอบที่ศาสนิกชนเดินรอบอาคาร Kaaba ของเมือง Mecca ในพิธี Hajj มัสยิดหันหน้าไปทางนคร Mecca นครศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนาอิสลาม
นอกจากซุ้มโค้งอันตระการตา แนวกำแพงก็สวยงามด้วยแผงฉลุลายกว่า 470 แผงที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก mashrabiya ระเบียงยื่นในสถาปัตยกรรมอิสลามที่กรุด้วยแผงไม้ฉลุลาย แผงฉลุมอบมิติของแสงเงาที่งดงาม และช่วยบรรเทาความร้อนแรงของแสงแดด ในมัสยิดยังมีโครงสร้างเสาตรงกลางสี่ต้น สร้างให้เกิดซุ้มโค้งเก้าอันที่ระนาบฝ้าด้านบน
อาคารหนึ่งชั้นที่เชื่อมศาสนสถานทั้งสามเข้าด้วยกัน คือพื้นที่เป็นกลางทางศาสนาที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาพบปะสังสรรค์ ข้างในมีฟังก์ชันมากมาย เช่น ห้องสมุด พื้นที่จัดนิทรรศการ ส่วนชั้นดาดฟ้าถูกแปลงโฉมเป็นสวนลอยฟ้าที่ผู้คนมานั่งพักผ่อนกันตามอัธยาศัย
หลายครั้ง การอยู่กับคนที่มีความคิดต่าง เราอาจโฟกัสไปอยู่ที่ ‘ความไม่เหมือน’ จนบางทีเกิดการทะเลาะตบตีแล้วเลยเถิดถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลก แต่ Abrahamic Family House คือโครงการที่พยายามหักล้างความคิดเหล่านั้น แล้วบอกว่า ในความแตกต่าง เรายังมีบางสิ่งบางอย่างที่ร้อยเรียงเข้าไว้ด้วยกัน และเราก็สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข