RE-IMAGINING THAI SOCIAL SPACE: CITY FESTIVAL AS DESIGN INTERVENTION BY MQDC

Photo courtesy of MQDC

เปิดไอเดียจากสองทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่ได้รางวัลชนะเลิศในงานประกวดแบบ RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention โดย MQDC

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

ถ้าพูดถึงสยามสแควร์ ก็จะนึกถึงดนตรีเปิดหมวก ถ้าพูดถึงย่านเจริญกรุง ก็จะนึกถึงงาน Bangkok Design Week ถ้าพูดถึงสวนลุมพินี ก็จะนึกถึงงานกาชาด หรืองานดนตรีในสวน 

ถึงงานเทศกาลหรืออีเวนท์ต่างๆ จะจัดขึ้นในช่วงระยะเวลาจำกัด แต่งานเหล่านี้คือตัวการที่ช่วยรวบรวมผู้คนมากหน้าหลายตาเข้าด้วยกัน ทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวา สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างเอกลักษณ์ให้กับย่าน เรียกได้ว่าว่างานเทศกาลเป็นอีกตัวแปรในการสร้างเมืองที่น่าอยู่ 

หลังจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ MQDC ประสบความสำเร็จไปกับการเฟ้นหาไอเดียพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ในงานประกวดแบบ ‘Uniquely Thai : Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center’ MQDC ก็กลับมาอีกรอบ กับ ‘RE-imagining Thai Social Space : City Festival as Design Intervention’ งานประกวดแบบที่ชวนนักออกแบบรุ่นใหม่มาปล่อยไอเดีย ออกแบบงานเทศกาลและพื้นที่สาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งในปีนี้ได้จัดการประกวดและได้ผู้ชนะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Photo: Don Amatayakul

“ถ้าเราไปดูการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ หรือ best city to visit เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะคุณภาพดีจะเป็นเมืองที่ได้อันดับสูง กรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ในไทย จะได้อันดับที่ไม่ค่อยดี เราอยู่ได้ ทำงานได้ เราเป็นเมืองน่าเที่ยว แต่เราไม่มีพื้นที่ให้พักผ่อนเท่าไหร่ เราก็เลยทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนาเมือง” ดร. การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน เล่าถึงที่มาของโครงการประกวดแบบ

ดร. การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ | Photo: Don Amatayakul

“เราเห็นหลักฐานจากทั่วโลกว่า festival มีพลังในการรวมคนเข้ามาด้วยกัน” ไชยยง รัตนอังกูร หัวหน้าคณะที่ปรึกษา Creative Lab ของ MQDC ในฐานะผู้จัดทำการประกวดแบบ และคณะกรรมการตัดสิน เสริมว่าทำไม ‘การออกแบบเทศกาล’ ถึงกลายมาเป็นโจทย์การประกวดแบบครั้งนี้ “มันมีส่วนช่วยให้คนในชุมชนเกิดปฏิสัมพันธ์กัน สร้างให้เกิดความเหนียวแน่นในชุมชน หรือในย่าน ในฐานะ developer เราก็ไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยว เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย แต่ระยะหลังนี้ มันมีทัศนคติใหม่ๆ culture ใหม่ๆ เกิดขึ้น เราเลยจัดงานประกวดแบบครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ว่าเราควรมี festival หรือ interaction กับสังคมอย่างไร”

ไชยยง รัตนอังกูร หัวหน้าคณะที่ปรึกษา Creative Lab ของ MQDC | Photo: Don Amatayakul

โจทย์ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องตีให้แตก คือการคิดรูปแบบกิจกรรมหรือเทศกาลชั่วคราว พร้อมดีไซน์สภาพแวดล้อมหรือสถาปัตยกรรมภายในงาน ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกพื้นที่จัดกิจกรรมให้อยู่ในลานโล่งหน้าอาคารของย่านสุขุมวิทใต้ ตามที่โครงการกำหนดไว้ หรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะเมืองในจังหวัดต่างๆ 

“เราให้โจทย์เป็นย่านสุขุมวิทใต้ เพราะย่านนี้ยังไม่มีกิจกรรมอะไรโดดเด่น ในอนาคตย่านจะได้รับการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรม เราเลยอยากฟังคนรุ่นใหม่ว่า เราจะสร้าง festival อะไรให้เป็นจุดเด่นของย่าน และ festival นั้น ต้องช่วยพัฒนาย่านกับชุมชนควบคู่กันไปด้วย” ไชยยง รัตนอังกูร เล่า

