กลุ่มอาคารโรงงานสามหลังที่ Skarn Chaiyawat Architects สื่อสารผ่านการออกแบบว่า ‘คุณภาพของ space ที่ดี’ และ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ เป็นเรื่องเดียวกัน
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: DOF SKY|GROUND
(For English, press here)
‘คุณภาพชีวิต’ คือคำที่ผูกพันกับหลายอย่าง อาจเป็นสภาพอากาศ สวัสดิการ สิทธิ ค่าแรงขั้นต่ำ และบางครั้ง คุณภาพชีวิตก็เป็นสิ่งที่แปรผันตรงกับสถาปัตยกรรม และผลงาน Buono Factory ของ Skarn Chaiyawat Architects ชิ้นนี้คล้ายกับบอกกับเราว่า สถาปัตยกรรมนั้นเกิดจากการเข้าใจโครงสร้างและพื้นที่ หากแต่สถาปัตยกรรมที่ดีนั้นเกิดจากการเข้าใจผู้คน
Buono คือโรงงานที่ทำธุรกิจส่งออกอาหาร Plant-Based แบบแช่แข็ง ทั้งในรูปแบบของหวานและอาหารพร้อมทาน (Ready-to-eat Food) ที่ต้องการขยายโรงงานเพื่อรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การตอบรับกับกระบวนการผลิตเดิมโดยยังคำนึงถึงการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่พนักงานที่ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในสถานที่แห่งนี้ สถาปนิกจึงได้เริ่มต้นจำแนกหมวดหมู่ของโปรแกรมให้เหลือเพียงสามส่วนหลัก ประกอบด้วย ส่วนที่ไม่มีคนใช้งานในอาคาร C ส่วนที่มีทั้งคนใช้งานและส่วนเก็บของผสมกันในอาคาร B และส่วนที่มีคนใช้งานเป็นสำคัญในอาคาร A ซึ่งยังได้มีการออกแบบที่ว่างให้แต่ละอาคารได้ใช้ร่วมกันตามกิจกรรมและการเข้าถึง อาทิ อาคาร C และ อาคาร B ที่มี loading area ด้านหน้าร่วมกัน อาคาร B และ อาคาร A ที่มีทางเชื่อมร่วมกัน
จากด้านหน้าโครงการ เราจะพบได้กับอาคารส่วนแรกที่แทบไม่มีคนใช้งานภายในเลยอย่างอาคาร C อันมีจุดประสงค์หลักเพื่อเก็บผลิตภัณฑ์ที่เตรียมส่งออก และกำหนดให้เป็นห้องเย็นที่จำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิภายในไว้ที่ -25 องศาตลอดเวลา จึงมีการใช้ผนังฉนวนกันความร้อนสำเร็จรูป (ผนัง ISOWALL) ในส่วน façade ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ หากจะให้ผนัง ISOWALL กักเก็บความเย็นได้ดีที่สุด ผนังทุกด้านต้องปิดสนิทเป็นกล่องที่ไม่มีอะไรทะลุผ่าน จึงจำเป็นต้องมีการดึงโครงสร้างออกมาไว้ภายนอกแทน
ส่วนต่อมาคืออาคาร B ที่พอมีคนใช้งานบ้าง ด้วยฟังก์ชันหลักๆ ที่ประกอบด้วยส่วนออฟฟิส ห้องแล็ป ส่วนบรรจุภัณฑ์ ด้วยพื้นที่นี้ที่มีกิจกรรมค่อนข้างหลากหลายและอาจมีการปรับเปลี่ยนในอนาคต สถาปนิกจึงได้ใช้วัสดุหลักเป็น แผ่นเมทัลชีทที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือรื้อถอนได้ไม่ยากนักในอนาคต
ก่อนจะไปดูส่วนอาคาร A หากเราถอยมาดูภาพรวมของอาคารทั้งสามหลัง เราจะพบว่าอาคารทั้งสามนั้นมีการใช้โครงสร้างรูปแบบไหล่ใหญ่ หรือ portal frame เหล็กเป็นโครงสร้างหลัก ทำให้ รูปทรงของอาคารมีหน้าตาคล้ายคลึงกันเมื่อมองจากระยะไกล ด้วยเหตุเพราะพื้นที่โครงการที่มากกว่า 5,000 ตารางเมตรนี้ งานออกแบบจึงจำเป็นต้องหาระบบบางอย่างที่สามารถปรับใช้ได้กับทั้งโครงการเพื่อให้ง่ายต่อการก่อสร้าง ทั้งยังสามารถพาดช่วงกว้างเพื่อให้พื้นที่เบื้องล่างยืดหยุ่นพอที่จะตอบโจทย์การใช้งานในแบบต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน
“เราเชื่อว่า ถ้าเราทำคุณภาพของ space ให้ดีไปเลย รวมถึงสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น มันจะสามารถปรับใช้กับกิจกรรมภายใต้พื้นที่นั้นๆ ได้ทั้งหมด จะเป็นออฟฟิศ ห้องแล็ป หรือแม้แต่จะเป็นโรงอาหารก็ตาม เราเลยเลือกใช้โครงสร้างพาดช่วงกว้างที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานทั้งหมดในโครงการได้ ด้วยความยืดหยุ่นในการแบ่งพื้นที่ใช้งาน รวมถึงยังก่อให้เกิดพื้นที่โปร่งโล่ง อยู่สบายให้กับผู้คนได้อีกด้วยเราเลยออกแบบโครงสร้างและดีเทลของ portal frame ที่สามารถปรับใช้เข้ากับทั้งสามอาคารได้เลย” สการ จัยวัฒน์ กล่าว
และสุดท้ายคืออาคาร A อันเป็นเหมือนหัวใจของ Buono Factory แห่งนี้ที่ประกอบด้วยฟังก์ชันหลักคือห้องประชุมในชั้นสอง และมีชั้นหนึ่งคือพื้นที่โรงอาหารและพื้นที่เอนกประสงค์ให้พนักงานทุกคนได้ใช้นอกเหนือเวลาการทำงาน ปัจจัยหลักของพื้นที่นี้จึงเป็นการมอบ ‘ภาวะน่าสบาย’ ให้กับผู้ใช้งาน สถาปนิกเริ่มต้นจากการใช้ façade เป็นแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปชนิด hollow core ผิว polished rib ที่สามารถกันความร้อนได้จากช่องอากาศในวัสดุ โดยมีการเจาะช่องเปิดในส่วนด้านล่างอาคารเป็นระยะๆ ให้ลมถ่ายเท อีกทั้งด้วยการวางผังในแนวขนานกับทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่ทำให้อาคารไม่โดนแดดในด้านสกัด ซึ่งบนด้านสกัดนี้ได้รับการออกแบบเป็นกระจกบานเกล็ดติดตายผิวส้มที่สามารถสามารถระบายความร้อนทั้งยังรับแสง indirect light ได้ตลอดทั้งวัน ประกอบกับระยะจากพื้นถึงฝ้าที่มีความสูงถึง 10 เมตร ทำให้ความร้อนนั้นไหลเวียนอยู่ด้านบน ส่งผลให้ด้านล่างนั้นมีบรรยากาศเย็นสบายตลอดเวลา
ทั้งนี้ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ในความหมายของสถาปนิกยังควบรวมถึงความงามภายในสถาปัตยกรรมและการตอบรับกับสิ่งที่พนักงานแต่ละคนใช้งานจริงๆ เกิดเป็นดีเทลที่แอบซ่อนอยู่ในส่วนต่างๆ อาทิ การตีฝ้าที่เว้นส่วนโครงสร้าง portal frame เอาไว้เพื่อให้แสงลอดผ่านโครงสร้างเข้ามาในพื้นที่ เก้าอี้ที่ออกแบบให้ไร้เหลี่ยมมุมที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถนั่งได้สบายขึ้น กระถางต้นไม้ภายในอาคารที่ติดล้อเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับพื้นที่ และสวนหย่อมระหว่างตึกที่พนักงานสามารถพักผ่อนหย่อนใจได้ ที่สำคัญ โรงอาหารแห่งนี้ยังตั้งอยู่ติดกับพื้นที่สวนด้านนอกที่เดิมทีเป็นบ่อพักน้ำของโครงการ ซึ่งสวนนี้ก็มีลักษณะเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่อันล้อมรอบไปด้วยไม้ริมน้ำพืชนานาพรรณแทนเพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศร่มรื่นให้กับบริบทของความเป็นโรงงาน รวมถึงเป็นพื้นที่ที่พนักงานสามารถขอรับไอติมที่เป็นสวัสดิการของโรงงานมานั่งทานเล่นพร้อมทั้งรับชมทิวทัศน์ของสวนที่อยู่ด้านนอกนั้นได้อย่างสบายใจ
เหนือสิ่งอื่นใด Buono Factory ก็ได้ชี้ให้เราเห็นถึงการทำธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ลืมว่าพนักงานทุกคนนั้นไม่ใช่เครื่องจักร หากแต่คือผู้คน คือมนุษย์ที่มีจิตใจ เป็นผู้ทำงานที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่าน space ต่างๆ ที่ Skarn Chaiyawat Architects ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นสำคัญ ในมุมของผู้ประกอบการเอง การลงทุนในตัวสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงานนั้นสุดท้ายก็ได้ส่งผลย้อนกลับมาให้พนักงานเหล่านั้นสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและสร้างงานที่ดีกลับมาแก่ตัวธุรกิจเอง และชวนให้เราคิดถึงความหมายของการลงทุนที่ยั่งยืน ที่บางครั้งก็หมายถึงการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับชีวิตที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลกำไร