หนังสือที่สำรวจสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในสิงคโปร์ ตั้งแต่ช่วงปี 1930s ถึง 1980s และพาเราไปค้นพบว่า พวกมันมีส่วนก่อร่างสร้างประเทศ และมีบทบาทต่อชีวิตคนสิงคโปร์อย่างไรบ้าง
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
Jiat-Hwee Chang, Justin Zhuang and Darren Soh
National University of Singapore Press, 2023
7 x 1.1 x 10.75 inches
Paperback 376 pages
ISBN 978-981-325-187-8
แม้ในเชิงกายภาพ สิงคโปร์จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ปลายแหลมมลายู แต่ในเชิงเศรษฐกิจ สิงคโปร์กลับเป็นประเทศที่ผงาดอยู่ในแถวหน้าของเวทีโลก ในรายงาน World Competitiveness Ranking ปี 2022 โดย International Institute for Management Development (IMD) ที่วัดศักยภาพการแข่งขันของ 63 ประเทศทั่วโลก สิงคโปร์คว้าอันดับที่สูงถึงอันดับ 3 เลยทีเดียว
กว่าจะปีกกล้าขาแข็งได้อย่างทุกวันนี้ สิงค์โปร์ใช้กลไกสำคัญมากมายในการพัฒนาชาติ หนึ่งในนั้นคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาคารพักอาศัย โรงเรียน ห้องสมุด ถนน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1960s ถึง 1970s ที่สิงคโปร์พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างมากมาย รวดเร็ว และส่วนใหญ่ ก็ถูกสร้างตามรูปแบบ Modernism ซึ่งเผยแพร่เข้ามาสิงคโปร์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20
‘Everyday Modernism: Architecture and Society in Singapore’ เป็นหนังสือที่เข้าไปสำรวจสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในสิงคโปร์ ตั้งแต่ช่วงปี 1930s ถึง 1980s โดยเน้นหนักไปที่สิ่งปลูกสร้างแบบ Modernism เพื่อพาเราไปค้นพบว่า พวกมันมีส่วนก่อร่างสร้างประเทศ และมีบทบาทต่อชีวิตคนสิงคโปร์อย่างไรบ้าง
ในหนังสือประกอบด้วยบทความทั้งหมด 33 ชิ้น ที่หยิบเอาอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มาล้วงแคะแกะเกาให้เห็นประวัติศาสตร์ และเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้น นักเขียนทั้งสองของหนังสือ Jiat-Hwee Chang และ Justin Zhuang ไม่ได้หยิบยกเพียงแค่อาคารระดับไอคอน เช่น Pearl Bank Apartment มาพูดถึง เพราะสิ่งปลูกสร้างธรรมดาสามัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน เช่น สะพานลอยข้ามถนน สนามเด็กเล่น อาคารจอดรถ สุสาน หรือสิ่งปลูกสร้างที่สุดจะเฉพาะตัว เช่น โรงหนังที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นโบสถ์คริสต์ ก็ได้รับการพูดถึงเช่นกัน
แต่ละบทความพาเราไปเข้าใจว่า สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้มีที่มาและจุดเริ่มต้นอย่างไร รวมถึงสอดส่องว่า มันมีดราม่าหรือผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น บทความ ‘Pearl Bank Apartment: How Can We Maintain The High Life?’ ที่บอกเล่าที่มาของ Pearl Bank Apartment อาคารอพาร์ตเมนต์ที่เคยสูงที่สุดใน Southeast Asia ซึ่งเกิดตามนโยบายสร้างที่อยู่อาศัย รองรับประชากรสิงคโปร์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ที่ดินประเทศมีแสนจะจำกัด
บทความยังฉายภาพความท้าทายในการดูแลรักษา Pearl Bank Apartment และการขับเคี่ยวระหว่างกลุ่มคนที่จะอนุรักษ์อาคารไว้ กับกลุ่มคนที่เห็นด้วยให้ทุบอาคารทิ้ง เพื่อหลีกทางให้การพัฒนาใหม่ สุดท้ายอาคารก็พบกับจุดจบคือการทุบทิ้งในปี 2020 ที่ผ่านมา การเรียบเรียงงานเขียนที่พูดถึงสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เกิดขึ้น ไปจนถึงชะตากรรมที่เผชิญต่อมา ทำให้สิ่งปลูกสร้างทั้งหลายในหนังสือดูมีชีวิต มีลมหายใจ ไม่ได้เป็นแค่ก้อนอิฐก้อนปูนที่อยู่อย่างนิ่งงัน
นอกเหนือจากบทความเนื้อหาแน่นๆ ในหนังสือแล้ว คนอ่านจะได้อิ่มเอมกับภาพถ่ายสวยๆ จาก Darren Soh ที่ครอบคลุมตั้งแต่อาคารหลังใหญ่ ไปจนถึงเครื่องเล่นเล็กๆ ในสนามเด็กเล่น รวมถึงภาพถ่ายและ drawing เก่าที่ทำให้เราเห็นวัฏจักรของสิ่งปลูกสร้างในเล่มอย่างชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นอาคารจอดรถ ทางด่วน ศูนย์อาหาร มัสยิด ห้าง หรือโรงแรม หนังสือเล่มนี้บอกว่าอาคารทั้งหมดนี้ต่างมีความสำคัญ และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นดีที่บอกเล่าพัฒนาการของประเทศเล็กๆ ที่ชื่อสิงคโปร์ ที่สำคัญคือ หนังสือยังทำให้เห็นว่าสิ่งปลูกสร้าง Modernism ในสิงคโปร์ ไม่ได้เป็นแค่สิ่งปลูกสร้างหน้าตาเท่ห์ๆ ที่สร้างไว้ให้ช่างกล้องถ่ายภาพเก็บ แต่มันคือสิ่งปลูกสร้างที่คนเข้าไปกิน ไปอยู่ ไปใช้ชีวิต และเอื้อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นตามมา