Photo: Don Amatayakul

“แต่สำหรับผู้เข้าแข่งขันต่างจังหวัดที่ไม่สะดวกมากรุงเทพฯ เราก็เปิดโอกาสให้เขาเสนอเทศกาลในพื้นที่ของตัวเอง แล้วทดลองดูว่าเขาจะพัฒนาพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ได้อย่างไร” 

จากผลงานกว่าหลายร้อยชิ้นที่ส่งเข้ามาทั้งประเภทนิสิต/นักศึกษา และบุคคลทั่วไป คณะกรรมการทำการคัดสรรอย่างเข้มข้นจนได้ผลงานชนะเลิศ (Gold) สองผลงาน 

ปลุกชีวิตและพลังความสร้างสรรค์ของย่าน ด้วย ลานละคร 

Photo: Don Amatayakul

รางวัลชนะเลิศประเภทนิสิต/นักศึกษา ตกเป็นของทีม ลานละคร โดย ชยพล สิทธิกรวรกุล, จิรายุส วงศ์เจริญสถิตย์, วศิน เซี่ยงจันทร์ และปภัสสร นพไพบูลย์รัตน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ทีมลานละคร เปลี่ยนลานบริเวณโรงเรียนวัดธรรมมงคล ให้กลายเป็นลานแสดงละคร ที่เปิดให้ศิลปิน ดารา หรือ influencer ชื่อดัง ปลดปล่อยไอเดียเรื่องเล่าและฝีมือการแสดง พร้อมกระทบไหล่กับคนในชุมชนและคนที่แวะเวียนงาน เป็นการปลุกความคิดสร้างสรรค์ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ไปในตัว 

Photo courtesy of MQDC

พื้นที่ลานละครได้รับการออกแบบเป็นสองส่วนใหญ่ ส่วนแรกคือโซนลงทะเบียนและโซนต้อนรับที่ผู้เข้างานสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับโปรเจ็คต์ ‘ลานละคร’ ได้ผ่านนิทรรศการเล็กๆ ส่วนที่สอง คือส่วนจัดพื้นที่กิจกรรมหลัก ที่มีตั้งแต่ร้านอาหารร้านค้า จอสำหรับฉายหนังกลางแปลงหรือถ่ายทอดการแสดงที่กำลังเกิดขึ้น และที่ขาดไม่ได้คือพื้นที่การแสดง แต่การแสดงที่นี่ ไม่ได้เกิดขึ้นบนเวทีเหมือนในโรงละคร เพราะการแสดงจะแทรกซึมแนบเนียนไปในส่วนต่างๆ ทำให้คนดูมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงได้อย่างใกล้ชิด 

Photo courtesy of MQDC

องค์ประกอบการตกแต่งในพื้นที่ ได้แรงบันดาลใจจากข้าวของแบบไทยๆ ที่พบเจอได้ตามท้องถนนและชีวิตประจำวัน เช่น เก้าอี้พลาสติก โต๊ะเหล็ก ร่ม ยกระดับสิ่งของดาษดื่น ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ และการแสดง

Photo: Don Amatayakul

ทีมลานละคร ไม่ได้มองว่าละครจะจบลงอยู่ในลานเท่านั้น แต่มันยังกลายเป็นคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ยอดไอเดียความสร้างสรรค์ของศิลปิน ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างได้ด้วย คิดรอบด้านครบถ้วนอย่างนี้ ก็ไม่แปลกใจที่คณะกรรมการจะยกรางวัลให้กับทีมลานละคร 

สร้างโอกาสให้ย่านผ่านอาหาร กับ อ้อ มา กะ เสะ

Photo courtesy of MQDC

สำหรับประเภทบุคคลทั่วไป ทีมที่คณะกรรมการชอบใจและพร้อมมอบรางวัลชนะเลิศให้ คือทีม อ้อ มา กา เสะ จากศักดิธัช พิทักษ์กชกร, สิตานัน ธีรเจริญชัย, ธรรม์ดา ฤกษ์ไพศาล และภัทรชนน วรานุกูลศักดิ์

ทีมอ้อ มา กา เสะ ออกแบบเทศกาลอาหารที่พลิกจุดด้อยของย่านพระโขนง ให้กลายเป็นโอกาส จากการวิเคราะห์ย่านพระโขนง ทีม อ้อ มา กะ เสะ พบว่าย่านนี้มีปัญหาใหญ่ๆ สี่เรื่องด้วยกัน คือ ซอยตันที่ลึก และระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงยาก ทำให้ร้านค้ารายย่อยที่อยู่ในซอยไม่เป็นที่รับรู้ อีกสองอย่างคือพื้นที่สาธารณะที่น้อย เข้าถึงยาก และคลองมากมายที่ถูกปล่องทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 

Photo courtesy of MQDC

ขณะเดียวกัน ในอนาคตย่านนี้ก็กำลังกลายเป็นย่านนวัตกรรม และมีโครงการ Cloud 11 ที่วางตัวเป็นพื้นที่พบปะแห่งใหม่ในย่านพระโขนง ทีม อ้อ มา กะ เสะ นำวัตถุดิบข้อมูลอันล้ำค่า มาคลุกเคล้าจนกลายเป็นโครงการ อ้อ มา กา เสะ หรือเทศกาลอาหารริมคลองบางอ้อ ที่เชื่อมโยงคนในย่านและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้คนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ประกอบรายย่อย ผ่าน ‘ของกิน’

Photo courtesy of MQDC

อ้อ มา กะ เสะ จัดที่ริมคลองบางอ้อ ในโครงการ Cloud 11 เทศกาลเปิดโอกาสให้พี่วินมอเตอร์ไซค์ เป็นคนเสนอร้านอาหารที่มาเข้าร่วม เพราะไม่มีใครแล้วจะรู้ดีเท่าพี่วินที่ไปมาทั่วทุกซอกทุกซอย ร้านค้าที่เข้ามาอาจเป็นร้านค้ารายย่อยที่เคยอยู่ในซอยลึก เมื่อได้มาตั้งร้านที่ริมคลอง Cloud 11 ร้านก็กลายเป็นที่รู้จัก และมีแฟนๆ ไปติดตามลิ้มลองอาหารมากขึ้น โครงการยังมีการเปิดโหวตร้านค้าร้านเด็ด ร้านที่ได้รับเลือกก็จะรับป้ายการันตี และพี่วินที่แนะนำร้านก็ได้รางวัลตามไปด้วย

ทีมถอดแรงบันดาลใจจากตึกแถวของย่านพระโขนง ให้กลายเป็นบูธ 4 แบบในงานด้วยกัน ได้แก่ โต๊ะแถว บ้านแถว สำหรับรับประทานอาหาร บ้านขายกับข้าว และศาลาคอนโด เพื่อเป็น landmark หรือจุด check-in ในช่วงที่ไม่ได้จัดเทศกาล องค์ประกอบเหล่านี้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นซุ้มนั่งเล่น เป็นซุ้มพักผ่อนของพี่วินมอเตอร์ไซค์ หรือเป็นที่พักรอรถวินของผู้โดยสารได้เหมือนกัน 

ก้าวต่อไปของงานประกวดแบบ

โครงการประกวดแบบไม่ได้จบอยู่แค่การหาผู้ชนะ เพราะขั้นต่อมา เจ้าของไซต์ที่กำหนดในการประกวด ก็จะมาดูไอเดียของผู้ชนะ รวมถึงไอเดียอื่นๆ ที่ร่วมส่งประกวด เพื่อเป็นหัวเชื้อในการพัฒนาโครงการตัวเองในอนาคตด้วย “ตอนที่ผู้อำนวยการเขตพระโขนงรู้ว่าเราจะเริ่มโครงการประกวดแบบ เขาตื่นเต้นมากว่าย่านนี้ควรจัดงานอะไรดี เราเลยอยากชวนเขาและเจ้าของไซต์ในการประกวดคนอื่นๆ มาดูไอเดียด้วย เผื่อเขาจะมุมมองอะไรกลับไปพัฒนา” ไชยยง รัตนอังกูร เผย

Photo: Don Amatayakul

และในปีต่อๆ ไป MQDC ยังคงมุ่งหน้าจัดการประกวดแบบเหมือนเคย ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ เมือง ชุมชน แต่จะเป็นหัวข้ออะไรนั้น ต้องคอยติดตามกันให้ดีๆ 

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) | Photo: Don Amatayakul

“เราวางแผนจัดประกวดแบบในปีต่อไป แต่เป็นโจทย์ใหม่ เราคิดโจทย์ดูว่าอะไรน่าจะเป็นสิ่งใหม่ที่เปิดประสบการณ์ให้เด็กเข้าร่วมประกวด แต่โจทย์ก็จะเกี่ยวกับเมือง ชุมชน สังคมโดยรวม” รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และคณะกรรมการตัดสินประกวดแบบ พูดทิ้งท้าย  

facebook.com/MQDCDesignCompetition

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *